เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ณ เวทีการประชุมสมัชชาระดับชาติของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

มีสถาบันพัฒนาประชาสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ที่ประชุมใหญ่ได้ออกประกาศเจตนารมณ์ “ก่อตั้งสภาประชาสังคมไทย” ในนามคณะผู้ประสานงานองค์กรภาคประชาสังคม 77 จังหวัด ความว่า
ด้วยกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนตามความหมายของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG 17 คาดหวังว่าภาคประชาสังคมและกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆเรื่อง
แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับภาครัฐ ซึ่งเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนกับองค์กรในภาคธุรกิจ
เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรสภาวิชาชีพหรือสมาคมองค์กรที่มีการจัดตั้งโดยมี พ.ร.บ. เฉพาะรองรับ หรือองค์กรที่มีลักษณะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดตั้งโดยภาครัฐทั้งหลาย ทำให้นับวันองค์กรภาคประชาสังคมในส่วนที่เป็นอิสระจะยิ่งถูกกีดกันออกไป ทำให้เกิดช่องว่าง SDG เป้าหมายที่ 17 จึงยิ่งห่างออกไปด้วย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่
“ประชาสังคม” เป็นกลุ่มของประชาชนหรือพลเมืองผู้มีจิตสำนึกคุณธรรมเพื่อส่วนรวม ที่รวมตัวกันเป็นคณะบุคคล องค์การพัฒนาเอกชน หรือองค์กรเอกชนอื่น ด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ
ในสภาพความเป็นจริงนั้น องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยมี ความแตกต่างหลากหลายกันเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านวัตถุประสงค์ เป้าหมายภารกิจแนวคิดทฤษฎี อุดมการณ์ความเชื่อ ตลอดจนแนวทางการทำงาน ฯลฯ ทั้งยังขาดการจัดตั้งองค์กรหรือกลไกที่จะสนับสนุนและบริหารจัดการ ให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ จึงมีมติให้มีการจัดตั้ง “สภาประชาสังคมไทย” สำหรับเป็นพื้นที่กลางและเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในทุกรูปแบบ
โดยมีเจตนารมณ์ ดังนี้
1. สภาประชาสังคมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ความเป็นสถาบันที่สามารถเป็นตัวกลางและเป็นกลไกเชื่อมโยง สานพลังองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ สังคม และชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
2. สภาประชาสังคมไทย ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งองค์กรชุมชนฐานราก องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาคมขององค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ และกลุ่มอาชีพต่างๆ จึงมีสถานะความเป็นสถาบันตัวกลางและเป็นตัวแทนในการติดต่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และอื่นๆ
3. สภาประชาสังคมไทย จักรักษาบุคคลิกภาพในความเป็นอิสระการเป็นพันธมิตรการพัฒนาที่ยั่งยืน กระบวนการทางปัญญา องค์กรการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพ และการพึ่งตนเอง
4.สภาประชาสังคมไทย จะจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเป็นประจำทุกปี จะจัดทำธรรมนูญสภาประชาสังคมเพื่อใช้เป็นหลักการร่วมกันในการทำงานส่วนรวมและเป็นกรอบในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งงานสมาชิกสัมพันธ์และงานระบบฐานข้อมูลกลาง
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 พ.ย. 2563