ถึงพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม
เมื่อพูดถึง “การเมืองวิถีเก่า” โดยทั่วไปเรามักหมายถึงสภาพการเมืองในปัจจุบันที่กำลังวิกฤติ รวมไปถึงการเมืองในอดีตที่สะสมปัญหากันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีจินตนาการว่าจะต้องพยายามก้าวข้ามไปสู่วิถีการเมืองแบบใหม่ที่ดีกว่าให้จงได้.

พฤติกรรมของนักการเมืองวิถีเก่าที่ประชาชนมีภาพจำ คือ การตั้งก๊วนตั้งแก็งเพื่อต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ส่วนตัว ใช้เงินซื้อเสียง แบ่งขั้วแยกฝ่าย ต่อสู้ทำลายล้างและเอาเปรียบคู่แข็งขันด้วยวิธีการสกปรก.
ไม่เว้นแม้นักการเมืองหนุ่มสาวที่มีแบบแผนพฤติกรรมแบบเก่า ขาดปิยวาจา ขาดความเป็นสุภาพชน สร้างเฟคนิวส์และวาทกรรมแตกแยก ตะแบง เล่นนอกกติกา ไม่มีสปิริตความเป็นนักกีฬา ไม่แยกประโยชน์ประเทศกับประโยชน์พวกพ้อง.
ส่วนพรรคการเมืองที่มีอยู่ขณะนี้จำนวนร่วมร้อยพรรค ส่วนใหญ่มีนายทุนเป็นเจ้าของพรรค สส.และสมาชิกพรรคไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขาดความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค. ขาดความเป็นสถาบันที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพนักการเมือง พัฒนานโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เสริมสร้างวัฒธรรมประชาธิปไตย.
อันที่จริง ประชาชนยุคนี้มีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองตัวแทนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่โดยทั่วไปมักยังขาดสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศและตระหนักในพลังอำนาจอธิปไตยที่อยู่ในมือของตน การเลือกตั้งระดับชาติในแต่ลงครั้งจึงลงคะแนนไปโดยไม่คาดหวังว่าจะไปกำหนดอนาคตของประเทศชาติได้อย่างไร รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวเหลือเกิน การซื้อสิทธิ์และการขายเสียงจึงมีประสิทธิผลเสมอมา.
ประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมาก แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงอ่อนแอ. เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง กำหนดกรอบกติกาสำหรับนักการเมือง พรรคการเมืองและองค์กรตรวจสอบต่างๆเอาไว้อย่างครบถ้วน ละเอียดละออ
แต่นักการเมืองทั้งหลายแหล่ ก็ยังคงพยายามหาช่องทางเพื่อละเมิดกติอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีใครเป่านกหวีดเตือน ลงโทษ หรือเช็คอ็อฟไซด์. จนกระทั่งขณะนี้กำลังบานปลาย ถึงขั้นฮึกเหิมจะล้มล้างระบอบการเมืองการปกครอง และทำลายสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นรากเหง้าของแผ่นดินกันแล้ว.
การเมืองวิถีใหม่ ควรเป็นการเมืองในเชิงคุณธรรมจริยธรรม เป็นการเมืองเชิงจิตอาสา และเป็นการเมืองของสุภาพชน ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง.
นักการเมืองวิถีใหม่ ควรเป็นผู้ขันอาสาเข้ามาทำงานการเมืองโดยเสียสละ มุ่งมั่นนำความรู้ความสามารถและความเป็นมืออาชีพของตน มารับใช้ประชาชนและประเทศชาติโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่แสวงประโยชน์ในทางผิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม.
การเมืองวิถีใหม่ ควรมีขอบเขตที่ยึดโยงและบูรณาการ 3 องค์ประกอบสำคัญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ ประชาธิปไตยทางตรงในระดับชุมชนฐานราก ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยตัวแทนในระดับชาติ.
หลักการสำคัญสำหรับการเมืองวิถีใหม่
1) ต้อง ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) ต้อง ทำงานการเมืองแบบจิตอาสา เป็นผู้ขันอาสาทำงานส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทนในทางที่ผิด
3) ต้อง เสริมสร้างความรักสามัคคีของคนในชาติและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีไทย
4) ต้อง เชื่อมั่นและสนับสนุนหลักนิติรัฐ เคารพกฎหมาย
5) ต้อง มีสปิริตความเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ขอโทษ และรู้อดทนรอคอย.
6) ต้องไม่ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วแยกฝ่ายทางการเมือง จนบ้านเมืองแตกแยก
7) ต้องไม่ สร้างหรือใช้ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม (Fake news) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
8) ต้องไม่ สร้างหรือใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังในสังคม (Hate speech)
9) ต้องไม่ ใช้ตำแหน่งและสถานะทางการเมืองไปกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ
10) ต้องไม่ กระทำและไม่สนับสนุนการทำผิดหรือละเมิดกฎหมาย.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป, 4 ธันวาคม 2563