การออกแบบสภาประชาสังคมไทย
จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างองค์กรสภาและสมาคมที่เป็นต้นแบบกรณีศึกษาทั้ง 14 องค์กร เมื่อประกอบเข้ากับลักษณะธรรมชาติและคุณสมบัติเฉพาะขององค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ในประเทศไทยในปัจจุบัน คณะวิจัยเสนอให้จัดตั้งกลไกพื้นที่กลางเพื่อการประสานงานและมีความเป็นตัวแทนของเครือข่าย ในนามของ “สภาประชาสังคมไทย”

การออกแบบใหม่ (Re-design) ได้ดึงเอาจุดเด่นจากองค์กรต้นแบบที่หลากหลาย ประกอบด้วย
- “ความเป็นอิสระ” จากจุดเด่นของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- “พันธมิตรการพัฒนา” จากจุดเด่นของสภาประชาสังคมชายแดนใต้
- “การเป็นนิติบุคคล” จากจุดเด่นของสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย
- “การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ” จากจุดเด่นของสภาองค์กรชุมชน
- “กระบวนการทางปัญญา” จากจุดเด่นของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
- “พึ่งตนเองได้” จากจุดเด่นของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
สภาประชาสังคมไทยเป็นกลไกและพื้นที่กลางขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามในการรวมตัวกันและจัดตั้งตนเองขึ้นมาในลักษณะ “Self Organizing” เพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่ประสานงานกลาง และเป็นสถาบันตัวแทนของภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย จากทุกประเด็นงานและพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศ
จึงควรที่รัฐบาลจะเห็นคุณค่าและมีนโยบายสนับสนุนบทบาทของกลไกลักษณะเช่นนี้ ในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง SDG17 แห่งสหประชาชาติ (Partnership for the Goals)
ด้วยลักษณะที่สภาประชาสังคมไทย เป็นองค์กรที่เกิดจากการจัดตั้งกันขึ้นมาเองขององค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ย่อมมีความเป็นอิสระในด้านจุดยืน ความคิดเห็นและการแสดงออก ภาครัฐจึงไม่ควรคาดหวังในการสั่งการโดยใช้อำนาจ หากต้องใช้วิธีการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและโน้มน้าวจูงใจซึ่งกันและกัน ด้วยท่าทีของความเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)
ส่วนอีกด้านหนึ่ง ด้วยความเป็นสถาบันที่มีความเป็นอิสระเช่นนี้ รัฐบาลควรจะมีวิสัยทัศน์และมุมมองที่กว้างออกไปและจัดให้มีระบบส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการทำงานขององค์กรตัวแทนของภาคประชาสังคมเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งในด้านนโยบาย กลไก และทรัพยากร เปิดโอกาสให้กับกลุ่มองค์กรที่มีความเห็นต่างจากภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาอย่างกว้างขวางมากขึ้น แทนที่จะจำกัดวงอยู่เฉพาะในกลุ่มขององค์กรภาคประชาสังคมที่รัฐจัดตั้งหรือองค์กรภาคประชาสังคมแบบ “พันทาง” (Hybrid) เท่านั้น
อุปสรรคในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานสาธารณะขององค์กรภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมประการหนึ่งคือ ระบบระเบียบของทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในระบบปกติของทางราชการ ไม่มีความยืดหยุ่นพอสำหรับการทำงานกับภาคประชาชน อย่างไรก็ตามยังมีกองทุนที่รัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นกองทุนที่มีทั้งกฎหมายมีทั้งเงินกองทุน มีทั้งคณะกรรมการดูแล แต่ไม่สามารถสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังคงบริหารงานแบบระบบราชการ โดยสำนักงานที่มิใช่องค์การมหาชน แต่เป็นหน่วยงานราชการ และไม่ได้มีสถานะความเป็นนิติบุคคลด้วยตนเอง
จึงควรที่รัฐบาลจะได้ออกแบบองค์กรและกลไกสนับสนุนที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพแท้จริง
ข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
หากมองอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยง จะสามารถเห็นได้ว่า “ประชาธิปไตย” “ธรรมาภิบาล” และ “ประชาสังคม” เป็นทั้ง”ร่าง” และ “เงา” ของกันและกัน กล่าวคือเราไม่สามารถที่จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบโดดๆ โดยไม่มีอีก 2 ส่วนที่เหลือได้เลย เพราะสังคมหรือองค์กรใดไม่อาจเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าขาดธรรมาภิบาลและประชาสังคม เช่นเดียวกับสังคมหรือองค์กรใดไม่สามารถมีธรรมาภิบาลได้เลย หากขาดความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมแบบประชาสังคม รวมทั้งองค์กรหรือสังคมใดเป็นสังคมที่เข้มแข็งหรือประชาสังคมไม่ได้เลย ถ้าปราศจากประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล
จึงควรที่รัฐสภาจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และประชาสังคม ร่วมไปด้วยกันในทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการในงานทางนิติบัญญัติ
เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความเป็นพลวัตรสูงขึ้นยุคโลกาภิวัฒน์ กรอบแนวคิดของการออกกฎหมาย ควรปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์ จากเดิมที่เน้น “กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการบังคับใช้กับประชาชน” มาสู่การเป็นกฎหมายในเชิงส่งเสริมสนับสนุนที่ว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือของสังคมในการสนับสนุนการจัดการปัญหาด้วยตนเอง” ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและบทบาทของภาคประชาสังคม
จึงควรที่รัฐสภาจะได้ให้ความสำคัญต่อกระแสแนวคิดดังกล่าวในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับอย่างรอบคอบรอบด้านและมีลักษณะที่ก้าวหน้า-สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม และการออกกฎหมายใหม่ๆ ซึ่งกลไกภาคประชาสังคมโดยเฉพาะสภาประชาสังคมไทย น่าจะเป็นกลไกที่ใช้ประโยชน์ได้.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 พ.ย. 2563