ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (2) “วัคซีนโควิด คุ้มกันเศรษฐกิจ-สังคม”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (2) “วัคซีนโควิด คุ้มกันเศรษฐกิจ-สังคม”

ในช่วงนี้คงไม่มีอะไรจะร้อนแรง(hot)เท่าแอพพลิเกชั่น “หมอพร้อม” ที่เริ่มเปิดรับการขึ้นทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพียงเปิดรับวันแรกก็มีคนเข้าจองแล้วถึง 3.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรชนชั้นกลางในเมือง ทำเอาระบบล่มไปเลย แต่ไม่ต้องกังวลครับ การทดสอบนี้ทางการกำลังนำไปปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น. 

ส่วนประชากรในชนบทต่างจังหวัดนั้นง่ายกว่ามาก เพราะพี่น้อง อสม.เขาออกเดินสำรวจล่วงหน้าไปแล้วเมื่อเดือนก่อน เมื่อนำมาตรวจเช็คกับฐานข้อมูลการเข้ารับรักษาระบบบัตรทอง ช่วยประชาชนกว่า 95 % สามารถเข้าถึงวัคซีนโดวิดได้แน่นอน นี่คือระบบสาธารณสุขของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องชมเชยไปทั่วโลกว่า ประสบความสำเร็จด้วยงบประมาณน้อยและใช้เทคโนโลยีพื้นฐานที่เรียบง่าย.

เบื้องหลังความสำเร็จแท้จริงอยู่ที่ภาวะการนำของนายกรัฐมนตรี ที่รับฟังการประเมินสถานการณ์แนวโน้มการระบาดและตัดสินใจบริหารจัดการตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความเป็นอิสระในวิชาชีพระดับสูง แทนที่จะปล่อยให้บริหารจัดการด้วยระบบการเมืองตามวิถีปกติ. 

รวมทั้งการตัดสินใจออกมาตรการ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาระหว่างพรรคการเมืองในรัฐบาลผสม และระหว่างส่วนราชการต่างกระทรวงที่ต้องทำงานร่วมกัน  แต่ทว่าเรื่องนี้กลับทำให้เกิดเรื่อง“ดราม่าทางการเมือง” ที่คอยดิสเครดิตและสร้างความสับสนจากสื่อโซเชียลของกลุ่มการเมืองฝ่ายแค้นไม่หยุดหย่อน.

สำหรับโควิดระลอก 3  ระบาดรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมเป็นร้อยเป็นพันเท่า สถานการณ์โควิด เมื่อ 30 เมษายน 2564 ทั่วโลกป่วย 152 ล้านคน เสียชีวิต 3.2 ล้านคน ศูนย์กลางการระบาดย้ายมาอยู่ที่ประเทศอินเดียซึ่งอยู่ใกล้บ้านเรามาก สถิติป่วยสูงสุดกว่า 4 แสนคนและตาย 3,500 คนต่อวัน ดังได้เห็นภาพข่าวการเผาศพควันโขมงตามท้องถนนและลานจอดรถ เป็นที่เอน็จอนาจยิ่ง. 

ส่วนในบ้านเรา โควิดระลอก 1 แต่ละวันมีผู้ป่วยใหม่เป็นหลัก 10  ในระลอก 2 เพิ่มเป็นหลักร้อย คราวนี้ระลอก 3 มีรายงานเป็นหลักพัน วันละ 2-3 พันคน ระบบบริการสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยทุกโรค อาจจะล่มสลายลงในวันใดวันหนึ่ง ถ้ามีผู้ป่วยโควิดเข้าไปจองกันเต็มโรงพยาบาลหมด  ทางรัฐบาลจึงต้องเตรียมโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวสังเกตอาการชั่วคราว(Hospitel) เข้ามาเสริม ดังที่ได้เคยกล่าวไว้บ้างในจดหมายฉบับที่แล้ว.

ในสถานการณ์เช่นนี้ วัคซีนจึงเป็นความหวัง ทุกประเทศต่างมุ่งไปที่การจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนของตนให้ครอบคลุมมากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  วัคซีนโควิดจึงไม่ได้มีความหมายแค่การป้องกันโรคส่วนบุคคล แต่ยังหมายถึงการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั่วโลก ให้สามารถกลับฟื้นอีกด้วย.

ประเทศเล็กๆที่มีประชากรน้อยย่อมสามารถจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้ง่าย ส่วนประเทศใหญ่และขนาดกลางแบบเราก็ยากหน่อย ขณะนี้ทั่วโลกรับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 595.2 ล้านคน คิดเป็น 7.6%ของประชากรเท่านั้น สำหรับประเทศไทยรัฐบาลมีเป้าหมายกระจายวัคซีนอย่างถ้วนหน้าให้ได้อย่างน้อย 70% ก่อนสิ้นปี 2564 ประชาชนจึงต้องร่วมมือกัน.

ในเรื่องนี้ มีสิ่งที่ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ น่าจะแสดงบทบาท

1.เตรียมข้อมูลกลุ่มประชากรที่ยากลำบาก  ประชากรกลุ่มนี้มักจะตกสำรวจจากระบบราชการทุกครั้ง ช่วยให้เขามีโอกาสได้รับวัคซีนด้วย ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ข้อมูลผู้ยากลำบากเหล่านี้มีประมาณ 120,000 คน ศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด(ศปจ.)และเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ของท่านเคยเดินสำรวจและให้การช่วยเหลือดูแลมาตั้งแต่ปี 2561

2.สื่อสารสร้างความเข้าใจและเจตคติที่ดี  ทั้งเรื่องวัคซีนและมาตรการด้านสาธารณสุขทั้งหลาย ทั้งต้องให้ความร่วมมือกันอย่างพร้อมเพรียงเข้มแข็ง รวมทั้งกิจกรรมการกุศล เช่น ตู้ปันสุข โรงทานชุมชน ฯลฯ

3.สร้างแบบอย่างการรับวัคซีนด้วยอารยะ   การอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนในวันมารับวัคซีน  การจัดระบบสวัสดิการสนับสนุนทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ ช่วยกันรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดภาพพจน์ “รูปแบบการรับวัคซีนอย่างผู้มีอารยธรรม” เป็นศักดิ์ศรีของชุมชนท้องถิ่นบ้านเรา.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป. 

สมาชิกวุฒิสภา  / 3 พฤษภาคม 2564.