รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 43) “สภาเด็กและเยาวชน หน่ออ่อนวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม”

การศึกษาแนวทางการพัฒนาเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนระดับอำเภอ เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒)

เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี

มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลสถานการณ์และนโยบายแนวคิดการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายเด็กและเยาวชนระดับอำเภอทั่วประเทศ พัฒนาข้อเสนอแนะแนวทางสำหรับกิจกรรมโครงการส่งเสริมพลเมืองรุ่นใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จุดเริ่มของสภาเด็กและเยาวชน 

เมื่อปี ๒๕๕๐ รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ผลักดันกฎหมายฉบับหนึ่งเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนออกมาเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะวางแนวคิดเชิงทิศทางและนโยบายในเรื่องสิทธิเด็ก (Child Right) และการปกป้องคุ้มครองเด็ก (Child Protection) เป็นสำคัญ จึงเน้นในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับการปกป้องคุ้มครอง และได้การพัฒนาในทุกมิติอย่างบูรณาการ 

ต่อมาในปี ๒๕๖๐ มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ฉบับที่ ๒ โดยได้เพิ่มเติมเรื่องสภาเด็กและเยาวชนเข้าไปเป็นมาตรการและรูปแบบองค์กรอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ที่ดำเนินการในระดับพื้นที่ 

การเลือกใช้รูปแบบของ “สภาเด็กและเยาวชน” โดยกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนตายตัวเช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นการเน้นบทบาทของเด็กและเยาวชนในลักษณะทำกิจกรรมเชิงรุก แต่อีกด้านหนึ่ง คำว่า“สภา” ได้สร้างการสื่อสารต่อสังคมให้มี “ภาพจำ”ที่เกี่ยวพันกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระดับใดระดับหนึ่ง ดังที่มีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองบางส่วนได้เล็งเป้าหมายเพื่อกระทำการแล้ว

พัฒนาการและแนวความคิดการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน

สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนของประเทศไทยได้รับความสนใจมาโดยตลอด เนื่องจากเด็กและเยาวชนในปัจจุบันอยู่ในสภาวะแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมกดดันให้พ่อแม่ต้องทำงานจนไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกหรือเลี้ยงดูในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหายาเสพติด การพนัน  ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  ปัญหาทะเลาะวิวาท  ปัญหาการติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต เป็นต้น 

ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงได้มีความพยายามที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยการจัดตั้ง “สภาเด็กและเยาวชน” และเมื่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่องานพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีศักยภาพในการจัดการตนเองและมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาทางสังคมในฐานะพลเมืองไทย มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ดังนี้

๑) ปี ๒๕๔๗ คณะกรรมการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดนำร่อง ๔ จังหวัด (ภาคละ ๑ จังหวัด) คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดสุรินทร์ ภาคกลางที่จังหวัดปราจีนบุรี และภาคใต้ที่จังหวัดสตูล 

๒) ปี ๒๕๔๘ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (กยช.) มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ภายใต้หลักการ “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและกลุ่มเยาวชน ร่วมมือกันจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดสภาเยาวชนแห่งชาติในโอกาสต่าง ๆ

๓) ปี ๒๕๔๘ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (กยช.) มีมติให้ทุกจังหวัดจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน ให้เสร็จเรียบร้อยภายในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) ในฐานะเจ้าของเรื่อง ประสานกับสำนักงบประมาณขอรับการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ทั้ง ๗๖ จังหวัด

๔) ปี ๒๕๕๔ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าสภาเด็กและเยาวชนเกิดจากการบุกเบิกนำร่องของกลุ่มเยาวชนเล็ก ๆ ใน ๔ จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ สตูล และปราจีนบุรี มุ่งหวังจะให้สภานี้เป็นเวทีสำหรับเยาวชน ได้คิดโครงการสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาของชุมชนตามวิถีทางที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ โดยแต่ละจังหวัดมีโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการ จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 ธ.ค. 2563