การมีส่วนร่วมของประชาชนนับเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของกระบวนการประชาธิปไตย สังคมมีความคาดหวังให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม วุฒิสภาได้ทำการศึกษาสถานการณ์ของ (ร่าง) พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ค้างอยู่ในขั้นตอนและกระบวนการทางนิติบัญญัติ จำนวน 3 ฉบับ เพื่อติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดผลักดัน

ผลการศึกษา พบดังนี้
พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ
- สาระสำคัญของกฎหมาย มุ่งรับรองสิทธิ์ของประชาชนในการรับทราบข้อมูลข่าวสารโครงการพัฒนาที่จะมีผลกระทบต่อชุมชน และสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นในการพัฒนา ให้หน่วยงานมีหน้าที่สนับสนุน ถ้าหน่วยงานไม่ทำ ประชาชนมีสิทธิ์ร้องต่อคณะกรรมการ รวมทั้งมีบทลงโทษ
ในร่างฉบับนี้ ระบุให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธาน มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยให้เป็นหน่วยงานราชการภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับงบประมาณจากระบบปกติของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
น่าสังเกตว่า ร่างพรบ.ฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาหลายรอบ ล่าสุดครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงแก้ไข
จึงมีข้อเสนอแนะให้เร่งรัดการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งก่อนส่งต่อให้รัฐสภาดำเนินการตามขั้นตอน
พรบ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
สาระสำคัญของกฎหมาย มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและสำนึกการเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ต่อต้านทุจริต ใช้สิทธิ์ทางการเมืองยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและนักการเมืองมีความซื่อสัตย์สุจริต
ระบุให้จัดตั้งสำนักงานเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีสถานะเป็นหน่วยราชการภายในของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดให้มีสถาบันการศึกษาทางการเมืองในรัฐสภาทำหน้าที่เป็นหน่วยอบรมให้ความรู้ มีภารกิจและกิจกรรมหลัก ได้แก่ การสร้างหลักสูตรประชาธิปไตย สร้างวิทยากรหลักระดับครู ก.ข.ค. อบรมนักการเมือง ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิ์ใช้เสียงและพัฒนาประเทศ ครม.มีหน้าจัดงบประมาณอุดหนุน รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยรับโอนทรัพย์สินจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตาม พรบ. สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่ารัฐบาลมีความล่าช้ามาก ประชาชน 14,460 คนนำโดยเครือข่ายสภาประชาสังคมไทย ได้รวบรวมรายชื่อ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อประธานรัฐสภาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรควรให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้
พรบ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา กฎหมายฉบับนี้มีพัฒนาการในเรื่องกลไกสนับสนุนมาตลอดระยะ โดยฉบับปี ๒๕๔๒ กำหนดให้สำนักงาน กกต.เป็นกลไกสนับสนุน ต่อมาในฉบับปี ๒๕๕๖ กำหนดให้ สภาพัฒนาการเมือง สำนักงานปฏิรูปกฎหมาย และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (3 หน่วยงาน) ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช.ในปี ๒๕๕๙ ได้ยุบเลิกสภาพัฒนาการเมือง และสำนักงานปฏิรูปกฎหมาย คงเหลือแต่เพียงสำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎรหน่วยเดียวเท่านั้นที่ดูแลเรื่องนี้
กฎหมายฉบับนี้ควรให้ความสำคัญต่อการมีกลไกสนับสนุนในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องหน่วยธุรการ เนื่องจากมีบางเรื่องบางประเด็นที่ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในความเป็นกลางของภาครัฐ ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือภาคเอกชน หรือแม้แต่องค์กรมหาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาช่วยงานธุรการได้ในบางเรื่อง
หมายเหตุ บัดนี้ รัฐสภาได้พิจารณาและผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 30 มี.ค. 2564