รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 65) “ข้อเสนอนโยบายเสริมสร้างประชาธิปไตยในวิถีชุมชน “

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บูรณาการชุมชนเข้มแข็งระดับตำบล 

เป้าหมายคือทำทุกวิถีทางเพื่อให้องค์กรชุมชนในพื้นที่ตำบลของตน ทุกประเภท ทุกองค์กรมีพัฒนาการให้เกิดความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพกันโดยถ้วนหน้า ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายว่า ร้อยละ 60 ขององค์กรชุมชนในตำบลมีความเข้มแข็ง ภายในระยะเวลา 5 ปี และเร่งดำเนินการให้บรรลุผลตามนั้น. 

กลไกบูรณาการชุมชนเข้มแข็งระดับอำเภอ-จังหวัด

องค์กรชุมชนในระดับอำเภอ-จังหวัด โดยเฉพาะส่วนที่มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อันได้แก่ กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด และศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด ควรมีแผนงานโครงการในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนองค์กรชุมชนเข้มแข็งในลักษณะเชิงรุก โดยต่อเนื่องกันไป 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีองค์กรชุมชนที่มีคุณภาพเข้มแข็งในพื้นที่ทุกจังหวัด-อำเภอ ทุกประเภทไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ตามเป้าหมาย. 

กลไกในระดับชาติที่มีภารกิจสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ

เนื่องจากชุมชนเข้มแข็งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่แทรกอยู่ในแผนแม่บทการปฏิรูปประเทศเกือบทุกแผน รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานระดับชาติที่เป็นแม่ข่ายชุมชนเข้มแข็ง ทุกประเภท ควรบรรจุเป็นแผนงาน/โครงการประจำ เพื่อจัดหางบประมาณสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนเข้มแข็งในส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและหวังผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งมีมาตรการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นมาตรการเสริม เพื่อเป็นแรงจูงใจเพื่อให้องค์กรชุมชนในเครือข่ายของตนทุกประเภท ทุกองค์กร มีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพอย่างน้อยร้อยละ 60 ตามเป้าหมาย

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

ในมิติของการพัฒนาประเทศและการพัฒนาพื้นที่ องค์กรชุมชนเข้มแข็งเป็นทั้งเป้าหมายปลายทางและเป็นกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติและ SDG’s 

ในมิติของการพัฒนาประชาธิปไตย  องค์กรชุมชนเข้มแข็งและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นทั้งแนวทาง (mean) และเป้าหมาย (end) ของการพัฒนาระบอบและวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและคุณธรรม

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมประชาธิปไตยชุมชนและการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นฐานรากของการพัฒนาประเทศและพัฒนาระบบการเมืองการปกครอง

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลควรต้องระมัดระวังนโยบายที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อกระบวนการชุมชนเข้มแข็งด้วย ไม่แจกเงินแบบประชานิยมอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ให้ความช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์ที่ลดทอนศักดิ์ศรีและการพึ่งพาตนเอง ไม่สนับสนุนโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชน.    

ข้อเสนอแนะต่อรัฐสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

รัฐสภาในฐานะที่เป็นกลไกด้านนิติบัญญัติและองค์กรอิสระในฐานะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทน ควรตระหนักว่าประชาธิปไตยของประเทศ มิได้มีแต่ประชาธิปไตยของนักการเมืองระบบตัวแทนเท่านั้น  ควรคำนึงถึงความสำคัญและบทบาทขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมด้วยว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการเมืองใหญ่ของประเทศ.

ดังนั้น การพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ ควรจะเพิ่มมิติผลกระทบทางบวกต่อกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง  ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังมิติที่เป็นผลกระทบทางลบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับกติกาของนักการเมือง ควรส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยร่วมไปกับภารกิจขององค์กรตามศักยภาพ.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 20 มี.ค. 2564