ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (10) “แก้รัฐธรรมนูญ สวนทางการเมืองวิถีใหม่”

ถึงเครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (10) “แก้รัฐธรรมนูญ สวนทางการเมืองวิถีใหม่”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มี สส. 4 กลุ่ม เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 ตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ  รวม 13 ฉบับ เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ 10 หมวด 51 มาตรา โดยทุกกลุ่มต่างต้องการแก้ไขระบบเลือกตั้งและลดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ แต่ที่ต้องมีเรื่องอื่นๆประกอบเข้ามาก็เพื่อให้ดูไม่น่าเกลียด.

ผมได้อภิปรายโดยชี้ว่า ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มีเนื้องานสำคัญอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือ 

  • 1) ทำพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
  • 2) ทำประชาชนให้เป็นพลเมือง.

อย่างแรก มุ่งเสริมสร้างระบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นภายในพรรคการเมืองทุกพรรค ให้สมาชิกมีความสำคัญและมีบทบาท ไม่ใช่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายทุนพรรคหรือกลุ่มผู้บริหารพรรคเท่านั้น  ในเรื่องนี้มี พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือ  โดย ก.ก.ต. เป็นกลไกกำกับกติกา.

ส่วนอย่างหลัง มุ่งเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และความตื่นตัวกระตือรือร้นทางการเมืองของประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งในเรื่องนี้ภาคประชาชน โดยสภาประชาสังคมไทย 77 จังหวัด ได้รวบรวม 14,600 รายชื่อ เสนอ(ร่าง)พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มายังประธานรัฐสภาแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563  รอก็แต่(ร่าง)พ.ร.บ.จากรัฐบาลเข้ามาประกบเท่านั้น.

แต่เมื่อได้นำหลักการของ(ร่าง)แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับ มาทาบกับภารกิจการปฏิรูปการเมืองตามแผนปฏิรูปประเทศ ผมค่อนข้างหนักใจ เพราะมันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง.

จากข้อเสนอทั้งหมด พบว่ามีส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง  5 ฉบับ รวม 18 มาตรา ได้แก่ ฉบับที่ 2  6  7  8  และ 12    ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับ เป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง ชาวบ้านไม่เกี่ยว ได้แก่ ฉบับที่ 1  3  4  5  9  10  11  และ 13.

ในกลุ่ม 8 ฉบับหลัง สามารถสรุปแนวทางที่ “สวนทางกับการเมืองวิถีใหม่” ได้ 4 ลักษณะ คือ

1) เอื้อพรรคใหญ่สนองนายทุนพรรค  อันนี้เป็นการสวนทางกับแนวคิดการทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยจากภายในพรรค.

2) ยกเลิกระบบการเลือกตั้งขั้นต้นหรือ Primary vote นี่ก็เป็นการตัดบทบาทและอำนาจของมวลสมาชิกพรรค สาขาพรรค และ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด  อันเป็นโครงสร้างฐานรากของพรรค โดยอำนาจจะถูกรวบไว้ที่ผู้บริหารพรรคและนายทุนพรรคเท่านั้น.

3) ลดปาร์ตี้ลิสต์กีดกันพรรคเล็ก  อันนี้ถ้าศึกษาพัฒนาการของระบบปาร์ตี้ลิสต์ในเมืองไทย ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2540  2550  และ 2560  จะเข้าใจทิศทางและเป้าหมายได้ไม่ยาก 

กล่าวคือเจตนารมณ์และเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองอยู่ที่การทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีศักยภาพในการทำงานนิติบัญญัติในระดับชาติ  ส่วนการดูแลสาระทุกข์สุขดิบของประชาชนในพื้นที่เป็นบทบาทหน้าที่ของการเมืองท้องถิ่น

ระบบ ส..เขต และปาร์ตี้ลิสต์จึงมีสัดส่วนที่เปลี่ยนไปตามพัฒนาการ  กล่าวคือจาก 400/100(2540) มาเป็น 375/125(2550) และ 350/150 (2560) อย่างในปัจจุบัน  ดังนั้นถ้าจะให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ควรขยับไปสู่ 300/200  แต่มิใช่ถอยหลังไปที่ 400/100 อย่างที่เสนอกันมา.

ส่วนใครที่ต้องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ต้องไปทำการเมืองในระดับท้องถิ่น ช่วยกันทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงและมีศักยภาพ.

4) เปิดทางนักการเมืองประพฤติมิชอบอันนี้เกี่ยวของกับ มาตรา 144 และ 185  เรื่องการจัดงบประมาณ  การแทรกแซงข้าราชการฝ่ายประจำ และผลประโยชน์ทับซ้อน.

ผลการลงมติคงทราบกันทั่วไปแล้วว่า ส.ว. ตีตกทั้งหมด ให้ผ่านได้เพียงฉบับที่ 13 ของคุณจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ และคณะเท่านั้น ซึ่งยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะฉบับนี้จะเปลี่ยนสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ให้เป็น 400/100 และเรื่องบัตรเลือกตั้งยังพูดแบบคลุมเครือ ไม่รู้กี่ใบแน่.

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา / 28 มิถุนายน 2564.