ถึงพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม

เมื่อพูดถึงอนาธิปไตย คนทั่วไปมักเข้าใจและมีภาพจำในทางลบว่าเป็นความปั่นป่วนวุ่นวาย ไร้ระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎหมาย ต่อต้านอำนาจรัฐ เหมือนกับสิ่งที่กลุ่ม “ราษฎร 2563” และ “กลุ่มเด็กเลว” ได้สร้างสถานการณ์มาตลอดทั้งปี.
มีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและผู้มีอาวุโสสูงบางท่าน ออกมาแสดงความชื่นชมต่อการเคลื่อนไหวว่าเป็นอิสระทางความคิดและกล้ากระทำการที่แหวกออกนอกกรอบจนสุดกู่ ท้าทายกฎหมาย จะจับกุมดำเนินคดีก็ถูกตำหนิ ว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ได้.
การสนับสนุนพฤติกรรมปฏิเสธขื่อแปบ้านเมือง ต่อต้านอำนาจรัฐ และกฎกติกาสังคมเช่นนี้ ช่างสอดคล้องกับแนวคิดลัทธิ “อนาธิปไตย”.
คำถาม คือ พวกเขาใฝ่ฝันเช่นนั้นจริง หรือว่ามองไม่เห็น “หลุมพราง” กันแน่.
อนาธิปไตย เป็นปรัชญาการเมืองแนวหนึ่งที่มีความเชื่อว่ารัฐนั้นเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ไม่จำเป็นและให้โทษ. พวกอนาคิสต์หรือนักอนาธิปไตย มีแนวคิดสนับสนุนสังคมที่ปราศจากรัฐ เชื่อในการรวมกลุ่มอย่างสมัครใจที่ไม่มีลำดับชั้น ยึดหลักเสรีภาพของปัจเจกชนและต่อต้านรัฐ.
ลัทธิอนาธิปไตย เป็นอุดมคติอย่างหนึ่งมุ่งหมายสังคมที่ไม่มีการปกครอง ไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมาย. เป็นสังคมในฝันที่สมบูรณ์ไปด้วยเสรีภาพของบุคคล ยังผลให้คุณค่าแห่งมนุษย์ได้เผยโฉมหน้าอย่างเต็มดวง ประดุจสังคมยุคพระศรีอาริย์.
แต่ในโลกความเป็นจริง เคยมีประเทศ สังคมหรือชุมชนใดที่เพรียบพร้อมไปด้วยความไพบูลย์ทางวัตถุและความเจริญทางจิตใจเช่นว่านี้อยู่บ้าง.
ระบอบประชาธิปไตยและระบอบอนาธิปไตยต่างยกย่อง “เสรีภาพของบุคคล”
แต่ต่างกันตรงที่ระบอบประชาธิปไตยนั้นเสรีภาพของบุคคลต้องประกอบด้วย “อำนาจอธิปไตยของปวงชน”ด้วยเสมอจึงถือหลักการปกครองด้วยกฎหมายหรือนิติรัฐ.
ส่วนระบอบอนาธิปไตยจะยึดถือเสรีภาพของบุคคลอย่างสุดโต่งปราศจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน (กฎหมาย) มากำกับ.
ลัทธิอนาธิปไตย เชื่อเรื่องการจัดโครงสร้างองค์กรแบบกระจายอำนาจ การรวมกลุ่มบนพื้นฐานของสมาชิกที่มีความสนใจเหมือนกันเข้ามาทางานร่วมกัน ขับเคลื่อนกิจกรรมไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยไม่มีการวางแผนอย่างรัดกุมเอาไว้ก่อน และจะกระทำการตัดสินใจบนพื้นฐานของฉันทามติ. ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พวกเขาจะปฏิเสธการมียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศอย่างสิ้นเชิง.
พวกอนาธิปไตย มักระแวงสงสัยต่อ “สิทธิอำนาจ” ไม่ยอมมอบสิทธิอำนาจในการปกครองให้แก่รัฐ. ขณะเดียวกันก็ยึดมั่นต่อการดำรงชีพที่สอดคล้องกับคุณค่าหรือค่านิยมที่กลุ่มยึดถือ คล้ายสิ่งที่เรียกว่า “ชุมชนาธิปไตย” ที่สุดโต่ง.
ชาวอังกฤษคนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือว่าด้วยลัทธิอนาธิปไตยว่า “คนจำนวนมากอ้างว่ารัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากคนบางคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แต่นักอนาธิปไตยจะบอกว่ารัฐบาลเป็นสิ่งอันตรายเนื่องจากไม่มีใครที่เป็นที่เชื่อถือได้เพียงพอที่จะให้ดูแลผู้อื่น”.
ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1960 – 1970 มีการรื้อฟื้นแนวคิดอนาธิปไตยขึ้นมาใหม่โดยขบวนการนักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถึงราก แต่แนวคิดได้รับการตีความแตกต่างกันไป มีตั้งแต่พวกสันตินิยม ปัจเจกชนนิยม ไปจนถึงพวกนิยมความรุนแรง และพวกโน้มเอียงในแนวทางคอมมิวนิสต์.
“อนาธิปไตยปัจเจกชนนิยม” ปฏิเสธอำนาจรัฐ แต่เชิดชูสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างยิ่งยวด. สนับสนุนความร่วมมือกันโดยสมัครใจจากภาคสังคมและกลุ่มที่มีความเป็นอิสระ ปฏิเสธการถูกบังคับขู่เข็ญทุกรูปแบบ เชื่ออย่างแรงกล้าว่าสภาวะธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีงามที่สุด สามารถรู้สำนึกในทุกสิ่งได้เอง อำนาจบังคับจะทำลายสภาวะธรรมชาติที่ดีงามลงสิ้น.
ส่วนพวก “อนาธิปไตยสังคมนิยม” ยังเห็นความสำคัญของกฎหรือระเบียบของสังคม แต่จะต้องเป็นกฎระเบียบของสังคมที่เกิดจากความสมัครใจของสมาชิกในการปกครองตนเองเท่านั้น ต้องกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม แต่ต้องเป็นการรวมกลุ่มเพื่อรับใช้เสรีภาพและปราศจากกฎเกณฑ์มาบังคับ.
ประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย ความใฝ่ฝันกับเรื่องเพ้อฝันที่คั่นด้วยเส้นบางๆ. ถึงเวลาต้องเลือก ก่อนที่โควิด-19 จะมาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป.
31 ธันวาคม 2563.