สรุปผลการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง)

โดย สำนักการประชุมสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

วันอังคารที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๒๔ นาฬิกา ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานของที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม

๔.๒ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า : กรณีศึกษาประเทศจีนและอินเดียคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพิจารณาเสร็จแล้ว

(เป็นเรื่องที่เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔)

ผลการพิจารณา

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (นายสังศิต พิริยะรังสรรค์) และกรรมาธิการในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการ ปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (นายพลเดช ปิ่นประทีป) ได้ร่วมกันเสนอรายงานต่อที่ประชุม สรุปได้ว่า 

จากการวิเคราะห์การแก้ปัญหาความยากจนของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว พบว่า 

จีนดำเนินการ พุ่งเป้าตรงจุดเพื่อให้เป้าหมายบรรลุ โดยได้มีการจัดตั้งฐานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใต้เส้นวัดความยากจน สนับสนุนผู้ประกอบการด้วย Micro Credit กระตุ้นการจ้างงานและฝึกฝนให้คนจนหางานทำและพัฒนา 

โครงสร้างพื้นฐาน ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและเบี้ยยังชีพ ส่งเจ้าหน้าที่ลงสู่พื้นที่ยากจนเพื่อเก็บข้อมูลรายบุคคลและครอบครัว กระจายการจัดการให้ชุมชน และหน่วยงานพื้นที่ และให้ความสำคัญต่อนโยบายระดับมหภาค พร้อมทั้งแก้ปัญหาความยากจนระดับ จุลภาคแบบ “ล่างขึ้นบน” (Bottom up)

ในส่วนการวิเคราะห์การแก้ปัญหาความยากจนของอินเดีย พบว่า

อินเดียไม่ได้วัดความยากจนจากรายได้เท่านั้น แต่พิจารณาปัจจัยที่บกพร่องอื่นๆ ด้วย และชูนโยบาย “Make in India” สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในประเทศเพื่อยกระดับภาคการผลิต มีหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อแก้ความยากจน (NITI Aayog) 

และพิจารณาผลสัมฤทธิ์ “หายจน” จากค่าดัชนีความยากจนในหลายมิติ รวมทั้งใช้แนวคิดทฤษฎีแก้จนแบบทุนนิยมทั่วไปที่เน้น การลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างชาติ การขนส่ง ถนน ไฟฟ้า พาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Trickle Down Efect 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายให้นำแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน “แบบมุ่งเป้า” ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศจีน มาปรับและประยุกต์ใช้กับประเทศไทยโดยถือเป็นแนวทางหลัก และจัดให้มีแผนแม่บทการบูรณาการ แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับแผนแม่บทในด้านการสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน 

และควรจัดตั้ง “สำนักงานบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจน” และ “กองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า” รวมทั้งควรสร้างความร่วมมือแบบภาคี พันธมิตรระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงชุมชนและครอบครัว ยากจนแบบประกบคู่ 

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรสำรวจคนยากจนเป็นรายครัวเรือน และจัดเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการด้านวิชาชีพ รวมทั้งจัดทำแฟ้มโครงการและประวัติ การพัฒนาเฉพาะครัวเรือน ตลอดจนควรให้ความสำคัญต่อการจัดการในระดับชุมชนท้องถิ่นโดยผนึกกำลัง ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคมและ CSR ในระดับพื้นที่ โดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง

ภายหลังที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมแล้ว ประธานของที่ประชุม ได้อนุญาตให้สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า 

เดิมประเทศจีนใช้ยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหาความยากจนอย่างครอบคลุม ต่อมาใช้ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดหรือตรงเป้าหมาย โดยการเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ ทั้งนี้ เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ในการนำรูปแบบการแก้ปัญหาดังกล่าวมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือในการแก้ปัญหา 

นอกจากนี้ ควรแก้ปัญหาความยากจนโดยใช้ แนวคิดการพัฒนาและไม่ใช่การสงเคราะห์ตลอดไป ควรศึกษาแผน กชช. อย่างละเอียดและควรใช้การ กระจายอำนาจเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่น อีกทั้ง ควรจัดทำแผนพัฒนาและนำความรู้ ทางเทคโนโลยีที่เน้นการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ชุมชนฐานรากมาใช้กับการแก้ปัญหาความยากจนเพื่อให้ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ควรแก้ปัญหาความยากจนด้วยการ ป้องกันความยากจนของคนรุ่นใหม่ โดยการปลูกฝังทัศนคติและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ในชาติให้ขยัน อดทน อดออมและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เพื่อลดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความยากจน

ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ตอบชี้แจงว่า กระบวนการการแก้ปัญหาความยากจน จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอแนะของสมาชิกไปพิจารณาศึกษาและดำเนินการต่อไป

ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและมีมติให้ส่งรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป

๔.๓ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ : กรณีศึกษาการแก้ปัญหาระดับจุลภาคในประเทศไทยคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพิจารณาเสร็จแล้ว 

(เป็นเรื่องที่เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔)

ผลการพิจารณา

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (นายสังศิต พิริยะรังสรรค์) และกรรมาธิการในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัด การปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (นายพลเดช ปิ่นประทีป) ได้ร่วมกันเสนอรายงาน ต่อที่ประชุม สรุปได้ว่า 

การศึกษาการแก้ปัญหาระดับจุลภาคในประเทศไทย เป็นการศึกษาโดยเน้นพื้นที่ ในระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จสำหรับใช้เป็นแนวทางพัฒนานโยบาย สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าสู่การปฏิบัติในระยะต่อไป โดยได้พิจารณาศึกษา ในโครงการที่มีลักษณะเด่นจากภูมิภาคต่าง ๆ รวม ๙ โครงการ ดังนี้

๑. โครงการที่ริเริ่มโดยหน่วยงานและองค์กรภายนอก 4 โครงการ ได้แก่

🚩หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เช่น ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการส่งเสริมการแปรรูปผลิตผลการเกษตร

🚩 SME แก้จนที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ โครงการต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจพร้อมนำงานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร ต้นแบบพัฒนายกระดับ การผลิตเพิ่มมูลค่า ต้นแบบการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ต้นแบบการนำผลผลิตจากวนเกษตร มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ต้นแบบการเพิ่มศักยภาพผู้เลี้ยงไก่ ๓๙ ครัวเรือนและผู้เลี้ยงแกะ ผลิตภัณฑ์จากแกะ ๒๐ ครัวเรือน และต้นแบบการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า

🚩กองทุนสามัคคีตุ้มโฮม จังหวัดอุดรธานี เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนา กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

🚩โครงการคู่เสี่ยวเกี่ยวก้อยแก้จนคนขอนแก่น เป็นการจับคู่ ๑ ข้าราชการ กับ ๒ ครัวเรือนยากจน ในการดูแลและช่วยเหลือในเรื่องสวัสดิการ การหาตลาดรับซื้อผลผลิตของครัวเรือน และการจ้างงาน

๒. โครงการที่ริเริ่มโดยชุมชน ๕ โครงการ ได้แก่

🚩ชุนชนพอเพียงที่สระแก้ว เป็นการพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็นโซนปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา และสร้างโรงเลี้ยงสัตว์

🚩ชุมชนเข้มแข็งบ้านขามจังหวัดชัยภูมิ เป็นการพัฒนาชุมชนเข็มแข็งตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดตั้งกลุ่มชุมชนออมทรัพย์เพื่อการผลิต และการกู้ยืมเงินจากกองทุน

🚩ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลเขาซก จังหวัดชลบุรี เป็นการแก้ไขปัญหาความ ยากจน หนี้สินนอกระบบ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

🚩รัฐบาลชุมชนบ้านดอนศาลเจ้าจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจัดการตนเองด้วยหลัก พอเพียง พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง

🚩กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่จังหวัดสระแก้ว เป็นต้นแบบบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ แบบบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม คืนความสมบูรณ์สู่ชุมชน

จากกรณีศึกษาดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมและมีความหลากหลายพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ในประเทศไทยนั้น สามารถนำเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ทั้งในมิติการสร้าง ความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากและการจัดระบบบริการสังคมให้แก่คนยากจน การสร้างระบบคุ้มครอง ทางสังคมและเพิ่มภูมิคุ้มกันความเสี่ยงควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการต่าง ๆ 

โดยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนแนวคิด แนวทางและหลักการทำงานเพื่อสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งอย่างจริงจัง สร้างกระบวนการทำงานแบบ “พันธมิตรการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจน และการช่วยเหลือผู้รับผลกระทบ จากสถานการณ์พิบัติภัยต่าง ๆ รวมทั้ง COVID- 19 และภาครัฐควรปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐให้เป็น ผู้สนับสนุน เป็นพี่เลี้ยง 

ให้ประชาชนและภาคประชาสังคมได้แสดงบทบาทอย่างเป็นอิสระและเต็มศักยภาพ เพื่อบรรจุเจตนารมณ์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ “SDG17 : Partnership for the Goals”

ภายหลังที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมแล้ว ประธานของที่ประชุม ได้อนุญาตให้สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า การดำเนินการในระดับจุลภาค จะมีพลังในการริเริ่ม มีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เกิดโครงการต้นแบบที่ประสบ ความสำเร็จเป็นจำนวนมาก จึงควรใช้ AI – Artificial Intelligence หรือการจัดการความรู้ มาช่วย ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ความสำเร็จของโครงการต่าง ๆ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายระดับมหภาค และจัดทำเป็นคลังข้อมูลที่รวบรวมโครงการต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงและนำไปพัฒนาชุมชนได้เป็นการทั่วไป 

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาองค์กรชุมชน และวิสาหกิจชุมชน ในการริเริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างชุมชนที่เข็มแข็ง ส่งเสริมชุมชน ในด้านการกีฬา ดนตรี และศิลปศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กในชุมชน และควรให้ความสำคัญกับ ระดับฐานรากเป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันท้องถิ่นบางแห่งไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่เข้มแข็ง

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเมืองในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ควรมีระบบการติดตามประเมินผล โครงการพัฒนาในชุมชนที่จะนำไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็งที่เป็นคุณธรรม มีการคัดเลือกหรือมอบหมาย บุคคลที่เหมาะสมในการติดตามประเมินผลชุมชนเข้มแข็ง และควรปฏิรูปการบริหารจัดการ การวางแผน เพื่อขยายการแก้ปัญหาความยากจนไปสู่ระดับมหภาค โดยเปลี่ยนเป็นสวัสดิการสังคม ให้มนุษย์อยู่ได้ อย่างมีศักดิ์ศรี เน้นการกระจายการบริหารจัดการ การบริหารสู่ชุมชน และสนับสนุนเทคโนโลยี

จากนั้น ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการ ได้ร่วมตอบชี้แจงสรุปได้ว่า เห็นด้วยกับคำอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์อภิมาน (Meta Analysis) จะทำให้ได้ข้อมูลที่นำไปใช้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้ และควรส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์เพื่อนำไปแก้ปัญหาในระดับชุมชนต่อไป สำหรับการเมืองท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบางแห่งไม่เกิดความสามัคคี ทำให้สร้างชุมชนเข้มแข็ง ได้ยาก โดยทุกคนและทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ มีการบูรณาการ และปฏิรูปการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และมั่งคั่ง

ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ และมีมติให้ส่งรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป