รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 44) “กฎหมายส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ”

 พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

สาระสำคัญในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่าให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในทุกอำเภอและทุกจังหวัด โดยให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทั้งเรื่องวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น คุณธรรม จริยธรรมและประชาธิปไตย โดยให้เด็กคิดกิจกรรมและโครงการเอง หรือเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายเฉพาะกิจบางอย่างของรัฐก็ได้

 ดังได้เห็นสภาเด็กและเยาวชนคิดกิจกรรมร่วมกับชุมชนหรือหมู่บ้าน สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดเก็บข้อมูลผู้ที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงรายจัดค่ายฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรม หรือโครงการถนนเด็กเดินของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยนาท การให้เด็กได้ทำโครงการสร้างสรรค์ชุมชนของตนเองโดยที่มีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน จึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนาที่ตรงจุดมากกว่า

ส่วน “สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” ได้กลายเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างรัฐกับเยาวชน โดยเป็นศูนย์กลางรับข้อมูลจากจังหวัดต่าง ๆ นำมาสะท้อนไปสู่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายแล้วขยายผล นอกจากนี้สภาเด็กและเยาวชนยังสามารถทำงานร่วมกับองค์กรสนับสนุนอื่นที่หลากหลาย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือแม้แต่กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ (NGO)

สถานการณ์สภาเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน

จำนวนสภาเด็กและเยาวชน จำแนกตามเขตการปกครอง เป็นสภาเด็กและเยาวชนตำบล/เทศบาล จำนวน ๗,๗๗๔ แห่ง  สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ จำนวน ๘๗๘ แห่ง สภาเด็กและเยาวชนเขต จำนวน ๕๐ แห่ง และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ๗๗ แห่ง รวมทั้งสิ้น ๘,๗๗๙ แห่ง

จำนวนสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน  เป็นชาย ๖๖,๓๐๐ คน(ร้อยละ ๔๑.๕) หญิง ๙๓,๒๕๗ คน(ร้อยละ ๕๘.๕)  อายุระหว่าง ๐ – ๖ ปี ร้อยละ ๐.๗๖ , ๖ – ๑๒ ปี ร้อยละ ๑.๔๑,  ๑๒ – ๑๘ ปี ร้อยละ ๕๔.๐ ,  ๑๘ – ๒๕ ปี ร้อยละ ๔๒.๘๖ และไม่ทราบอายุ ร้อยละ ๐.๙๐

จำแนกตามสถานที่ทำงาน  อยู่ระหว่างการศึกษา  ๑๕๖,๐๔๑ คน(ร้อยละ ๙๗.๘)  อยู่ระหว่างการศึกษาและทำงาน จำนวน ๑๐,๕๘๑ คน(ร้อยละ ๖.๖) สำเร็จการศึกษาและทำงาน จำนวน ๒,๐๑๒ คน(ร้อยละ ๑.๓) สำเร็จการศึกษาและว่างงาน จำนวน ๓,๑๐๔ คน(ร้อยละ ๑.๙)

จำนวนสมาชิกผู้พิการ จำนวน ๒๔๘ คน (ร้อยละ ๐.๑)

ตัวอย่างการขับเคลื่อนสภาเด็กและเยาวชนในภาคสนาม

จังหวัดเพชรบูรณ์มีประชากรเด็ก (๐-๑๗ ปี) ๑๙๘,๒๘๔ คน ประชากรเยาวชน (๑๘-๒๕ ปี) ๑๐๗,๗๙๗ คน มีสภาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นครบทุกระดับ ทุกพื้นที่ คือ สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลและเทศบาล ๑๒๗ คณะ ๒,๗๑๕ คน ระดับอำเภอ ๑๑ คณะ ๒๒๒ คน และระดับจังหวัด ๑ คณะ ๒๑ คน  

มีสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ้น ๒,๗๑๕ คน ประกอบด้วย เพศชายต่อเพศหญิง เป็น ๔๒ : ๕๘  มีช่วงวัยต่ำกว่า ๑๒ ปี ร้อยละ ๑.๘ ๑๒ – ๑๗ ปี ร้อยละ ๕๓.๖ และ ๑๘ – ๒๕ ปี ร้อยละ ๔๔.๖ 

กิจกรรมที่ดำเนินงานโดยส่วนใหญ่ เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านลงมาทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้แก่ การรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์วัยรุ่น (ร้อยละ ๔๒) การรณรงค์ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ (ร้อยละ ๒๖) การรณรงค์ป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น (ร้อยละ ๑๘) และการรณรงค์ป้องกันยาเสพติด (ร้อยละ ๑๓)

ข้อสังเกตจากคณะทำงานศึกษา

จากรายงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้นำเสนอเรื่องงานสภาเด็กและเยาวชน คณะทำงานศึกษาฯได้มีความเข้าใจและข้อสังเกตุต่อสภาพความเป็นจริงในระดับพื้นที่ปฏิบัติการว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับกลุ่มงานเด็กและเยาวชนดำเนินการอยู่นั้น มิได้มีกลิ่นอายของงานพัฒนาในมิติทางการเมืองโดยตรงแต่ประการใด

นอกจากนั้น เมื่อได้รับฟังเรื่องราวการทำงานของผู้นำสภาเด็กและเยาวชน จากเทศบาลเมืองหล่มสัก อบต.บุ่งน้ำเต้า อบต.เข็กน้อย และสภานักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล  คณะทำงานศึกษาฯพบสิ่งที่น่าประทับใจเมื่อเห็นเด็กทำงานเพื่อสังคมกันอย่างแข็งขัน สนุกสนานและมีความคิดสร้างสรรค์ เด็กที่เข้าร่วมกระบวนการและทำกิจกรรมต่างได้รับการพัฒนาให้เป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ (activist) ตามกรอบแนวคิด ภารกิจและงบประมาณสนับสนุนที่ส่งผ่านไปจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 18 ธ.ค. 2563