ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
เพื่อให้ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถขยายไปได้กว้างขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อใช้กับการดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาด้านอื่นซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน คณะทำงานศึกษาฯมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพันธกิจการพัฒนาเด็กและเยาวชนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการจัดทำแผนงาน-โครงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนระดับอำเภอทั่วประเทศ
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน “สภาเด็กและเยาวชน” ในฐานะกลไกการพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะและความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ควรจัดให้มีโครงสร้างงบประมาณสำหรับการพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชน ในจำนวนพอเพียง หรืออย่างน้อย ร้อยละ ๑๐ ของงบประมาณโครงการสำหรับกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาศักยภาพองค์กรและผู้นำสภาเด็กและเยาวชนทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง
เพื่อสานพลังการสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ควรผนึกกำลังทำงานเป็นแบบ “พันธมิตร” ที่เข้มแข็งทั้งในระดับนโยบาย ระดับแผนงานโครงการ ระดับบริหารจัดการ และเครือข่ายปฏิบัติการ
ภารกิจในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นงานของหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน จึงไม่ควรมองแบบแยกส่วน และไม่ควรผูกขาดการทำงานส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนว่าเป็นของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ควรมองว่าเป็นภารกิจร่วมที่หนุนเสริมเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ซึ่งการทำงานแบบเป็นพันธมิตรและผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานผู้สนับสนุนทั้งหลายเป็นสิ่งสำคัญตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ใน SDGs – ๑๗ ว่า “Partnership for the Goals”
การดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนยังอาจมีความเชื่อมโยงกับงานพัฒนาความเป็นพลเมืองและระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอื่น ๆ ใน ๔ ระดับ ซึ่งควรจะได้รับการบูรณาการกัน ได้แก่
ระดับที่ ๑ สภานักเรียน หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ควรมุ่งเน้นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการ “วิถีชีวิตประชาธิปไตย”ในชุมชนและโรงเรียน
ระดับที่ ๒ สภาเด็กและเยาวชน ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและระดับชาติ หน่วยรับผิดชอบหลัก คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้นำและเครือข่ายผู้นำ ในการทำประโยชน์ต่อสาธารณะส่วนรวมของชุมชนท้องถิ่นและบ้านเมือง เป็นประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ
ระดับที่ ๓ สภาองค์กรชุมชน หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ซึ่งควรเชื่อมโยงกับสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นและกลไกส่วนท้องที่ (กรรมการหมู่บ้าน) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสภาพลเมือง ที่เกิดจากความริเริ่มของประชาชนในระดับจังหวัดและเทศบาลต่าง ๆ จึงควรที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงาน
ระดับที่ ๔ กลไกส่งเสริมบทบาทเด็กและเยาวชน ของหน่วยงานองค์กรพี่เลี้ยงหรือแม่ข่ายอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ UNICEF มูลนิธิ สมาคม ฯลฯ
ควรมีการเฝ้าระวังผลกระทบอันไม่พึงประสงค์จากการต่อสู้ทางการเมืองในระดับชาติ เพราะเด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยของการศึกษา เรียนรู้และพัฒนาบุคลิกภาพ มีความอ่อนไหวและเปราะบาง จึงควรมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สังคมไทยยังอยู่ในภาวะแตกแยกทางการเมือง ซึ่งอาจมีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มุ่งหมายจะใช้เด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือ ดังนั้น ควรที่ผู้รับผิดชอบจะต้องเฝ้าระวังมิให้เกิดการแทรกแซงและหาผลประโยชน์จากความบริสุทธิ์หรืออ่อนประสบการณ์ของเด็กและเยาวชน ควรจัดภาวะแวดล้อมให้เด็กและเยาวชนได้มีพัฒนาการและเติบโตทางความคิดและอุดมการณ์ด้วยตนเอง.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 25 ธ.ค. 2563
