ถึงพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม.

ในที่สุด เหตุการณ์ชุมนุมของม็อบกลุ่มราษฎร ระหว่าง 17-18 พฤศจิกายน ที่บริเวณหน้ารัฐสภาและย่านราชประสงค์ ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์ เป้าหมายและธาตุแท้ของพวกเขาออกมาอย่างล่อนจ้อน ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดจราจล ท้าทายประสิทธิภาพการบริหารประเทศของรัฐบาล มุ่งโจมตีสถาบันหลักของชาติ เหยียบย่ำหลักกฎหมายและค่านิยมอันดีงามของสังคมในทุกเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “ยุทธวิธี” ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ยิ่งเมื่อมีกลุ่มนักเรียนตัวน้อยและพลเมืองจิตอาสาออกมาช่วยกันเช็ดถูทำความสะอาดกำแพงและถนนหนทางในวันรุ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้เห็นเปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่า ระหว่างพลังแห่งการทำลายล้างและพลังแห่งการสร้างสรรค์ เราควรฝากชะตาชีวิตและอนาคตของประเทศให้อยู่บนบ่าของพลังเยาวชนแบบไหน
เราได้เห็นข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ออกแบบไว้ไม่ให้แก้ไขกันได้ง่ายๆ ตามอำเภอใจของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก ถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆ และสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน
นอกจากนั้นยังเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นไปด้วยดุลพินิจอิสระ หลากหลายมุมมองแต่มีจุดยืนเพื่อบ้านเมือง ไม่อยู่ภายใต้สัญญาณสั่งการของใคร ไม่หวั่นไหวต่อคำข่มขู่คุกคามทั้งในและนอกสภา สมสถานะของสภาผู้ทรงคุณวุฒิ.
ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติและสังคมไทยบอบช้ำจากพฤติการณ์และน้ำมือของนักการเมืองน้ำเน่าและระบบการเมืองแบบเก่ามามากเกินไปแล้ว การพัฒนาประเทศมีอันต้องสะดุดและเกิดชะงักงันเป็นช่วงๆ จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น ”สองทศวรรษที่สูญหาย” ติดกับดัก ไม่สามารถยกระดับให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีรายได้สูง ในขณะที่เพื่อนบ้านพากันวิ่งแซงหน้า
ปัญหาแกนกลางของเรื่องนี้อยู่ที่ “สภาวะการแตกสามัคคีของคนในชาติ” อันเป็นผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ของวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า ระบบการเมืองแบบตัวแทนที่มุ่งต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องกันแบบทำลายล้าง
วิถีการเมืองแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ในโครงสร้างการเมืองระดับชาติ แพร่เชื้อลุกลามไปถึงการเมืองระดับท้องถิ่นบางแห่ง (อบจ. อบต. เทศบาล) รวมทั้งระดับชุมชนบางพื้นที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) วิถีการเมืองแบบเก่าเช่นนี้ ไปถึงไหนสังคมก็แตกแยกร้าวลึกไปถึงที่นั้น ไม่เว้นแม้ในชุมชน ในองค์กร และในครอบครัว
เรื่องแบบนี้ รัฐบาลและข้าราชการคงจะแก้ไขอะไรไม่ได้มากนัก เพราะรัฐบาลเองเป็นคู่ขัดแย้ง นักการเมืองผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาใช้อำนาจรัฐ ส่วนข้าราชการต้องตอบสนองต่อทุกฝ่ายที่ขึ้นมาบริหาร จึงมีแต่พวกเราคนเล็กคนน้อยและพลังทางสังคมที่กว้างใหญ่ไพศาลนี่แหละ ที่จะสามารถทำเรื่องสำคัญเช่นนี้ได้
เพื่อหยุดยั้งความแตกแยก ฟื้นฟูความรักสามัคคี
1. หลีกเลี่ยงการนำความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างมาพูดคุยในครอบครัวและชุมชน
2. ปกป้องลูกหลานจากกระแสเฟคนิวส์การเมือง (ข่าวปลอม) เฮทสปีช (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) และการบูลลี่ (ข่มขู่คุกคามทางวาจา)
3. เฝ้าระวังป้องกัน ไม่นำเอาการเมืองวิถีเก่าเข้ามาใช้ในกระบวนการประชาธิปไตยท้องถิ่นทุกระดับ ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล กล้าคว่ำบาตรและไม่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครนักการเมืองน้ำเน่า หรือพวกเชื่อมโยงกลุ่มล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ
4. ส่งเสริมบทบาท กิจกรรมที่สร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนคนดี กลุ่มจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูความรักสามัคคีของคนในชุมชนท้องถิ่น สถาบันและเครือข่ายทางสังคมต่างๆ
5. เสริมสร้างสปิริตความเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ขอโทษ และรู้จักการอดทนรอคอย เสริมสร้างสังคมรู้รักสามัคคี ในทุกระดับ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, 21 พฤศจิกายน 2563.