MENU

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (4) “พลังพลเมือง พลังทางศีลธรรม”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (4) “พลังพลเมือง พลังทางศีลธรรม”

สังคม คือ องค์รวมของการอยู่รวมกันของมนุษย์ โดยมีลักษณะความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหลายรูปแบบ มีวัฒนธรรมหรือประเพณี รวมถึงภาษา การละเล่นและอาหารการกินของตนเองในแต่ละสังคม. 

พลังทางสังคมและพลังทางศีลธรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการ “อยู่รอด”และ “อยู่เย็นเป็นสุข”ร่วมกันของสังคมมนุษย์ ยิ่งโลกยุคปัจจุบันมีปัญหาวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่สลับซับซ้อน ต้องอาศัยพลังทางปัญญาจากสังคมเข้ามาช่วยแก้ไข.

ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี  ได้พูดถึงพลังทางสังคม พลังพลเมือง พลังทางศีลธรรม เอาไว้ในคราวหนึ่งว่า 

“สังคมไทยมีโครงสร้างทางดิ่งมาแต่โบราณ  คือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง  สังคมทางดิ่งจะมีพลังทางสังคมหรือพลังพลเมืองน้อย และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนฉ้อฉลต่างๆ  ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่ดีและศีลธรรมไม่ดี  และจะไม่มีวันดีได้ตราบใดที่พลังพลเมืองยังอ่อนแอ  ไม่ว่าจะเขียนกฎกติกาหรือพร่ำสอนเท่าใดๆ ดังที่เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับและพระก็สอนศีลธรรมทุกวัน ศีลธรรมก็ไม่เกิด”

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่สะท้อนบทบาทของพลังพลเมืองและพลังทางศีลธรรมในประเทศไทย .

เรื่องแรก กระแสเฟคนิวส์หรือการแพร่ข่าวปลอมทางการเมืองทำท่าจะหมดมนต์ขลัง เพราะถูกตอบโต้ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานอ้างอิงที่หนักแน่นจากกลุ่มสื่อพลเมืองยุคดิจิทัล แบบทันทีทันควัน (Anti-fake news) นับเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมง วันต่อวัน ทำให้สังคมสามารถตั้งสติได้และรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน.

เรื่องที่สอง ประเด็นสถานการณ์และวัคซีนโควิดที่เครือข่ายเฟคนิวส์และนักการเมืองไทย “แนวป่วน” เลือกใช้เป็นจุดโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล แบบไม่รู้ผิดรู้ถูก ไม่รู้จังหวะเวลา ทำให้กองทัพบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทยกลายเป็นแนวต้านข่าวปลอมที่เต็มไปด้วยพลังความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาทางวิชาชีพ  สามารถตอบโต้จนกระทั่งตีตกไปได้แทบทุกประเด็น แบบหมัดต่อหมัด คำต่อคำ.

เรื่องที่สาม  เหตุการณ์ล่มสลายของบริษัท Cambridge Analytica  ต้นแบบองค์กรและขบวนการเฟคนิวส์และเฮทสปีชระดับโลก ที่หาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ถูกฟ้องร้องจนเป็นเหตุให้บริษัทเฟซบุ๊กต้องถูกตัดสินปรับเป็นเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท.  เรื่องอื้อฉาวนี้ได้ถูกเปิดโปงผ่านภาพยนตร์สารคดี เรื่อง The Great Hack  เผยเบื้องหลังการสื่อสารทางทหารในช่วงสงครามที่ถูกนำมาใช้โปรโมทนักการเมืองฝ่ายขวา โดยยิงเนื้อหาแคมเปญไปยังโซเชียลมีเดีย เล็งกลุ่มเป้าหมายผู้มีสิทธิ์โหวตในแต่ละประเทศทั่วโลก เช่น ไนจีเรีย บราซิล อินเดีย รวมถึงประเทศไทย. เกิดกระแสความตื่นตัวและรู้เท่าทันของพลังพลเมืองทั่วโลก.

เรื่องที่สี่ ขบวนการ “ม็อบกวนเมือง”ในประเทศไทย ที่ใช้เฟคนิวส์และเฮทสปีช (Fake news/Hate speech) เป็นอาวุธ เริ่มอ่อนกำลัง ด้านหนึ่งโดนพลังต้านจากกลุ่มพลเมืองและศักยภาพการทำงานของระบบนิติรัฐเข้าจัดการ  อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลและหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคงมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุอย่างยิ่งยวด จึงไม่เกิดเรื่องที่บานปลายจนควบคุมไม่อยู่.

จากปรากฏการณ์บางเรื่องที่หยิบมาแสดง  ใช่หรือไม่ว่าอาจเป็นสัญญาณบวกสำหรับการก้าวข้ามความแตกแยกเรื้อรังทางการเมือง เปิดโอกาสเกิดการเมืองในวิถีใหม่อันเป็นการเมืองเชิงศีลธรรม จิตอาสา มีสปิริตนักกีฬา และเป็นการเมืองของสุภาพชน .

คำถามคือ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังพลเมืองและพลังทางศีลธรรมในยุคปัจจุบัน  “พวกเราผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ เครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่ และสมาชิกวุฒิสภาวิถีใหม่  ควรมีบทบาทและความมุ่งมั่นอย่างไร.”

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา  / 17 พฤษภาคม 2564.