กฎหมายประชาสังคมในสวีเดน
ประเทศสวีเดน มีองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนประมาณ ๒๐,๐๐๐ องค์กร ส่วนใหญ่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ปี ๒๐๑๐ รัฐบาลสวีเดนได้เห็นชอบกฎหมายชื่อ “A policy for civil society” มุ่งให้ความสำคัญต่อองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น มุ่งพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณร้อยละ ๒๙ ให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมในสวีเดน ส่วนอีกร้อยละ ๖๒ เป็นเงินที่องค์กรภาคประชาสังคมหามาได้จากค่าธรรมเนียมสมาชิก เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ และอีกร้อยละ๙ เป็นเงินบริจาค
ในปีงบประมาณ ๒๐๑๑ รัฐบาลสวีเดนได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ๗,๕๐๐ โครเนอร์ หรือราว ๕,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
กฎหมายประชาสังคมในอังกฤษ
รัฐบาลประเทศสหราชอาณาจักร มีนโยบายในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคมมาเป็นเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่ง ปี ๑๙๙๓ ในขณะที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจ จึงได้ออกกฎหมายว่าด้วยล๊อตเตอรี่แห่งชาติ(National Lottery Act) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร้อยละ ๒๘ ของเงินรายได้จากการจำหน่ายล๊อตเตอรรี่ มาใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ผ่านการดำเนินงานของกองทุนชื่อ “กองทุนจัดสรรเงินรายได้จากล๊อตเตอรรี่แห่งชาติ” (National Lottery Distribution Fund :NLDF)
ในปี ๒๐๑๑ – ๒๐๑๓ กองทุนดังกล่าวได้จัดสรรงบประมาณร้อยละ ๙๒ให้โครงการขององค์กรภาคประชาสังคม หรือ กลุ่มองค์กรสาธารณกุศล องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านชุมชนและอาสาสมัคร จำนวนมากถึง ๑๒,๐๐๐ โครงการ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง ๖๗๐ ล้านปอนด์ ( ๓๕,๙๐๐ ล้านบาท) เป็นโครงการสนับสนุนองค์กรสาธารณกุศล งานด้านเสริมสร้างสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
กฎหมายประชาสังคมในฮังการี
ประเทศฮังการี ในปี ๒๐๐๒ รัฐบาลเห็นชอบยุทธศาสตร์ว่าด้วยภาคประชาสังคม รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนภาคประชาสังคม มีการเสนอกฎหมายสนับสนุนกิจกรรมอาสาสมัคร รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณรัฐเพื่อสนับสนุนรายได้ของภาคประชาสังคม ผ่านหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่น
ในปี ๒๐๐๓ รัฐบาลได้จัดตั้ง “กองทุนภาคประชาสังคมแห่งชาติ” (National Civil Fund) มีวัตถุประสงค์ต้องการสนับสนุนภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งและสร้างกลไกสนับสนุนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของภาคประชาสังคมเป็นการเฉพาะ
กฎหมายประชาสังคมในญี่ปุ่น
- ประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมายสนับสนุนภาคประชาสังคมชื่อว่า “กฎหมายว่าด้วยการสนับสนุนกิจกรรมที่ไม่แสวงหากำไร” (Law to Promote Specified Nonprofit Activities) ปี ๑๙๙๘ แก้ไขปรับปรุงปี ๒๐๐๓ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมในลักษณะไม่แสวงหากำไร ในรูปแบบของงานอาสาสมัครและกิจกรรมอื่นๆ ที่ดำเนินการอย่างเสรีโดยพลเมืองชาวญี่ปุ่น เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
- หลักการสำคัญของกฎหมาย มี ๒ ประการ คือ ๑)องค์กรไม่แสวงกำไร ไม่ดำเนินการเพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคล ๒) ต้องไม่ถูกใช้โดยพรรคการเมือง
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
รัฐบาลควรมีนโยบายในการส่งเสริมบทบาทองค์กรภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและผลักดันร่างพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ….ต่อไป คณะอนุกรรมาธิการฯเสนอแนะว่า ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ควรมีลักษณะที่มุ่งไปที่การทำให้องค์กรภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนสังคมให้เป็นธรรมและยั่งยืน
โดยดำเนินการ ดังนี้
สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้มีศักยภาพ ความเข้มแข็งและธรรมาภิบาล มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ
พัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ในการพัฒนากฎหมาย มาตรการ กลไก และร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และจังหวัด
สื่อสารสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของบทบาทภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศ
สนับสนุนให้มีมูลนิธิและหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประเภทเงินให้เปล่า หรือเงินอุดหนุนโครงการพัฒนา ได้มีกองทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีศักยภาพที่จะให้การสนับสนุนทุนการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมร่วมกัน โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ภาครัฐสามารถสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาองค์กรภาคประสังคมได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัย การพัฒนาศักยภาพคนทำงานขององค์กรภาคประสังคม
เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมดำเนินการในเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะแทนหน่วยงานของรัฐ เช่น การดูแลผู้ด้อยโอกาส การดูแลผู้หญิงที่ถูกทำร้าย การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลสถานสงเคราะห์ต่างๆ การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ เช่น การพัฒนาชุมชน การรับฟังความคิดเห็น/ ประชาพิจารณ์ การจัดทำแผนระดับต่างๆ โดยรัฐเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณและเอื้ออำนวยทางกฎระเบียบและสิ่งอำนวยความสะดวก
เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม แข่งขันกับภาคธุรกิจในการรับจ้างทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะธุรกิจเพื่อสังคมเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม แข่งขันกับภาคธุรกิจในการรับจ้างทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะธุรกิจเพื่อสังคม
พัฒนาความรู้และทักษะการจัดการ เทคโนโลยี ช่องทางการสื่อสารให้กับองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญลุ่มลึกเฉพาะด้าน เช่น ด้านทรัพยากร ด้านเด็ก ด้านสตรี แต่ขาดทักษะข้างต้น
พัฒนาขีดความสามารถคนทำงานที่ต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ความชำนาญที่มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของภาคประชาสังคมมีเสถียรภาพในการขับเคลื่อนงาน เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน ชุมชน สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างยั่งยืน
เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนและภาคประชาสังคมในการจัดทำแผนพัฒนาในทุกระดับ
มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ในรูปของกองทุนสนับสนุนภาคประชาสังคม หรือแบ่งรายได้จากการขายสลากกินแบ่งส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ หรือ มีการออกสลากกินแบ่งเพื่อนำรายได้มาเข้ากองทุนเพื่อให้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ในลักษณะของกองทุนจัดสรรายได้จากสลากกินแบ่ง โดยจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรภาคประชาสังคม หรือกลุ่มองค์กรสาธารณกุศล องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านชุมชน และอาสาสมัครในลักษณะของโครงการด้านเสริมสร้างสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 มี.ค. 2564