รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 64) ” วัฒนธรรมทางการเมือง บนฐานประชาธิปไตยชุมชน “

การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภารกิจในการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่มีคุณภาพ-คุณธรรม 

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่คุณภาพของประชาชนพลเมือง เพราะคุณภาพของผู้แทนราษฎรล้วนเป็นภาพสะท้อนจากคุณภาพของประชาชนพลเมืองผู้ที่เลือกเขา. ที่ผ่านมาสังคมมักกล่าวหาผู้แทนราษฎรว่าไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความซื่อสัตย์ซื่อตรง ไม่มีวุฒิภาวะ ฯลฯ โดยลืมไปว่า “ใครเล่าเป็นคนเลือกพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทน”. ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า คุณภาพหรือคุณลักษณะของประชาชนผู้เป็นคนใช้สิทธิ์ลงคะแนนแบบไหน จึงจะได้ผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มีคุณภาพตามที่สังคมอยากเห็น.

วัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศมีปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งอยู่ที่การมีประชาธิปไตยชุมชนในระดับฐานล่างที่แผ่กว้างที่สุดและมีคุณภาพเข้มแข็งที่สุด. การส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงหรือกระบวนการชุมชนเข้มแข็งต้องเป็นมาตรการหลักที่ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรภาคี จะต้องสานพลังทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ ประดุจ “รวมแสงแสงเลเซอร์”.

ผลจากกระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งขององค์กรภาคี ในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ในด้านปริมาณ มีจำนวนองค์กรชุมชน 24 ประเภท 266,155 องค์กร ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากและหลากหลายเพียงพอแล้ว แต่ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวน คือ การพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชนที่มีอยู่เหล่านี้ทั้งหมดให้มีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในระยะเวลาที่ไม่เร่งรัดจนเกินไป.

ความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพขององค์กรชุมชน

ตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 องค์กรภาคี 33 หน่วยงาน ได้มีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2567) จะรวมพลังการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชนในส่วนของตนให้มีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ อย่างน้อยร้อยละ 60”

จากงานวิจัยเชิงสำรวจของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เมื่อปี 2542 ซึ่งทำการประเมินความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน จากฐานข้อมูลองค์กรชุมชน 42,000 องค์กร ขณะนั้นพบว่าจำนวนองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งในเชิงคุณภาพ มีเพียงแค่ร้อยละ 13 เท่านั้น

ในขณะที่ข้อมูลปี 2560/2561 จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  พบว่าจากจำนวนองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 249,404 องค์กร มีสัดส่วนองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ร้อยละ 31.76  จึงสามารถมองเห็นสถานการณ์แนวโน้มที่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับเวลา

ดังนั้น  สิ่งที่ต้องการคือการเร่งพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัญหาของบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 16 มี.ค. 2564