ถึง พี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม

ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังมากว่าสิบปี วันนี้แกนนำก่อการได้เปิดหน้า เผยตัวชัดเจนแล้วว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายแนวคิดสาธารณรัฐนิยม
เป้าหมายปลายทางของพวกเขาคือมุ่งก่อการปฏิวัติมวลชน เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่ระบอบสาธารณรัฐอย่างเต็มรูปแบบ
ข้อเรียกร้องต่างๆที่มีมากมายจนเวียนหัว ทั้งให้นายกรัฐมนตรีลาออก ล้มรัฐธรรมนูญ รื้อหมวดพระมหากษัตริย์ เขียนกติกาใหม่ ปิดสวิตซ์ ส.ว. ฉีกทิ้งยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นทาง “ยุทธวิธี” ที่มุ่งไปสู่ชัยชนะเท่านั้น
ถ้าพวกเขาทำได้สำเร็จก็จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นการสานต่อภารกิจการปฏิวัติ 2475 ตามที่เขาเชื่อและใช้อ้างอิงมาโดยตลอด แต่ถ้าพ่ายแพ้จะกลายเป็น “กบฏต่อแผ่นดิน” และมีโทษอาญาร้ายแรงรออยู่เช่นกัน
ขบวนการล้มเจ้าใช้วิธีผลิตข้อมูลเท็จ ปั่นกระแสข่าวปลอมผ่านสื่อโซเชียล สู่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจนถึงขั้นเสพติดและคุ้มคลั่ง นอกจากนั้นยังถูกล่อหลอก ใช้ให้เป็นกองหน้ากล้าตายและเป็นกึ่งตัวประกัน เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สามารถจัดการปัญหาได้โดยง่าย
อีกยุทธวิธีหนึ่งคือการโจมตี ให้ร้าย จาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำและกิริยาที่หยาบคาย เพื่อท้าทายเจ้าหน้าที่ให้เข้าปราบปราม ยั่วยุให้ประชาชนฝ่ายจงรักภักดีอดรนทนไม่ได้และเป็นฝ่ายใช้กำลังก่อน เพื่อนำไปสู่ความชอบธรรมในการก่อนจราจล จนรัฐบาลควบคุมไม่ได้และกระเด็นออกไป
โชคดีที่คนไทยมีประสบการณ์กับการชุมนุมทางการเมืองและเคยรับมือกับเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้งหลายเงื่อนไข จึงรู้เท่าทัน ดังเห็นได้จากการรวมตัวของกลุ่ม “พลังเงียบ” ผู้รักชาติรักสถาบันทุกจังหวัด อำเภอและหน่วยงานในทุกหย่อมหญ้า ที่พากันออกมาสวมเสื้อเหลืองแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์อย่างสร้างสรรค์ จนกลบกลืนกระแสของขบวนการล้มเจ้าจนเกือบหมดสิ้น
สิ่งที่พี่น้องประชาชนผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทุกหมู่เหล่ายังต้องระมัดระวังอย่างที่สุด คือความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุของผู้ก่อการ ระมัดระวังอันตรายจากม็อบที่คุ้มคลั่ง หลี่กเลี่ยงความรุนแรงทุกวิถีทาง อย่าปะทุอารมณ์ อย่ามุ่งใช้ม็อบไปชนม็อบ ไม่พกพาอาวุธหรือวัตถุอันตราย ต้องมีสติข่มใจอยู่ตลอดเวลา
ส่วนการเผชิญหน้ากับม็อบผู้เห็นต่างที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ. เมื่อมีกำลังน้อยกว่า ควรใช้วิธี “ตั้งมั่น เว้นระยะห่าง”. เมื่อมีกำลังมากพอกัน อาจใช้วิธี “สร้างปฏิสัมพันธ์” ต่อกันในเชิงบวก แต่ถ้ามีกำลังคนมากกว่า วิธีการ “ซึมแทรกและกลบกลืน” ก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป, 17 พฤศจิกายน 2563.