พิกัดที่ตั้ง
ชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า ตำบลบ่อสุพรรณ เป็นตำบลชายแดนของอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในเขตรอยต่ออำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

ภาพรวม
หมู่บ้านดอนศาลเจ้าเป็นชุมชนต้นแบบของภาคกลางตะวันตก เป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่มีทรัพยากรที่ดินและระบบน้ำชลประทานที่อุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านเคยแตกความสามัคคี ตัวใครตัวมัน ใครที่ยากจนก็ต้องดิ้นรนกันไปอย่างโดดเดี่ยว ศีลธรรมเสื่อม มียาเสพติดและปัญหาสังคมมากมาย
ต่อมาผู้นำชุมชนเกิดสำนึกใหม่ ตัดสินใจยุติความแตกแยกในเรื่องที่เป็นสิ่งสมมติ หันกลับมาฟื้นฟูบ้านดินถิ่นเกิดด้วยการลงมือทำ แบบชุมชนของใครก็ของใคร เป็นลักษณะหนึ่งของ “ชุมชนเข้มแข็งจากวิกฤติ”(Community by Crisis)
บ้านดอนศาลเจ้าถือเป็นต้นแบบในการบุกเบิกฟื้นฟูของชุมชน มี “ครม.ชุมชน” เป็นรูปแบบการจัดองค์กรและการบริหารจัดการของกลุ่มผู้นำชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า การแบ่งงานเป็น 6 กระทรวงช่วยให้คณะทำงานต่างรู้ภารกิจงานส่วนรวมในส่วนที่ตนรับผิดชอบได้อย่างชัดเจน จึงสามารถจัดระเบียบงานองค์กรชุมชนเข้มแข็งที่หน่วยงานจากภายนอกพากันเข้าไปสร้างกันไว้มากมายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาได้อย่างประสบความสำเร็จ
สังเคราะห์บทเรียนรู้
“ครม.ชุมชน” บ้านดอนศาลเจ้า เป็นกลไกการจัดการตัวเองของชุมชน ถือเป็นต้นแบบในการบุกเบิกฟื้นฟูของชุมชน เป็นรูปแบบการจัดองค์กรและการบริหารจัดการของกลุ่มผู้นำชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า คณะรัฐมนโทชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า
รัฐมนโทบ้านดอนศาลเจ้า แต่ละกระทรวง ใช้แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลชุมชนในภาพรวม โดยเฉพาะด้านรายรับ รายจ่าย และหนี้สิน จากนั้นจึงมีกระบวนการทำแผนชีวิตหรือแผนแม่บทชุมชน ซึ่งไม่ได้มุ่งของบประมาณหรือการช่วยเหลือจากใคร แต่นำมาใช้ในการจัดการแก้ปัญหาของตน
กระทรวงทั้ง 6 มีศูนย์อำนวยการนโยบายและแผนเป็นเวทีกลางของผู้นำชุมชน ส่วนการปฏิบัติใช้วิธีขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้า แบ่งเป็นครัวเรือนเป็น 3 ระดับ คือ กลุ่มสีแดงต้องช่วยเหลือ สีเขียวพึ่งตนเองได้แล้ว และสีน้ำเงินเข้มมีความเข้มแข็งแล้ว
เมื่อสถานการณ์ในตำบลบ่อสุวรรณไม่การแข่งขันทางการเมืองท้องถิ่นแบบเอาเป็นเอาตายอย่างแต่ก่อน ชุมชนจึงกลับมามีความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน มีความรักสามัคคีและความเอื้ออาทรกลับคืนมา ประกอบกับมีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมจากภายนอก เช่น อบต.พชอ.และโรตารี ทำให้รูปแบบความสำเร็จและนวัตกรรมโครงการใหม่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ จนกระทั่งครอบคลุมทั้งตำบล
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแก้จนด้วยฐานการเกษตร การมีโครงการเชิงนวัตกรรมแนวคิดใหม่ๆ การฟื้นฟูทุนทางสังคมวัฒนธรรมคือความรักสามัคคี สร้างพันธมิตรกับภาคธุรกิจและประชาสังคม และการเชื่อมโยงสังคมและตลาดภายนอก รวมทั้งการขยายรูปแบบไปยังบ้านใกล้เรือนเคียงจนครบทั้ง 18 หมู่บ้านอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามธรรมชาติ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 พ.ค. 2564