ถึงเครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.
จากบทเรียนรู้ 25 ปีที่ผมเข้าร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองรอบแรก (2538-2540) การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (2543-2550) และการปฏิรูปประเทศในยุคปัจจุบันที่เริ่มนับได้ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตั้งคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ตามเสียงเรียกร้องในกระแสความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ปี 2553

ต่อมาภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. ผมได้ร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จนกระทั้งเข้ามาเป็น ส.ว. ชุดที่รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบัน.
ผมพบความจริงประการหนึ่งว่าการปฏิรูปประเทศทั้งระบบให้บรรลุผลเป็นงานที่ใหญ่และหนักหนาสาหัสมาก ต้องใช้ระยะเวลาและบรรยากาศของความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ไม่สามารถทำได้แบบง่ายๆลวกๆเร็วๆในสภาวะที่สังคมก็แตกแยกวุ่นวาย ทั้งยังมีแรงหนืดและแรงต้านการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในวัฒนธรรมระบบราชการและวิถีความเคยชินของสังคมไทย.
การเรียกร้อง “เร่งปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง” จึงเป็นเสียงเรียกร้องที่ไม่อยู่บนฐานความเป็นจริง ใครที่ “คิดฝัน”ถึงการปฏิรูปประเทศในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 4-5-6 หรือ การใช้อำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คงกลายเป็น“เพ้อฝัน” เพราะโลกและสังคมไทยปัจจุบันได้เดินมาไกลและมีปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่ายุคเหล่านั้นมาก.
ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เป็นเพราะมีบางกระแสยังคงเรียกร้องยาขนานวิเศษ “กินปุ๊บหายปั๊บ” บ้างเรียกร้องบีบบังคับให้รัฐบาลลาออกหรือล้มคว่ำลงเพื่อให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลชุดใหม่เข้ามาบริหารจัดการ บ้างต้องการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเลิกการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติและกลไกที่คสช.ดำเนินการทั้งหมด บ้างก็เร่งเร้าให้เกิดการปฏิวัติมวลชน มุ่งโค่นล้มทำลายระบอบเดิมโดยไม่เปิดเผยว่าจะสร้างประเทศเป็นไปแบบไหนและเว้นที่จะกล่าวถึงการรัฐประหารครั้งใหม่ที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน.
ในยุคปัจจุบันพลังอำนาจได้เคลื่อนย้ายอย่างสมบูรณ์แล้ว อย่างที่เรียกกันว่า power shiftจากอำนาจแบบแข็งอันเกิดจากกระบอกปืน กฎหมาย คุก ตะราง มาสู่อำนาจเงินที่อ่อนตัวและยืดหยุ่นกว่า ปัจจุบันเป็นยุคของพลังอำนาจทางสังคม บนฐานของสิ่งนามธรรม ข้อมูลข่าวสาร ภูมิปัญญาและความเชื่อมั่นศรัทธา.
ภาคประชาชนและพลังปฏิรูปในสังคมไทยจึงควรอยู่กับความเป็นจริง ไม่ควรเพ้อฝันให้มี “พระเอกขี่ม้าขาว” มาเนรมิตการปฏิรูปประเทศโดยสั่งการมาจากเบื้องบน ไม่ควรมีรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญอีก บ้านเมืองบอบช้ำมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาพลังทางสังคมต้องช่วยทำให้เกิด “การเมืองที่ลงตัว” กันเสียที.
ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศมีเรื่องดีของดีบรรจุอยู่มากมาย การขับเคลื่อนปฏิรูปจากบนลงล่างก็ควรดำเนินการกันไป ขึ้นกับว่ามีรัฐบาลแบบไหนและระบบราชการสนองตอบเพียงไร เราจึงต้องการ “นักการเมืองวิถีใหม่” และ “รัฐบาลวิถีใหม่” เข้ามาบริหารประเทศ รับช่วงดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์.
ส่วนภาคประชาชนและพลังปฏิรูปในสังคม ต้องขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศขึ้นไปจาก “ฐานล่าง” คือ ปฏิรูปในระดับชุมชนท้องถิ่น ที่ตำบล-อำเภอของเรา โดยเลือกเฉพาะบางเรื่องบางประเด็นมาลงมือทำ อย่าเอาทุกเรื่อง เหมือนการกินข้าวทีละคำ ทีละจาน ทีละสำรับ.
ประเด็นระดมความคิดประจำสัปดาห์
- ในการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง ที่กำลังจะมาถึง มีนโยบายปฏิรูปชุมชนท้องถิ่นอะไรบ้างที่ “โดนใจ”ประชาชนในตำบลของท่านและสามารถทำได้จริง.
- ในการปฏิรูปตำบล คุณสมบัติของผู้บริหาร อบต. แบบไหนที่ “ต้องการ” และแบบไหนที่“ต้องห้าม”.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป.
สมาชิกวุฒิสภา / 7 มิถุนายน 2564.