รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 76) “พ.ร.บ.ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 รัฐบาลได้นำเสนอ(ร่าง)พ.ร.บ.ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ…. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถือเป็นกฎหมายเชิงปฏิรูป ที่ ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำงานร่วมกัน  เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นับเป็นร่างกฎหมายใหม่ฉบับแรกที่เข้ามาสู่รัฐสภา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนและการจัดทำร่างกฎหมาย กำหนดบทนิยาม คำว่า การเข้าเสนอชื่อกฎหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้เชิญชวน และมีการกำหนดให้ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ และไม่น้อยกว่า 50,000 คนในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

และระบุไว้ด้วยว่าการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้  เป็นต้น

อันที่จริง เราเคยมีกฎหมายเช่นนี้มาก่อน แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีเงื่อนไขใหม่ ก็ต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ในฉบับปี 2542 กำหนดให้ กกต.เป็นหน่วยงานสนับสนุน  ต่อมาฉบับปี 2556  ให้สำนักงานปฏิรูปกฎหมาย สภาพัฒนาการเมือง และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

3 หน่วยงานทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุน  อย่างไรก็ตามเมื่อมีคำสั่งคสช.ยุบเลิกสำนักงานปฏิรูปกฎหมายและสภาพัฒนาการเมืองไปเสียแล้ว  พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงต้องกำหนดกันใหม่ให้ชัดเจน

เมื่อรัฐสภาพิจารณารับรองหลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่ 1 แล้ว มี 20 มาตรา ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 45 คนพิจารณารายละเอียดและการแปรญัตติ มีท่าน ส.ว.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตรเป็นประธาน ใช้เวลาทำงานกัน 3 เดือนเต็ม มีหลักการและสาระสำคัญ ดังนี้

  • ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถริเริ่มเสนอกฎหมาย กี่คนก็ได้ โดยมีร่างกฎหมายมาพร้อมเลย หรือถ้าจะให้สำนักงานช่วยร่างให้ ต้องมีกลุ่มผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่า 20 คน 
  • เมื่อสำนักงานได้ตรวจเอกสารร่างกฎหมายและได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภาแล้ว จึงไปรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกฎหมาย จำนวน 10,000 คน สำหรับร่างกฎหมายทั่วไป หรือ 50,000 คนสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะให้สำนักงานช่วยรวบรวมรายชื่ออีกทางหนึ่งด้วยก็ได้ สามารถใช้ระบบข้อมูลอีเล็คทรอนิกส์ที่ยืนยันตัวตน แสดงชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนและข้อความที่แสดงความประสงค์จะเสนอกฎหมายฉบับนี้
  • ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ ห้ามมิให้แก้ไขหลักการหรือข้อความในกฎหมาย คณะผู้รวบรวมรายชื่อต้องเสนอรายชื่อผู้สนับสนุนตามจำนวนที่กำหนดภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้สำนักงานตรวจสอบ พร้อมกับเสนอรายชื่อผู้เป็นตัวแทน 20-30 คน
  • สำนักงานตรวจสอบเอกสาร หลักการ และหลักฐานครบถ้วนภายใน 45 วัน ถ้ารายชื่อและเอกสารไม่ครบถ้วนจะแจ้งให้คณะผู้รวบรวมทราบและดำเนินการให้สมบูรณ์ครบถ้วน กรณีที่พบว่ามีการปลอมลายมือชื่อจะหักออก ถ้ายังมีจำนวนตามเกณฑ์ก็เสนอประธานต่อไป กรณีที่ตายหรือถอนชื่อภายหลังให้ถือว่าการเข้าชื่อยังมีผลอยู่
  • ถ้าไม่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอให้ประธานรัฐสภา ถ้าเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องเสนอรัฐบาลให้พิจารณารับรองก่อน เมื่อเรียบร้อยแล้วจะบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาตามกระบวนการต่อไป
  • ผู้ใดกระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
  • ประธานรัฐสภาเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ.

หมายเหตุ  บัดนี้ รัฐสภาได้พิจารณาผ่านกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564.

นพ.พลเดชปิ่นประทีป / 10 มิ.. 2564