MENU

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (3) “เปลี่ยนการเมืองไทย ด้วยประชาธิปไตยท้องถิ่น”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (3) “ เปลี่ยนการเมืองไทย ด้วยประชาธิปไตยท้องถิ่น”

“การเมือง” เป็นสมรรถนะของประเทศในการบริหารจัดการทรัพยากร อำนาจและผลประโยชน์ของชาติ. 

ประเทศใด ยุคใดที่การเมืองลงตัว ย่อมมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรือง สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่เราได้คุยกันถึงกรณีตัวอย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี.

น่าสงสารประเทศไทย สู้ภัยโควิดจนเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส การเมืองอุบาทว์-น้ำเน่ายังก่อปัญหาชวนทะเลาะไม่หยุดหย่อน. ทำให้“ขบวนปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน”ยังต้องคอยติดตามสนับสนุนการจัดการปัญหาตามข้อเสนอ “มรรค 8 สันติ-สมานฉันท์”อย่างใกล้ชิด.

ส่วนด้านการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทย เมื่อตรวจดูปฏิทินการเมืองล่วงหน้าไปจนถึงปี 2575 จะมีอีเว้นท์การเลือกตั้งใหญ่ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ทุก 4 ปี รวม 2-3 รอบ แต่ละครั้งแต่ละรอบจะสามารถเปลี่ยนการเมืองแบบเก่าได้หรือไม่. 

ด้านหนึ่งเปลี่ยนที่(อำนาจ)นักการเมืองตัวแทน  อีกด้านหนึ่งเปลี่ยน(จิตใจ)ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย.

เป้าหมายในระดับชาติ อยู่ที่การเปลี่ยน“องค์ประกอบ”ของรัฐสภา (คือ ส.ส.500 คนและ ส.ว.200 คน) ทำอย่างไรจะมีนักการเมืองวิถีใหม่เป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเปลี่ยนคุณภาพ“องค์รวม” นำพารัฐสภาให้ก้าวพ้นไปจากบรรยากาศของสมรภูมิสงครามวาทกรรมในปัจจุบัน ที่มุ่งใช้ hate speech และ fake news เป็นอาวุธด่าทอทำลายล้างกัน ปิดโอกาสสิ่งสร้างสรรค์ทุกชนิด สะสมความเครียด โรคมะเร็ง หัวใจ ความดันสูง เป็น“ทุกขภาวะ”อย่างยิ่ง. 

ส่วนเป้าหมายในระดับท้องถิ่น อยู่ที่การเปลี่ยนทีมบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างท้องถิ่นวิถีใหม่-ท้องถิ่นธรรมาภิบาล ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น.

กำหนดวันเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ  27 มิถุนายน 2564 ไล่เข้ามาทุกที  ถึงเวลาที่เครือข่ายวิถีใหม่ทุกขบวน (การเมืองวิถีใหม่ สภาประชาสังคมไทยและท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่) ในทุกจังหวัด ต้องตัดสินใจว่ามีใครจะเสนอตัวลงแข่งขันในครั้งนี้บ้าง ในพื้นที่ใด เตรียมทีมงานและวางแผนรณรงค์ เพื่อก้าวเดินลงสู่สนามด้วยความมั่นใจ.  

ในชั้นนี้ ผมมีข้อแนะนำบางประการสำหรับผู้ขันอาสาทำงานการเมืองในวิถีใหม่ทั่วประเทศ

ประการแรก  ชูธง “กล้าสู้ กล้าเอาชนะ” ในทุกเวทีประลองยุทธ์.   

นั่นหมายถึงเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่พร้อมใจกันประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นว่า เราจะเข้าร่วมแข่งขัน-รณรงค์การเมืองท้องถิ่นด้วยแนวทาง “การเมืองเชิงศีลธรรม”  เป็นการส่งสัญญาณแนวทางการเมืองแบบใหม่ให้ประชาชนได้รับรู้ จดจำและเกิดประกายความหวัง.

ประการที่สอง  ยึดมั่นแนวทาง “สู้พลังเงิน ด้วยพลังคุณธรรม”.  

กล่าวคือ เราจะสู้การเมืองน้ำเน่า ด้วยการเมืองที่ใสสะอาด จะสู้กับทุจริตกลโกง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เคารพกติกา เคารพประชาชน  จะสร้างความแตกต่าง(differentiate) ให้ประชาชนได้เกิด “ภาพจำ” เป็น“อัตลักษณ์”ของขบวนการเมืองวิถีใหม่.

ประการที่สาม  เดินหนทาง “บินสูงระดับอำเภอ เพื่อชัยชนะที่ตำบล”.  

การขยายเพดานบินให้สูงขึ้น จะช่วยให้แสดงบทบาทได้หลากหลาย การทำงานหนักในพื้นที่วงกว้างจะช่วยให้ผู้คนเห็นผลงานได้ง่าย.

ประการที่สี่  ถือหลัก “ชนะทางยุทธศาสตร์ (ภาพรวม) สำคัญกว่าชนะทางยุทธวิธี (ปัจเจก) ”.  

กล่าวคือ พึงตระหนักว่า เราเริ่มจากสองมือเปล่า แต่หาญกล้านำพลังศีลธรรมไปสู้กับอิทธิพลและเงินตรา.  ถ้าจะแพ้ก็ขอแพ้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและชนะใจคนดู  เรียกว่า “แพ้ทางยุทธวิธี แต่ชนะทางยุทธศาสตร์” เช่นนี้ย่อมมีโอกาสแก้มือ.

ในทางตรงกันข้าม ถ้ามุ่งใช้ทุกวิถีทาง ชนะมาได้อย่างมีข้อกังขา บอบช้ำไปทั้งตัว ครอบครัว-วงศ์ตระกูลได้รับผลกระทบ เดือดร้อน แบบนี้เรียกว่า “ชนะทางยุทธวิธี แต่แพ้ในทางยุทธศาสตร์”  ถือเป็นชัยชนะที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ยั่งยืน ไม่มีคุณค่าทางศีลธรรม.

ปักธงการเมืองเชิงศีลธรรม สร้างท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ให้ประชาชนทั่วประเทศมีความหวังและกำลังใจครับ.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป. 

สมาชิกวุฒิสภา  /  10 พฤษภาคม 2564.