ความเป็นมา ประวัติการก่อตั้ง
กลุ่มบริษัทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นรวมตัวกัน 20 บริษัท จัดตั้งและจดทะเบียนเป็นบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) โดยมีเป้าหมายอยากส่งต่อเมืองขอนแก่นที่มีการพัฒนาให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะเชื่อว่าคนที่รู้จักปัญหาที่สุดคือคนในท้องถิ่น แต่การพัฒนาของประเทศไทยส่วนใหญ่กำหนดมาจากส่วนกลาง จึงมีความคิดอยากให้คนในท้องถิ่นสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และเป็นการลดภาระการสนับสนุนและช่วยเหลือต่าง ๆ จากส่วนกลาง อันเป็นที่มาของกลุ่มพัฒนาเมือง
โปรเจ็กต์ที่ดำเนินการอยู่จะเป็นการทำงานร่วมกัน ทั้งส่วนปกครองท้องถิ่น ส่วนของจังหวัด และภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆในจังหวัดขอนแก่น การจัดตั้งบริษัทฯขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการค้นคว้า หาข้อมูล หรือวิธีการทำงานร่วมกับทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด รวมไปถึงการที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนการประชุมร่วมกัน ทุกอย่างต้องดำเนินการผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และทุกโครงการจะมีการทำงานร่วมกัน

แนวคิดและผลงานรูปธรรมขององค์กร
ใช้แนวคิดตามรูปแบบ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ คือ ทำงานร่วมกันทั้ง 3 ภาค คือภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ภาครัฐซึ่งก็คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด และภาคการศึกษาที่ช่วยในการทำงานและการขับเคลื่อนโครงการไปได้
โปรเจ็กต์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็คือเรื่องของ ‘ซิตี้บัส’ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘Smart bus’ ซึ่งรถบัสเป็นที่เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ วิ่งอยู่ในเมืองสายหนึ่ง วิ่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกสายหนึ่ง มีแอพพลิเคชันที่ผู้โดยสารสามารถดูได้ว่าตอนนี้รถบัสวิ่งอยู่ที่ไหนแล้วเพื่ออำนวยความสะดวก
เรื่องของศูนย์ประชุมที่ชื่อว่า KICE มีการขับเคลื่อนแล้วก็มีคนเห็นประโยชน์และได้สร้างให้มีศูนย์ประชุมระดับชาติเกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น
โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา ที่ขับเคลื่อนจนเกิดบริษัทที่ทางเทศบาลท้องถิ่นจดทะเบียนในชื่อ ‘บริษัท ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม’ ขึ้นมา ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ได้สิทธิในการที่จะดำเนินการรถไฟฟ้ารางเบาภายในพื้นที่ของเมืองได้
รูปแบบการมีส่วนร่วม-การรวมตัว
เน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนต้องมีการเปิดใจฟังในทุกมิติ มีการพูดคุย คิดหาไอเดียของแต่ร่วมกัน และสามารถเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาต่อได้ ทำให้ประเทศก้าวไปเร็วขึ้น
ตัวอย่างโครงการภูเก็ตพัฒนาเมือง หรือเชียงใหม่พัฒนาเมือง ต่างก็ไม่ใช่คู่แข่งของขอนแก่น แต่คือพันธมิตร ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ มีแนวคิดร่วมกัน อยากเห็นแต่ละเมืองในประเทศไทยเกิดการพัฒนาเมืองร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “เมกะโปรเจ็กต์” หรือรถไฟรางเบาขนส่งมวลชนที่ย่อมมาพร้อมกับคำว่าเอื้อประโยชน์ ผลประโยชน์นายทุนหรือเปล่า เพราะการพัฒนาเมืองมีผลกระทบกับนักธุรกิจรถยนต์บ้าง แต่หากการพัฒนาเมืองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจรถยนต์ก็จะโตตามไปด้วยเช่นกัน ประชาคมขอนแก่นก็ต้องมาดูว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นยั่งยืนกับทุกฝ่ายด้วย
ผลงานเด่น ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้
เป้าหมายคือการส่งมอบเมืองที่น่าอยู่ ที่เจริญเติบโต ให้กับลูกหลานคนขอนแก่นต่อไปในอนาคต ก่อนทุกคนจะย้ายเข้าไปที่กรุงเทพฯหรือไปที่ส่วนกลางกันหมด แต่ถ้าเมืองขอนแก่นมีสภาวะแวดล้อมที่ดี มีงานที่ดี ทุกคนก็สามารถทำงานที่จังหวัด ได้อยู่ใกล้บ้าน อยู่ใกล้ครอบครัว ปัญหาสังคมต่าง ๆ ก็จะน้อยลง ต้องการพัฒนาโครงสร้างของเมืองให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับให้คนรุ่นหลังอยู่แล้วมีความสุข
การเป็น “Smart City” เป้าหมายคือคำว่าความสุขถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทุกคนต้องการมีความสุข ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจ เปิดใจ และรับฟังในสิ่งที่จะพัฒนาต่อไปร่วมกันได้
Smart City ของขอนแก่น โครงสร้างมี ๖ ด้าน คือ Smart Mobility, Smart Living, Smart Economy, Smart Citizen, Smart Governance และ Smart Environment
มองโครงสร้างก่อนที่จะมาเป็น Smart City เช่น ระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่เติบโตเฉพาะระบบไอทีด้านเดียว แต่ปัจจัยหลักที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขได้ คือเรื่องของการเดินทางและที่อยู่อาศัย และใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยเสริม หากเป็นเมืองที่ทันสมัย มีปัญหารถติดในย่านธุรกิจ ประชาชนก็จะหาความสุขไม่ได้ จึงเล็งไปที่การวางผังเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ ไฟฟ้ารางเบา สมาร์ทบัส สมาร์ทสองแถว ที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างเป็นโครงข่ายเพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตของคนเมืองสะดวกมากยิ่งขึ้น
ปัญหา อุปสรรค
สภาพปัญหาหลัก คือความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะทำยังไงถึงจะเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนขอนแก่นในทุกภาคส่วนจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ ปัจจุบันส่วนราชการก็เดินแบบราชการ มีโปรเจ็กต์แบบราชการ เอกชน ภาควิชาการ ประชาชนต่างคนต่างเดิน ไปคนละทิศคนละทาง ทุกคนเสียแรงและเกิดการต้านแรงกัน ทำให้จังหวัดไม่ไปในทิศทางหรือความเร็วที่ถูกต้อง
ความท้าทายก็คือการรวมตัวกัน กลุ่มฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน กับทั้งทางภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่สภาธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เอสเอ็มอีต่างๆ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ก็ยังมีภาคประชาชน ทั้งกลุ่มเอ็นจีโอ
กลุ่มฯ ไม่ต้องการให้การมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นแทนที่แล้วสิ่งเก่าต้องตายไป เพราะคงไม่ถือว่าเป็น “Smart City” แต่เชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ร่วมกันได้ จึงกำลังเกิดการ ‘โสเหล่’ หรือการพูดคุยหาข้อสรุปกันกับรถสองแถว เพื่อหาจุดร่วมประสานจุดต่างให้ลงตัว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 4 ก.พ. 2564