ร่วมสร้างการเมืองวิถีใหม่ (7) “สามัคคี สมานฉันท์”

ถึงพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม

ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยยืดเยื้อเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2548 จนประเทศแทบหยุดชะงัก นับเป็นความจริงที่น่าเจ็บปวดและน่าเสียดายโอกาสยิ่ง แทนที่การพัฒนาจะทะยานรุดหน้า ต้องมาสาละวนอยู่กับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในโครงสร้างส่วนบน มุ่งโค่นล้มกันไปมาระหว่างกลุ่มการเมืองสองขั้วความคิด ทั้งในสมรภูมิรัฐสภาและการชุมนุมมวลชนตามท้องถนน

แต่เมื่อยังไม่แพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด ขณะที่บ้านเมืองถูกลากเข้ามาถึงทางตัน ตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย ใกล้สภาวะรัฐล้มเหลว องค์กรอิสระไม่สามารถรักษากติกาตามรัฐธรรมนูญ ทำให้กองทัพในฐานะกลไกกลางรักษาความมั่นคงของรัฐ ต้องเข้ามายึดอำนาจและจัดระเบียบกันเป็นระยะ รัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยจึงถูกฉีกและเขียนฉบับใหม่ขึ้นมาแทน เป็นวัฏฏจักรที่วนเวียนอยู่อย่างนี้ 

เจตนารมณ์ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ได้กำหนดทิศทางประเทศไว้อย่างชัดเจนแน่วแน่ มีเป้าหมายที่จะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ยังไปไม่ถึงไหนทั้งที่เดินทางกันยาวนาน 88 ปีแล้ว 

นักการเมืองมักกล่าวโทษว่าทหารยึดอำนาจ ทหารก็โทษนักการเมืองที่โกงกิน-สร้างความแตกแยก กลุ่มการเมืองหนึ่ง เมื่อผิดหวังจากเกมแย่งชิงอำนาจในรัฐสภา ก็หันไปเล่นบทเป็น “ฝ่ายแค้น” โทษกติการัฐธรรมนูญว่าไม่ดี ไม่เป็นธรรม เคลื่อนไหวกดดันทุกวิถีทางเพื่อให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกากันใหม่ โดยไม่หันมามองพฤติการณ์และศักยภาพของตนในฐานะผู้เล่นเลยแม้สักนิด

ในเวลานี้ สถานการณ์ยิ่งสลับซับซ้อนหนักขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการสาธารณรัฐนิยม” ที่ต้องการ “ล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ” เบียดแทรกเข้ามาและชิงธงนำ โจมตีสถาบันแบบโต้งๆและหยาบคาย อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลิตซ้ำเฟคนิวส์-เฮทสปีช หลอกใช้เด็กและเยาวชนเป็นกองหน้า เป็นโล่กำบัง เป็นตัวประกัน กระทำการผิดกฎหมาย จงใจท้าทายเหยียบย่ำขื่อแปบ้านเมือง

องค์กรเอ็นจีโอ นักวิชาการและภาคประชาสังคมบางส่วนที่เข้าไปถือหางและประกาศร่วมขบวนการอย่างโจ่งแจ้ง ก็เป็นเรื่องสิทธิและอัตวินิฉัยของใครของมัน แต่ใครก็ตามที่ล้ำเส้นไปกระทำการผิดกฎหมาย ย่อมต้องรับผิดรับชอบกันไปตามกรรมตามวาระ

ด้วยความที่เป็นห่วงใยเยาวชนลูกหลาน ทั้งหวั่นเกรงความรุนแรงจากการอาละวาดของม็อบและกลุ่มก่อการ ผู้คนในสังคมบางส่วนรวมทั้งพรรคการเมืองหลายพรรค เรียกร้องการสมานฉันท์ปรองดองแบบ“เหมารวม”

“การปรองดอง”ไม่ใช่การเจรจาต่อรอง จาก“ผิดกฎหมาย” ให้เป็น“ไม่ผิด”

“การสมานฉันท์”ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็ใช้ไม่ได้กับสภาวะศึกสงคราม ที่ต้องตัดสินใจระหว่างยอมแพ้หรือลุกขึ้นสู้จนรู้แพ้รู้ชนะ 

เหมือนเมื่อคราวพม่ายกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้น การกอบกู้เอกราชคืน หรือศึกเก้าทัพ สงครามคอมมิวนิสต์ และกบฏล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบก็อยู่ในข่าย  

คณะทำงานการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  มีข้อเสนอแนวทางจัดการปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นมรรค 8 สามัคคี-สมานฉันท์ ดังนี้

  1. ยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
  2. พรรคการเมืองประกาศจุดยืน-นโยบายรูปธรรม นำพาชาติบ้านเมืองก้าวพ้นปัญหาขัดแย้งเรื้อรัง
  3. หยุดใช้สื่อปลุกระดมยั่วยุให้เกลียดชัง-ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชนเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง
  4. ปกป้องระบบนิติรัฐ บังคับใช้กฎหมาย อำนวยกระบวนการยุติธรรมเสมอหน้า-เที่ยงธรรม 
  5. นิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องอย่างมีเงื่อนไข นำหลักยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเข้ามาเสริม
  6. เยียวยา-ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกฝ่าย อย่างเหมาะสม-ต่อเนื่อง
  7. ขับเคลื่อนปรองดองเชิงป้องกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ได้พูดความจริงได้ นำสู่ความยุติธรรม
  8. พัฒนาผู้นำกระบวนการเสวนา เสริมสร้างบุคลิก สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ  

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป, 18 ธันวาคม 2563.