ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (5) “วัคซีน 100% อำเภอปลอดโควิด”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (5) “วัคซีน 100% อำเภอปลอดโควิด”

โควิด-19 แพร่ระบาดรวดเร็วและรุนแรงมาก 18 เดือน ป่วย 165 ล้าน ตาย 3.4 ล้านคนแล้ว  ขณะนี้ยังคงเป็นการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบระหว่างไวรัสโคโรนากับมวลมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำของโลกต้องใช้องค์ความรู้ขั้นสุดยอดหลายสาขา เร่งวิจัยยา วัคซีนและวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย แข่งกับเวลา. 

รัฐบาลและคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไทยก็เก่ง สามารถจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับคนไทยได้ครบทุกคน รวมทั้งเอื้อเฟื้อชาวต่างชาติด้วย โดยทยอยนำเข้ามา ประชาชนต้องลงทะเบียนและรอคิวนัดหมาย แบบผู้มีอารยะ.

วัคซีนคือด่านสุดท้ายที่จะสร้างภูมิคุ้มกันไว้ในกระแสเลือดและร่างกายของแต่ละคน  ถ้าทุกคนได้รับวัคซีนกันถ้วนหน้าหรืออย่างน้อย 3 ใน 4 (75%) จะทำให้เกิด“ภูมิคุ้มกันหมู่”ขึ้นในชุมชนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัดและประเทศชาติโดยรวม จึงเป็นหลักประกันให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคมกลับคืนมา.

ในอนาคต ถ้ายังไม่มียารักษาง่ายเหมือนไข้หวัดทั่วไป ใครที่ไม่ได้รับวัคซีนจะกลายเป็นคนส่วนน้อย  เข้าทำงานหรือร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างจำกัด  เช่น สส.หรือ สว.ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะเข้าร่วมประชุมที่รัฐสภาไม่ได้  นักท่องเที่ยวที่จะไปต่างประเทศต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตมาแสดง  ลูกจ้างแรงงานเข้าทำงานจะถูกถามว่าฉีดวัคซีนหรือยัง  เรื่องเช่นนี้จะกลายเป็น“ชีวิตวิถีใหม่” ที่เรียกว่า new normal ในโลกใบนี้.

ต้องยอมรับว่าคนไทยเราบางครั้งมีนิสัยหวาดระแวง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องดีข่าวดี แต่สำหรับเรื่องร้ายข่าวร้ายกลับหูเบา และบ่อยครั้งก็เรียกร้อง “สิทธิส่วนตน”โดยไม่คำนึงถึง “หน้าที่ต่อส่วนรวม”  จนทำให้ดูมากเรื่องเอาการ .

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเสพติดนโยบายประชานิยมมากจนเกินขนาด  นักพัฒนาเอกชนสาย“สิทธิมนุษยชนนิยม” ต่างพยายามชูประเด็นการเรียกร้อง“สิทธิ”และปลุกระดมนำพาชาวบ้านเข้ามาต่อสู้เรียกร้องสิทธิในเรื่องต่างๆจากอำนาจรัฐส่วนกลาง.

ด้านพรรคการเมือง ต่างมุ่งหาคะแนนจากชาวบ้าน ประชันขันแข่งนโยบายประชานิยมจนสำลัก ไม่สนใจการคลังของประเทศ เป็นความโน้มเอียงที่บ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่นและประเทศชาติลงไปถึงระดับจิตสำนึก.

ในทางตรงข้าม การทำงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในรอบ 40 ปี พบว่าภาคประชาชนได้ผ่านประสบการณ์ทำงานและต่อสู้มาหลายรูปแบบ ทั้งจับอาวุธขึ้นสู้ในชนบทป่าเขา ชุมนุมบนท้องถนน หรือปักหลักพักค้างอยู่รอบรั้วทำเนียบรัฐบาล  ในที่สุดแล้วได้ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านพากันรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองว่า การแสวงหา“สิทธิ”ของคนจนโดยวิวอนร้องขอจากผู้มีอำนาจและนักการเมืองนั้น ไม่มีครั้งใดเลยที่สมหวังและแก้ปัญหาได้ยั่งยืน. 

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนวิธีคิด หันกลับไปทำการเกษตรผสมผสานแบบพอเพียงด้วยการ“พึ่งตนเอง” เปลี่ยนแปลงตนเอง จากโหมด(mode) “เรียกร้องสิทธิ”ไปเป็นโหมด “ทำหน้าที่”  จึงสามารถหลุดพ้นจากความยากจนและเพิ่มพูนความมั่งคงในชีวิต รุ่มรวยด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ ต้นไม้และอากาศบริสุทธิ์.

น่าชื่นชมกิจกรรมจิตอาสาและโครงการsenate food ของเพื่อน ส.ว.  รวมทั้งโครงการโรงครัวชุมชน “ปันสุข-ไม่ทิ้งกัน” ของเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ในหลายจังหวัดที่ดำเนินการร่วมกับอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ทั้งรณรงค์“ฉีดวัคซีน100%” และ“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”ไปด้วย.

มีประเด็นขบคิดประจำสัปดาห์ สำหรับพี่น้องเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่

  1. ทำอย่างไรประชากรในตำบลและอำเภอของเราจะได้รับ “วัคซีนโควิดครบ100%” โดยเร็วที่สุดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
  2. จะเสริมสร้างและระวังรักษาความเป็น “อำเภอปลอดโควิด”ของเราได้อย่างไร
  3. จะฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำมาหากิน การค้าขาย ท่องเที่ยวชุมชนและคุณภาพชีวิตได้อย่างไร. 

 นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป.

สมาชิกวุฒิสภา  /  24 พฤษภาคม 2564.