รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 51) “เครือข่ายคนฮักถิ่นจังหวัดอำนาจเจริญ”

ประชาสังคมจังหวัดอำนาจเจริญ ก่อตั้งและดำเนินการมา 18 ปี 

ความเป็นมา

เครือข่ายคนฮักถิ่น ก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2545 จากฐานทุนเดิมของคนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญที่เคยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ภายหลังความขัดแย้งทางอุดมการณ์เริ่มผ่อนคลาย กลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มนี้ได้ออกมาทำงานพัฒนาสังคม แต่ก็ทำอย่างกระจัดกระจาย แยกส่วน ไม่มีพลัง 

ต่อมาได้มีโอกาสรวมตัวกันอย่างจริงจัง ภายหลังการก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม หรือ กองทุน SIF – Social Investment Fund ที่ได้เข้ามาทำงานพื้นที่ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ  มีส่วนช่วยหนุนเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการตนเอง และสร้างแกนนำให้แก่ชุมชน ภาพของขบวนองค์กรชุมชนในอำนาจเจริญได้ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น 

ต่อมามีหลายองค์กรภาคีได้เข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญมากขึ้น เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ได้ช่วยสานงานให้เกิดเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการเครือข่ายพลังแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน  โครงการวิจัยชุมชน 200 อำเภอ  โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่  โครงการจัดทำแผนชุมชนบูรณาการร่วมกับ กศน. 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าไปสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด กระบวนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนประเด็นงานด้านทรัพยากร การจัดสวัสดิการชุมชน ฯ และการก่อเกิด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน เมื่อปี 2551  เป็นกลไกสำคัญสนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีกฎหมายรองรับการขับเคลื่อน  ขยายเครือข่าย และสามารถจัดตั้งสภาองค์กรตำบลครองคลุมทั้งจังหวัดได้สำเร็จในปี 2553  นับเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีพลัง

เป้าหมายขององค์กร

การรวมตัวของขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายในจังหวัดอำนาจเจริญที่เข้มแข็ง นำสู่การสร้างเครื่องมือในการพัฒนาใหม่ โดยการพัฒนากฎระเบียบที่ปกป้อง คุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างเวทีสาธารณะของคนหลายหมื่นคนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้ “ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ” 

มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญคนอำนาจเจริญจัดการตนเอง” เพื่อตุ้มโฮมคน ภูมิปัญญา หงายสุ่มปลดปล่อยอิสระ มุ่งสู่ความอยู่ดีมีสุข เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555  มีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี อำนาจเจริญจะต้องเป็น “เมืองธรรมเกษตร” คือเมืองแห่งการนำเอาธรรมะมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้เข้าไปอยู่ในจิตใจ ให้เป็นสังคมที่เป็นเกษตรปลอดภัยไร้สารพิษ  

ร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนของคนอำนาจเจริญอย่างบูรณาการ มีการจัดการระบบสังคม การเรียนการศึกษา “เพื่อชีวิต” นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ กับระบบการศึกษา สร้างหลักสูตรวิถีเกษตรวิถีธรรม ชุมชนมีส่วนร่วมจัดหลักสูตร และประเมินการเรียนการสอน เพื่อจัดการศึกษาที่ชุมชนต้องการ และสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้นอกโรงเรียน มีการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนให้รักถิ่นฐาน รักบ้านเกิด มีจิตสำนึกเรื่องจิตอาสา สร้างพื้นที่และส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอำนาจเจริญ สร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็ง และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำและสม่ำเสมอ

รูปแบบการรวมตัวมีส่วนร่วม

ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญทั้ง 7 อำเภอ 63 ท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมประสานขบวนและภาคีพัฒนาอื่น ๆ โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น  

1) จัดตั้งทีมยุทธศาสตร์เพื่อมองภาพรวมการขับเคลื่อนทั้งหมดของจังหวัดอำนาจเจริญ 

2) จัดตั้งทีมประสานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญเพื่อทำหน้าที่ยกระดับงานพัฒนา ติดตามผล ตลอดจนทำหน้าที่ประสานแกนกลางระดับจังหวัดกับพื้นที่ เป็น 1 : 3 : 5  

3) จัดตั้งทีมปฏิบัติการในพื้นที่ตำบลเพื่อขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในระดับตำบลอย่างเข้มข้น เป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำแผนชุมชนตำบลพึ่งตนเอง การจัดตั้งและพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล การจัดตั้งสภากลางตำบล การจัดทำธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ เป็นต้น 

นอกจากนั้นยังได้มีการผลักดันการจัดตั้ง “สภากลางจังหวัด” ซึ่งมีองค์ประกอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ๆ ละ 2 คน ตัวแทนหน่วยงานระดับจังหวัด ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการเมือง ฯลฯ เพื่อเป็นเวทีเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัด  

กิจกรรมเด่นขององค์กร

• ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ทำหน้าที่ยกระดับงานพัฒนา ติดตามผล ตลอดจนทำหน้าที่ประสานแกนกลางระดับจังหวัดกับพื้นที่ เป็นสูตร  1 : 3 : 5 คือ แกนประสาน 1 คน ดูแลประสานงาน 3 ตำบล ใน 3 ตำบลต้องจัดตั้งแกนนำอย่างน้อย 5 คน แกนนำตำบล 5 คน ต้องจัดตั้งแกนนำหมู่บ้าน 5 คน เพื่อให้การประสานการดำเนินงาน การสื่อสารข้อมูล ข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ งานลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน 

• หากมีองค์กร หรือหน่วยงานที่นำงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการทำงานแกนประสานจะทำหน้าที่วิเคราะห์ความเหมาะสม ความจำเป็นและคำนึงถึงการกระจายทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เมื่อมีความจำเป็นต้องปรึกษาหารือหรือตัดสินในร่วมกันก็จะมีการเรียกประชุมแกนนำสภาองค์กรชุมชนทั้ง 63 ตำบล/ท้องถิ่น เพื่อตัดสินในการงานร่วมกัน นอกจากนั้นเมื่อองค์กรสนับสนุนมีความจำเป็นต้องใช้องค์กรที่เป็นนิติบุคคลรองรับการจัดสรรงบประมาณ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญจึงได้จัดตั้ง “สมาคมคนฮักถิ่นอำนาจเจริญ” ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรรองรับงบประมาณอีกทางหนึ่งด้วย

กิจกรรมสำคัญผลงานเด่น

มีการทำงานร่วมกันของเครือข่ายผ่านประเด็นกิจกรรม 6 ฐานงาน ประกอบด้วยประเด็นเศรษฐกิจทุนชุมชน ประเด็นระบบสุขภาพ ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นสังคมและวัฒนธรรม ประเด็นการเมืองภาคพลเมือง และประเด็นสื่อชุมชน

• มีการจัดโครงสร้างองค์กรเป็นโครงข่ายประชาชนระดับจังหวัดในชื่อ “เครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดอำนาจเจริญ” เพื่อร่วมกันทบทวนปัญหาและบทเรียนการทำงานพัฒนา ตั้งเป้าหมายชุมชนเข้มแข็งที่แท้จริงด้วยการหันมาเน้นการพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐอยู่ตลอดเวลา

• มีการใช้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนา เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงาน ทั้งในระดับเครือข่ายใหญ่และระดับกลุ่มเครือข่ายเชิงประเด็นกิจกรรม (issue-based) โดยอยู่บนฐานการทำงานของแต่ละพื้นที่ตำบล (area-based) กล่าวคือ แผนพัฒนาของแต่ละกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนในเครือข่ายเชิงประเด็นในแต่ละพื้นที่

มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนท้องถิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย  และจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ได้ครอบคลุมทั้ง 63 พื้นที่ตำบล โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลถือเป็นกลไกสำคัญในการประสานการทำงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างองค์กรชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มีการนำแผนพัฒนาของแต่ละกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนในเครือข่ายเชิงประเด็นในแต่ละพื้นที่ ที่ได้จัดทำขึ้นจะเป็นไปในแนวทางตาม ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญพ.. 2553” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการทำงานอย่างเป็นเครือข่ายกัน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพึ่งพาตนเองในเครือข่ายก่อน เป็นโอกาสที่แผนพัฒนาของประชาชนได้เชื่อมโยงหรือบูรณาการเข้ากับแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม  

กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ 16 ตำบล มีเป้าหมายการรวมตัวเพื่อให้ส่วนราชการจัดทำกิจกรรมหรือบริการสาธารณะที่มุ่งผลในทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร แก้ไขปัญหาการตลาดให้กับเกษตรกรสมาชิกได้อย่างมาก ทั้งยังส่งผลสำคัญเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดไว้ ส่วนราชการจึงยอมรับบทบาทของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ และรับรองให้เป็นต้นแบบการรวมกลุ่มของเกษตรกร   

การจัดทำ “แผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต้นแบบอุตสาหกรรม เมืองธรรมเกษตร ปี พ.ศ. 2560-2564” เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญในขณะนั้นให้ความเห็นชอบ จึงกำหนดประเด็นการพัฒนาข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นตำแหน่งการพัฒนา (Positioning) ของจังหวัด และให้การมีส่งเสริมการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ให้เป็นประเด็นหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยรับเอาหลักการแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรที่มาจากประชาชนบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด และได้ถ่ายทอดลงสู่ระดับท้องถิ่นผ่านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด   

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 ม.ค. 2564