19-20 มิถุนายน 2564
ในวันอังคาร พุธ 22-23 มิ.ย. 64 จะมีการประชุมร่วม 2 สภา สส.+สว. เพื่อพิจารณากฎหมายปฏิรูปหลายฉบับ อาทิ (ร่าง)พรบ.ประชามติ (ร่าง)พรบ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฯลฯ
แต่เรื่องที่ด่วนเข้ามาแบบร้อนๆ คือ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นแบบรายมาตรา ซึ่งเท่าที่ทราบในขณะนี้มีจำนวนนับ 10
เวอร์ชั่นเรื่องนี้อาจจะกระทบต่อแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และมีผลต่อพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะถ้ามีการแก้ไขได้สำเร็จ กติกาการเลือกตั้งอาจจะเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- ระบบไพมารีโหวตซึ่งเป็นสูตรยาแก้ปัญหานายทุนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง มาให้มวลสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของ มาตรานี้อาจถูกยกเลิกไปโดยที่ยังไม่เคยได้ลองใช้ คำถามคือ นักการเมืองกลัวอะไรในเรื่องนี้ ประชาชนพลเมืองในฐานะผู้ชมทั้งสนามและทั้งประเทศ ควรจะยอมให้แก้ไขหรือไม่
- ประชาชนพลเมืองในระดับชุมชนท้องถิ่นฐานราก ควรเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปพรรคการเมืองที่ท่านชื่นชอบได้อย่างไร
- การเปลี่ยนระบบบัตรใบเดียวกลับไปเป็นบัตรสองใบ จะมีผลกระทบต่อบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในรัฐสภาปัจจุบัน และที่กำลังจะตั้งขึ้นใหม่ อย่างไรบ้าง
ประมวลความคิดเห็น จากห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวม 10 ห้อง มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วม 313 คน สรุปความคิดเห็น ได้ดังนี้
ข้อ 1 เรื่องไพรมารีโหวต
1. นักการเมืองกลัวว่า “ระบบไพรมารีโหวต” จะทำให้ตนเองจะไม่ผ่านการคัดเลือกของสมาชิกพรรค เพราะระบบไพรมารีโหวตยุ่งยากและต้องหาเสียงเบี้องต้นกับสมาชิกพรรคก่อน อาจมีคู่แข่งหลายคน ซึ่งไม่แน่ว่าตนเองจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่
2. อยากให้นำระบบไพรมารีโหวตแบบสากลมาใช้เต็มรูปแบบเลย เพราะจะทำให้ได้คัดเลือกตัวแทนขั้นต้นอย่างแท้จริง และเป็นการยกระดับการเมืองไทยเข้าสู่ความเป็นสากล
3. พรรคการเมืองส่วนใหญ่มาจากกลุ่มทุน และบางส่วนมาจากการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ ในประเทศไทยในขณะปัจจุบันนี้
4. กลุ่มทุนจัดตั้งเพื่อรักษาผลประโยนช์และพวกพ้อง กลุ่มนี้มีกำลัง สามารถดูดสส.เข้าใว้ในพรรคได้มาก โดยการแจกจ่ายให้พลเมืองและเข้าถึงได้โดยง่าย ที่เรียกว่ามัดใจใว้ก่อน ส่วนกลุ่มอนุรักษ์ เป็นกลุ่มที่มีอุดมการ หรือทำเพื่อประโยนช์ของท้องที่ ท้องถิ่นส่วนรวมมากกว่า แต่บางครั้งไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพล จึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยก แตกแยกกันในท้องทที่ ท้องถิ่น และพรรคในกลุ่มนี้จะได้รับเลือกตัวแทนจึ่งมีน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มทุน
5. พลเมืองรากหญ้าในการเข้าถึงต่อการปฏิรูปทางการเมือง หรือเสนอร่างรัฐธรรมนูญยาก ในการได้รับเลือก การสรรหา ถูกกีดกันจากคณะกรรมการบ้าง จากคู่แข่งบ้าง ไม่มีกองหนุนหรือกำลัง มีได้แค่การมีส่วนร่วมในกิจกรรมบ้างบางโอกาส ทำให้พลเมืองเบื่อหน่ายในกระบวนการของภาครัฐฯ หรือเป็นแค่ผู้ชมเท่านั้น
6. ระบบไพรมารีโหวด ควรแก้ถ้าระบบคำนวณสัดส่วนในปัจจุบันไม่ชัดเจน
7. คิดว่าไม่น่าจะให้แก้ เพราะปัจจุบันนี้ก็ตัดรอนสิทธิ์ในส่วนของภาคประชาชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคประชาสังคมกลุ่มองค์กรซึ่งกฎหมายได้ร่างขึ้นเพื่อประโยชน์ของรัฐทั้งสิ้น จึงสมควรไม่ให้กฎหมายข้อนี้ผ่าน
8. อยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะต้องการให้ปลดล็อคความขัดแย้งของคนในสังคมจากกติกาชาติและสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย และใช้สถานการณ์การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างพฤติกรรมทางสังคมใหม่ รวมไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กติกาที่เป็นมติของมหาชน ที่มีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี ประเทศมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก
9. การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนและประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถืออำนาจรัฐ ที่ต้องการแก้กติกาเพื่อให้กลุ่มตนเข้าสู่เอานาจรัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย
10. เจตนารมของรัฐธรรมนูญ 60 ต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองเพื่อป้องกันการครอบงำจากนายทุน ถือเป็นเจตนาที่ดี แต่ไม่ถูกกาลกับวิถีวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีรากเง้าอยู่ในระบบอุปถัมภ์ และความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนจน รวมทั้งทัศนคติต่อการเมืองเป็นสิ่งไม่ดีไม่อยากเข้ามายุงเกี่ยว ทำให้เรื่องไพรมารีโวตกลับเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงสำหรับพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ เพราะพรรคใหญ่มีทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงินและมีเครือข่ายทางการเมืองในทุกระดับทั่วประเทศ มิหนำซ้ำผู้ถือกติกาก้ไม่สามารถทำอะไรพรรคใหญ่ๆได้ แต่กลับมาเข้มงวดกับพรรคเล็ก
11. คำถามระบบไพรมารีโหวตทำได้จริงหรือไม่ เป็นกระบวนการส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นการตัดตอนและสนับสนุนพรรคใหญ่ให้เข้มแข็ง
ข้อ 2 บทบาทพลเมืองในการปฏิรูปพรรคการเมือง
1. บทบาทแรกที่ประชาชนฐานรากจะได้ปฏิรูปพรรคที่ตนเองชื่นชอบก็คือ “การค้ดเลือกผู้สมัครในระบบไพรมารีโหวต” นี่แหละ แต่ต้องทำให้เต็มรูปแบบ ไม่ใช่เขันสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนของตนเองอยู่แล้วมายกมือในห้องประชุม ซึ่งมองว่าไม่สร้างสรรค์ต่อระบบการเลือกตั้ง.
2. การมีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดเพื่อนำไปเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของพรรค ผ่านช่องทางที่พรรคเปิดให้ พรรคต้องเปิดกว้างเพื่อเก็บปัญหาจากชุมชนไปเขียนนโยบาย ไม่ใช่นั่งเทียนเขียนในห้องแอร์
3. เสนอให้ท้องถิ่นมีงบประมาณด้านส่งเสริมระบบประชาธิปไตยจัดกิจกรรมสาธารณะเปิดพื้นที่กลางให้ทุกพรรคการเมืองแสดงนโยบายต่อพลเมืองในพื้นที่อยู่เป็นประจำไม่ใช่เฉพาะเวลาช่วงใกล้เลือกตั้งเท่านั้น ปัจจุบันพรรคการเมืองกับพลเมืองมีความห่างเหินกันมาก ยังมีพลเมืองอีกจำนวนมากที่สนใจการเมือง แต่ไม่อยากสมัครเป็นนักการเมืองหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะเบื่อหน่ายระบบพรรคการเมืองไทย และเบื่อหน่ายกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่มีวันจบสิ้น คนที่สนใจการเมืองแต่ยังไม่สนใจพรรคการเมืองจึงต้องการพื้นที่แสดงออกเช่น สภาพลเมือง
4. ปัญหาใหญ่กว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ครบถ้วนเสียก่อนโดยเฉพาะการออกกฎหมายลูกหรือกฎหมายระดับรองที่ยังไม่ออกหรือออกโดยบิดเบือนไปจากเจตนารมย์ของรัฐรรมนูญ
5. พรรครการเมืองตั้งแต่อดีต จนปัจจุบัน (หรืออนาคต) เป็นของกลุ่มผลประโยชน์ (ทุนศักดินา) มากกว่าของพลเมือง เว้นยุคเปลี่ยนแปลง ต.ค. 16 ที่มีพรรคสังคมนิยม พรรคพลังใหม่ฯ ที่มีกลุ่มก้าวหน้าขบวนการทุนใหม่ ผนวกนศ.ประชาชนที่เข้ามามีบทบาทในสภาเพียงระยะสั้น เช่นที่พวกเราหลายคนเคยร่วมในห้วงเวลาดังกล่าว
6. สี่สิบกว่าปีภาคพลเมืองเพียงเรียกร้องทวงสิทธิที่ควรได้ใกล้ตัว จนขาดการใช้สิทธิทางการเมืองชัดเจนนอกจากเข้าคูหากาบัตรสามนาที. ดังนั้นถ้าวันนี้ภาคการเมืองจะเข้มแข็งในสิทธิที่พึงมีพึงได้ตาม รธน.มิใช่เพียงกาบัตรต้องให้มีภาคพลเมืองเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การร่วมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยทางการเมือง
7. ต้องเริ่มบทบาทของการสร้างผู้นำภาคพลเมืองในทุกเขตคามโดยอาจเริ่มต้นโดยสถาบัน/กลุ่มคนที่เข้าใจระบบการเมืองภาคพลเมืองโดยสุจริตใจ (เช่นสมัยหลัง 14 ต.ค.16 ที่ส่งผ่านการเรียนรู้โดยขบวนการนศ.) และจุดประเด็นเรียนรู้ทางการเมืองตามสถานการณ์แต่ละพื้นถิ่นที่แตกต่างกัน จากนั้นให้จัดตั้งขบวนการภาคพลเมืองเพื่อมีอำนาจต่อรองพรรคการเมืองเพื่อเสนอแนวทางการเมืองภาคพลเมืองต่อพรรคการเมืองที่เข้าใจขบวนการภาคพลเมือง ติดตามตรวจสอบพรรคการเมืองว่าเป็นไปตามแนวทางที่ภาคพลเมืองเสนออย่างไรหรือไม่ เพื่อทวงถาม คัดค้านและแสดงออกถึงขั้นถอนตัวไม่สนับสนุนพรรคนั้นเมื่อพรรคการเมืองนั้นไม่ทำตามเจตนารมย์ของภาคพลเมือง
8. กำหนดผู้แทนในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำนโยบายท้องถิ่นหรือจังหวัดเข้าไปในการพัฒนาแต่ละด้านชัดเจน เพราะบริบทและความต้องการของจังหวัดไม่เหมือนกัน เช่นแม่ฮ่องสอน ที่มีปัญหาด้าน คมนาคม ป่าไม้ที่ทำกิน การศึกษาหรืออื่นที่ไม่เหมือนประเทศไทย
9. ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการปฏิรูปอย่างแท้จริง รวมทั้งภาคประชาชาสังคมจริง ไม้ต้องผ่านกระบวนการคัดสรรดูประวัติที่มีผลงานในระดับพื้นที่ มีกระบวนการคัดสรรอย่างเป็นธรรมไม่มีเส้นสาย พวกใครพวกมัน
10. ประชาชนพลเมืองในระดับชุมชนท้องถิ่นฐานราก ควรเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปพรรคการเมืองที่ท่านชื่นชอบได้อย่างไร เป็นคำถามทางวิชาการที่ทวนกระแสวิถีวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทย ที่ตกผลึกเป็นพฤติกรรมและทัศนคติทางสังคม คือ ไม่อยากยุ่งกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองเป็นพวกหาผลประโยชน์ ดังนั้นการสร้างพฤติกรรมใหม่ ด้วยกระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อการเมือง คือการให้ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองที่มีผลกับคุณภาพชีวิตของพวกเขา มากกว่าการสื่อสารเรื่องการเมืองการปกครองเรื่องอำนาจ
11. ประชาชนควรมีสิทธิ มีเสียงในการบริหารพรรคการเมือง และสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบด้วยหลักการและเหตุผล ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
12. ประเทศไทยในขณะนี้ต้องส่งเสริมพรรคขนาดกลางให้มากและค่อยๆยกระดับพรรคขนาดกลางให้เป็นสถาบันโดยพรรคขนาดกลางจะต้องร่วมมือกับประชาคมจังหวัดและประชาสังคมเพื่อเชื่อมประสานกับภาคชุมชนท้องถิ่นหากรัฐธรรมนูญส่งเสริมแต่พรรคขนาดใหญ่จะทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมระหว่างการเมืองแบบตัวแทนและภาคประชาชนส่วนพรรคจิ๋วหรือพรรคเล็กๆ นั้นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นสถาบันน่าจะยากกว่าพรรคขนาดกลางสังเกตุจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ส.ส. ที่มาจากพรรคจิ๋วแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองที่เชื่อมกับฐานล่างเลยมีแต่จะไปต่อรองกับรัฐบาลในระดับปัจเจกเท่านั้น
13. การที่จะปฏิรูปด้านการเมือง ควรเริ่มที่ทำให้ประชาชนมีภาวะผู้นำของตัวเองและครอบครัวให้เข้มแข็งก่อน ยากที่จะถูกหลอก
14. เลือกตั้งกี่ครั้ง ดูได้จากคนที่ประชาชนเลือกเข้ามา นั่นคือผลมาจากประชาชนยังผสมกันอยู่ระหว่างคนเข้าใจและไม่เข้าใจ คิดว่าจะเป็นก้ำกึ่งอย่างนี้ไปอีกนาน เพราะประชนคนไทย เป็นไปตามจุดอ่อนที่ทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นวิเคราะห์ ไว้ลองหาอ่านดู
ข้อ 3 บัตรใบเดียว บัตรสองใบกระทบอย่างไร
1. ไม่กระทบ..เพราะระบบบัตรใบเดียว มีวัตถุประสงค์ในการนำคะแนนของผู้สมัคร (ทุกคะแนน) ไปรวมเป็นคะแนนของพรรค ซึ่งยุติธรรมกับทุกพรรคอยู่แล้ว แต่ที่พวกนักการเมืองอยากลับไปใช้บัตรสองใบ น่าจะมาจากการคิดสัดส่วนคะแนนของ สส. ในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลานานและมีหลายสูตร ซึ่ง สส. บางส่วนเข้าใจว่า “ถูกเอาเปรียบจากฝ่ายตรงข้าม”(ประเมินจากเสียงของประชาชนในพื้นที่)
2. บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลต่อการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก เช่นเรื่องเลือกตัวผู้ลงสมัคร และพรรคหรือนโยบายที่ตนชอบ ประชาชนสามารถเลือกตามที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
3. การเลือกตั้งทางออกอย่างสันติสุขคือการยอมให้ประชาชนได้มีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนเอง ในการรณณรงค์เลือกตั้งแคนดิเดตนายยกรัฐมนตรี สำคัญทีสุดเสนอใหัมีการจัดทำรัฐมนูญฉบับประชาชนดัวยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐมนุญ การแก้แต่ละครั้งจะมีอุปสรรคมากมายกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
4. ใบสองใบควรใช้เพราะพรรค/ ผู้สมัคร ประชาชนมีสิทธิ์ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ
5. ไม่กระทบ เพราะประชาชนมีสิทธิเลือกคนที่เขาชอบ ที่กระทบกับนักการเมืองและพรรคเพราะอำนาจ
6. การเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นแบบบัตรสองใบ จะส่งผลทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ในเรื่องจำนวนที่นั่งในสภาซึ่งขึ้นอยู่กับกติกาการคิดคำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะกำหนดว่า “คะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ซึ่งต้องไปยึดโยงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ
7. ขอสรุปที่ควรถามกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) ประเทศต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 2) ประเทศชาติ และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3) มีใครกล้ารับประกันได้ว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ตามประสงค์ของนักการเมืองแล้ว การเมืองไทยจะมีเสถียรภาพ บ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย การทุจริตคอรัปชั่นจะหมดไป ประชาชนจะกินดีอยู่ดี
8. มีมุมมองในทางสร้างกลไกของการขับเคลื่อนถึงการกำหนดสาระสำคัญในการปฎิรปของรัฐธรรมนูญ อันเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ
9. มีมุมมองในทางสร้างกลไกของการขับเคลื่อนถึงการกำหนดสาระสำคัญในการปฎิรปของรัฐธรรมนูญ อันเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันที่เป็นประโยชน์การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนในระยะทีจะมีการแก้ไขในสภาวะสภาพทางการเมืองปัจจุบันและในอนาคตระยะยาว หรือไม่ ? ก็ตาม
มีประเด็นหลักดังนี้ 1) ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง เช่นด้านการเมือง ด้านเศรษกิจ ความ้ป็นอยู่ สังคม จิตสาธารณะ พิทักษ์รักษาสถาบันฯ การปครองประชาธิปไตย สิทธิและหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ฯลฯ 2) สิทธิเสรีภาพของพลเมือง 3) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง 4) การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของพลเมีอง 5) ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 6) การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น 7) อิทธิพลในท้องถิ่นกับนักการเมือง
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจาก ส.ว.พลเดช เรื่องไพรมารีโหวต
เป็นการริเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน รธน.2560 แต่ยังไม่ทันได้ใช้ เพราะการเลือกตั้ง 2562 พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม จึงมีคำสั่ง คสช.ให้ยกเว้นไปก่อน แต่คราวหน้า เลือกตั้ง 2566 ไม่มี คสช.มาออกคำสั่งยกเว้นให้อีกแล้ว กลุ่ม สส.พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายเสนอให้แก้ไข รธน.เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบไพรมารีโหวตเสียเอง โดยอ้างว่าเป็นความเห็นที่รวบรวมมาจากการร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายคณะ เพื่อน สส.พรรคต่างๆ เขาต้องการกันแบบนั้นแต่เรื่องนี้คณะกรรมาธิการองค์กรอิสระของ สว. ไม่เห็นด้วย เพราะไพรมารีโหวตเป็นมาตรการรูปธรรมที่สำคัญในการ “ทำพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย” ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง จึงไม่อาจยอมให้นักการเมืองมายกเลิกไปเสียดื้อๆ
ฝ่าย กกต. ก็ยืนยันว่า ถ้า รธน. ยังคงเป็นแบบเดิม กกต. ต้องจัดให้มีระบบไพมารีโหวตตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้ สว.พลเดชจึงได้อภิปรายสำทับไปว่า “กกต.ต้องส่งสัญญาณนี้ออกไปตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อให้ทุกพรรคเตรียมตัว พรรคที่ไม่สามารถดำเนินการไพรมารีโหวตได้ จะปัดตกไปเลยใช่หรือไม่ ต้องบอกเกณฑ์ กติกากันให้ชัดเจน” ระบบไพรมารีโหวต อาจจะทำให้พรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก พรรคจิ๋ว ที่มีอยู่นับสิบพรรคในรัฐสภา มีอันต้องต้องหมดสภาพไปก็ได้ ถ้าปรับตัวไม่ทัน
ข้อดีของไพรมารีโหวต คือ การกำกับทิศทางให้พรรคการเมืองต้องมีความเป็นสถาบัน เป็นองค์กรมืออาชีพ ไม่ใช่องค์กรเฉพาะกิจ ซึ่งพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางย่อมได้เปรียบกว่าพรรคขนาดเล็ก
ข้อเสีย คือ ปิดโอกาสคนใหม่ๆ พรรคใหม่ๆ เพราะแจ้งเกิดด้วยตัวเองได้ยากขึ้น ต้องเข้าสู่กระบวนการของพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไปก่อนควรติดตามดูว่า ที่ประชุมร่วม สส. สว. จะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร
เรื่อง บทบาทของพลเมืองในการปฏิรูปพรรคที่ตนชื่นชอบ
ในกรณีที่เราไม่มีพรรคการเมืองที่เราชื่นชอบอยู่เลย หรือเราไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและนักการเมืองใดๆ นอกจากการไปลงคะแนนเสียงในแต่ละครั้งเท่านั้น เช่นนี้เราก็แสดงบทบาทของพลเมืองในการพัฒนาและกระบวนการมีส่วนร่วมทั่วๆไป แบบที่เราเป็นอยู่ เรียกร้องให้มีสภาพลเมือง เรียกร้องให้จัดงบประมาณมาสนับสนุน แต่ถ้าหากพรรคพวกเราส่วนหนึ่งที่เขามีพรรคการเมืองในดวงใจ สิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้มากกว่าการทำกิจกรรมแบบ “ขี่ม้าอ้อมค่าย” กล่าวคือการชวนกันเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆแล้วช่วยกันสร้างระบบประชาธิปไตยภายในพรรค ไม่ปล่อยให้นายทุนพรรค ผู้บริหารพรรค และกรรมการพรรคเป็นผู้ยึดกุมอำนาจแต่เพียงลำพังแบบแต่ก่อน ระบบไพรมารีโหวตก็เป็นมาตรการสำคัญส่วนหนึ่ง อันนี้แหละที่แผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเขาคาดหวังและออกแบบไว้รองรับ
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองและพรป.พรรคการเมือง เขาได้ให้บทบาทของสมาชิกพรรค สำนักงานตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และสาขาพรรคประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็ระบบฐานรากของพรรคการเมือง เพราะประชาธิปไตยของพรรคการเมืองก็ต้องเริ่มต้นจากฐากรากที่แข็งแรงเช่นเดียวกัน
การเป็นสมาชิก อยู่ในจังหวัดไหน เขตเลือกตั้งไหน ย่อมสามารถมีบทบาทปฏิรูปพรรคการเมืองในดวงใจของตนได้ ยกเว้นเสียแต่จะเบื่อหน่ายเสียจนไม่อยากเข้าไปยุ่ง ซึ่งก็ไม่ว่ากัน ปล่อยให้นักการเมืองเขาไปปฏิรูปพรรคของเขากันเอง (?) สำหรับพวกเราบางคน ใครที่คิดจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ควรตระหนักว่า “คงไม่ง่ายเหมือนช่วงปี 2562 เสียแล้ว” จะปรับแผนประการใดก็ต้องขบคิดและเลือก “หนทางเดิน” เสียแต่เนิ่น ๆ
เรื่อง บัตรใบเดียว บัตรสองใบ
เรื่องนี้ฟังเผินๆ พวกเราหลายคนอยากให้กลับไปใช้บัตรสองใบเหมือน รธน. 2540 2550 แต่ถ้าศึกษาความเป็นมาอย่างลุ่มลึก ก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไม รธน.2560 จึงเลือกออกแบบใหม่เป็นแบบ “ปันส่วนผสม”
แต่การนำมาครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2562 การทำงานของ กกต.ในเรื่องนี้กลับทำให้เกิดความสับสนงุนงง จนหลายคนรู้สึกยุ่งยากเบื่อหน่าย และอยากให้กลับไปใช้ระบบบัตรสองใบอย่างเดิม
ข้อดีของระบบบัตรใบเดียว คือ 1) ทำให้พรรคใหม่ๆ คนใหม่ๆ มีโอกาสแจ้งเกิด โดยเฉพาะในช่วงยกเว้นระบบไพรมารีโหวต ดังทีเห็นกันอยู่ว่าในรัฐสภามีพรรคขนาดจิ๋วเกิดขึ้นมากมาย มีสิทธิ์มีเสียงในการอภิปรายและแสดงบทบาทเทียบเท่าพรรคการเมืองใหญ่ได้เลย 2) ทำให้ไม่มีพรรคที่เสียงเกินครึ่ง ไม่สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องทำงานร่วมกันกับพรรคอื่น ต้องสมานสามัคคีกันโดยปริยาย
ข้อเสีย คือ มีพรรคเล็กๆ จำนวนมากเกินไป พรรคเหล่านี้มีเจ้าของคนเดียว ตั้งขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ สร้างความเป็นสถาบันประชาธิปไตยภายในพรรคได้ยาก
เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นระบบบัตรสองใบในเที่ยวนี้มาแรง ถ้าเปลี่ยนได้จริง จะส่งผลกระทบถึงพรรคการเมืองใหม่ๆและพรรคขนาดจิ๋วโดยตรง ส่วนประชาชนไม่ได้กระทบอะไรเลยควรติดตามกระบวนการทำงานในรัฐสภาอย่างใกล้ชิด และเรียนรู้ไปด้วยกัน