“ขบวนปฏิรูปไม่นิ่ง-เคลื่อนตัวช้า”

คำอภิปราย ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด ต่อรายงานผลการปฏิรูปของรัฐบาล โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 30 พฤศจิกายน 2563

จากการพิจารณารายงานความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ในช่วง 3 เดือน ( เมษายน-มิถุนายน 2563) ตามที่สภาพัฒน์นำเสนอต่อวุฒิสภา  

เมื่อสอบทานความเห็นของคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา 26 คณะ โดยเฉพาะคณะที่รับผิดชอบหลักในแผนปฏิรูปแต่ละแผน  รวม 12 แผนปฏิรูป 69 ประเด็นปฏิรูป 285 โครงการ รวมทั้งข้อคิดเห็นเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป 

จากการอภิปรายที่หนักแน่น  หลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ของท่านสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดในวันนี้ ผมขออนุญาตมองอย่าง “คนนอกวง”  มองแบบ “พื้นผิว” ตามที่เห็นจากส่วนที่เป็น “เปลือกนอก”  เนื่องจากไม่ได้ดูแลรับผิดชอบในแผนปฏิรูปใดเป็นการเฉพาะ

แต่พยายามจะนำมุมมองจาก 4 มิติมาประกอบกัน  ได้แก่  1)ความยากง่ายของปัญหา  2)สถานการณ์จริงในปัจจุบัน ทั้งความรุนแรงและความสลับซับซ้อน 3)ความก้าวหน้าของกิจกรรม โครงการ เมื่อเทียบกับระยะเวลาของแผนปฏิรูป  4)ความคิดเห็นมุมมองของกรรมาธิการที่รับผิดชอบโดยตรง.

สามารถมองเห็นภาพรวมของขบวนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไม่นิ่งเคลื่อนตัวช้า

แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

Table of Contents

กลุ่มที่ 1   “ล่าช้ามีอุปสรรคปัญหามาก”

แผนปฏิรูปที่ 1  ด้านการเมือง

ยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบแบบเฉพาะทาง.  หลายโครงการไม่ได้รับงบประมาณจึงไม่ได้ทำ  บางโครงการมีผลลัพธ์ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ที่ต้องการ.

ด้านหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมืองที่รุ่มร้อนจนเดือดพล่าน ทั้งนอกสภาและในสภา ได้ปลุกสังคมไทยให้เกิดกระแสความตื่นตัวและสำนึกใหม่ทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่.

อีกด้านหนึ่ง  มีภาคพลเมืองกลุ่มหนึ่ง ในนามของเครือข่าย “สภาประชาสังคมไทย” ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ รวบรวม 14,400 รายชื่อ เข้าชื่อเสนอ (ร่าง)พรบ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ศ….. ที่ล่าช้ามานาน ต่อประธานรัฐสภา นำหน้าไปก่อนแล้ว.

ในทัศนะส่วนตัว สังคมไทยอยู่ในวิสัยที่จะฝ่าวิกฤติการเมือง ไปสู่การเมืองวิถีใหม่ได้ด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1)การยึดหลักนิติรัฐ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง 2)การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 3)มีพลังทางสังคมที่สร้างสรรค์อันกว้างใหญ่ไพศาลคอยสนับสนุน  ซึ่งบัดนี้ดูเหมือนว่า ทั้ง 3 องค์ประกอบกำลังจะมาบรรจบกัน  ถ้าสามารถผ่านวิกฤติการเมืองในคราวนี้ ประเทศไทยน่าจะคืบหน้าไปได้อีกก้าวใหญ่.

แผนปฏิรูปที่ 3  ด้านกฎหมาย

โครงการสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายมีความล่าช้าเป็นส่วนใหญ่ และถูกประเมินว่ามีแนวโน้มบรรลุตามพันธกิจในระดับต่ำ.  

ควรเร่งรัด (ร่าง)พรบ.การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ….  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาต อนุมัติ ขึ้นทะเบียน.

กลุ่มที่ 2  “อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นเริ่มต้น”

แผนปฏิรูปที่ 2  ด้านบริหารราชการแผ่นดิน

โครงการปฏิรูปกำลังคนภาครัฐในระบบ e MENSCR ไม่บรรลุผล.

การพัฒนาเกตเวย์ด้านบริการดิจิทัล เป็นศูนย์กลางสำหรับภาครัฐและเอกชน ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย  เป็นโครงการลงทุนใหม่ ที่ต้องรอการตัดสินใจและการจัดการทางงบประมาณ.

การสร้างสรรค์จังหวัดพันธุ์ใหม่ยังเพิ่งเริ่มในระดับพื้นที่นำร่องเพียงแค่ไม่กี่จังหวัดและอำเภอ แทนที่จะดำเนินการแบบตีหน้ากระดานและจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆกันทั้งประเทศ.

แผนปฏิรูปที่ 8  ด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมีอุปสรรคและล่าช้ามาก.

การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้เป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการหน้าใหม่ยังต้องใช้เวลา รวมทั้งความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา.

การลงทุนที่บุกเบิกใหม่ ทั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ท 5G และดาวเทียมสื่อสาร  โชคดีที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยหนุนเสริม จนสามารถก้าวรุดหน้า ไปได้ไม่น้อย.

แผนปฏิรูปที่ 10  ด้านพลังงาน

เป้าหมายการปฏิรูปองค์กรพลังงานของชาติ คือกระทรวงพลังงานและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมด เป็นงานที่ใหญ่และท้าทายมาก ต้องการเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้า.

ประเด็นการปฏิรูป 9 เรื่องสำคัญ ที่คณะกรรมาธิการด้านพลังงานให้ความสนใจติดตามยังคืบหน้าไปไม่มาก อาทิ

การจัดตั้งกอง PSC  การจัดตั้ง OSS โรงไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ การจัดตั้ง “กองเงา” ในสนพ.

การให้มีกรรมการภาคประชาสังคม  การทำแผน PDP ใหม่  การย้ายโอน 3 หน่วยงานการไฟฟ้า การให้หน่วยงานรัฐสามารถร่วมลงทุน  การเป็น LNG Hub ของอาเซียน  และการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา.

แผนปฏิรูปที่ 12  ด้านการศึกษา

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ยังต้องเร่งรัดในขั้นกลไกขับเคลื่อนและการปฏิบัติการ.

การปฏิรูปด้านอุดมศึกษาไม่ปรากฏความคืบหน้าในรายงาน.

พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ซึ่งเป็น “กฎหมายแม่” ยังไม่เห็นวี่แวว.

กลุ่มที่ 3   “ดำเนินการใกล้สำเร็จ(ตามแผน)”

แผนปฏิรูปที่ 4  กระบวนการยุติธรรม

โครงการส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผน และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จในระดับปานกลาง.

ยังมีร่างกฎหมายที่รอการเร่งรัดและติดตามอีก 4 ฉบับ คือ

1. พรบ.กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม  2. พรบ.ระบบนิติวิทยาศาสตร์  3. พรบ.การสอบสวนคดีอาญา  4. พรบ.ตำรวจแห่งชาติ.

แผนปฏิรูปที่ 7  ด้านสาธารณสุข

การระบาดใหญ่ของ COVID 19 ได้ทดสอบความแข็งแรงของระบบสาธารณสุขไทย จนได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ได้พิสูจน์ว่าประเด็นปฏิรูป 10 เรื่องสำคัญที่ระบุไว้ในแผน ยังคงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่.

อย่างไรก็ตาม พบว่ายังไม่ได้มีการนำแผนปฏิรูปไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ รวมทั้งแผนงาน โครงการในระดับปฏิบัติการเท่าที่ควร.

รวมทั้ง พรบ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (NHPB) ยังมีความล่าช้ามาก.

แผนปฏิรูปที่ 11  ด้านป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ

ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบยังคงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากของประเทศ  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก.

แต่ดัชนีที่ใช้วัดระดับ ทั้ง CPI  Corruption Barometer และ TRACE ยังคงไม่กระเตื้อง ทั้งยังมีแนวโน้มที่แย่ลง.

ยังมีกฎหมายที่ควรเร่งรัด อีกอย่างน้อย 1 ฉบับ คือ พรบ.ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามมาตรฐาน OGP : Open Government Partnership เพื่อเปิดทางให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านและชี้เบาะแสการทุจริต.

กลุ่มที่ 4  “ดำเนินการแล้วเสร็จ(ตามแผน)”

แผนปฏิรูปที่ 5  ด้านเศรษฐกิจ

จากการพิจารณาความก้าวหน้า จากตัวอย่าง 42 โครงการสำคัญ พบว่าโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายในระดับ “มาก” .

โครงการดังกล่าว ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเกษตร  การอุตสาหกรรม  เขตเศรษฐกิจ EEC  การท่องเที่ยว  การพาณิชย์  วิสาหกิจระดับกลางและเล็ก  เศรษฐกิจฐานราก  รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกและดิจิทัล.

แผนปฏิรูปที่ 6  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การปฏิรูปกฎหมายและกลไกจัดการปัญหาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ก้าวหน้าไปได้มาก รอการเก็บเกี่ยวผลสัมฤทธิ์จากพื้นที่ภาคสนามทั่วประเทศ.

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นใหญ่ที่รอการผลักดันกฎหมายและอนุบัญญัติอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านทรัพยากรทางบก ทรัพยากรทางน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และระบบบริหารการจัดการ.

แผนปฏิรูปที่ 9  ด้านสังคม

มีการผลักดันกฎหมายสำเร็จไปแล้วเป็นจำนวนมาก และกำลังติดตามการจัดทำกฎหมายระดับรองให้ครบถ้วน.

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องเอาใจใส่ โดยเฉพาะในด้านกลไกขับเคลื่อนและคุณภาพการบริการประชาชน ของหน่วยงานในระดับปฏิบัติการ.

รวมทั้งการผลักดันกฎหมายและแผนพัฒนาใหม่ๆตามพลวัตรของสังคม อาทิ วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  การส่งเสริมบทบาทองค์กรภาคประชาสังคม  การปฏิรูประบบทะเบียนคนพิการ  และการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง-ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.