ถึงพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม

ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ทั้งฉบับปี 2540 2550 และ 2560 ได้ให้ความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตยที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบอย่างได้สมดุล
ได้แก่ ประชาธิปไตยชุมชนหรือประชาธิปไตยทางตรงในระดับฐานล่าง. ประชาธิปไตยท้องถิ่น เป็นรูปธรรมที่สุดของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม อยู่ระหว่างกลาง การเมืองระดับชาติ เป็นประชาธิปไตยในระบบตัวแทนที่อยู่ส่วนบนสุด.
แต่ในทางปฏิบัติ คนทั่วไปในสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการและทุกภาคส่วน ยังคงมุ่งให้ความสนใจต่อการเมืองระดับชาติเท่านั้น เพราะมันเต็มไปด้วยสีสัน น่าตื่นเต้น มีอำนาจ ผลประโยชน์ และการต่อสู้แย่งชิง.
ในขณะที่ประชาธิปไตยท้องถิ่นถูกละเลย ขาดการส่งเสริมพัฒนาอย่างมีทิศทาง จึงลอกเลียนแบบนักการเมืองระดับชาติ แทนที่จะเป็นระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ก็กลายเป็นการเมืองแบบเก่าที่มุ่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ทำตัวเป็นฐานเสียงให้กับการเมืองระดับชาติ.
ส่วนประชาธิปไตยชุมชนนั้นไม่ต้องพูดถึง ต้องดิ้นรนกันไปด้วยตัวเอง แต่ยังนับว่าโชคดีที่แนวคิดชุมชนเข้มแข็ง และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ช่วยให้ประชาธิปไตยทางตรงในระดับฐานรากได้เติบโตอย่างช้าๆ แต่ทว่ามีความมั่นคง.
เพื่อสร้างการเมืองใหม่ ประชาธิปไตยท้องถิ่น
1) หยุดแตกแยกทางการเมือง
ในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้และรักประเทศชาติ ในด้านหนึ่งต้องรู้เท่าทันนักการเมืองวิถีเก่าและระบบการเมืองแบบตัวแทน ควรช่วยกันเฝ้าระวัง-ป้องกันทุกวิถีทาง มิให้ภัยจากการเมืองแบบเก่าเข้ามาทำให้ครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่นของเราแตกความสามัคคี จากความคิดเห็นและจิตนาการทางการเมืองที่แตกต่าง.
2) สร้างประชาธิปไตยในชีวิตจริง
ครอบครัวและองค์กรชุมชนท้องถิ่น เป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม เป็นฐานล่างที่รองรับระบบการเมืองการปกครองและการพัฒนาประเทศในทุกระดับ. ผู้นำครอบครัวและผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องช่วยกันเสริมสร้างวิถี “ประชาธิปไตยทางตรง” และ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ร่วมจัดการปัญหาด้วยการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง เป็นประชาธิปไตยที่กินได้.
3) รักสามัคคี เป็นปึกแผ่น
องค์กรชุมชนเข้มแข็งและภาคประชาสังคม ต้องมุ่งเสริมสร้างความรักสามัคคีในทุกท้องถิ่นให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง. ที่ใดสังคมมีความแตกแยก ไม่สงบ หรือมีภาวะสงคราม ที่นั่นแม้จะทุ่มเงินลงไปพัฒนาเท่าใดก็สำเร็จได้ยากและผลการพัฒนาไม่ยั่งยืน อย่างที่เราเห็นในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือประเทศตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ในท้องถิ่นบางตำบลที่มีการต่อสู้แย่งชิงกันอย่างรุนแรง.
ตรงกันข้ามกับสังคมที่มีสันติภาพ สงบ สันติสุข มีฐานทุนทางสังคมอยู่มาก แม้ใช้เงินลงทุนพัฒนาแต่น้อย ก็ได้ผลสำเร็จด้วยดี คุ้มค่าและยั่งยืน.
4) ปกปักษ์รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
ประชาชนพลเมืองทุกคนควรช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เพราะวัฒนธรรมเป็นรากแก้วและรากเหง้าของประเทศชาติ ที่หลอมรวมความเป็นปึกแผ่นในแผ่นดิน ทำให้เราอยู่รอดร่วมกันมาเกือบพันปีแล้ว มีสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลัก มีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายเป็นองค์ประกอบ คนทั่วโลกต่างชื่นชม.
เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมจีนที่มีอายุสี่พันปี เก่าแก่กว่าเรามาก แม้จะถูกแก็งค์สี่คนและกลุ่มเยาวชนแดง เร็ดการ์ด ภายใต้อำนาจการปกครองที่ทรงอิทธิพลของเหมาเจ๋อตง พยายามทำลายล้างด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองในระยะหลังก็ยังต้องหันกลับมาฟื้นฟูคุณค่าและสร้างสรรค์ต่อยอดวัฒนธรรมโบราณที่ทรงคุณค่า.
5) คว่ำบาตรพวกชังชาติ
นักการเมืองและพรรคการเมืองใด ที่มีพฤติกรรมเกลียดชังให้ร้ายประเทศชาติและวัฒนธรรมที่ดีงามของตน ควรได้รับการคว่ำบาตร ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย และอย่าให้พวกเขาได้เข้ามามีที่ยืนในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นทุกระดับ.
ขอเชิญชวนปฏิบัติการล้างการเมืองแบบเก่า สร้างการเมืองวิถีใหม่ร่วมกัน
เริ่มลงมือโดยพร้อมเพรียง ตั้งแต่การเลือกตั้ง อบจ. อบต. เทศบาล ที่กำลังจะมาถึง
ทำเรื่อยไปจนถึงการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั่วประเทศในครั้งต่อไป
บัดนี้ อำนาจการเลือกอยู่ในมือท่านแล้ว
จงมอบมันให้แก่ “คนที่ใช่” ให้โอกาส “คนดี” ได้รับใช้บ้านเมือง.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป, 27 พฤศจิกายน 2563.