พิกัดที่ตั้ง
ชุมชนบ้านโคกล่าม-บ้านแสงอร่าม เทศบาลตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

ภาพรวม
ตำบลกุดหมากไฟเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งของภาคอีสานตอนบน มีภูมิประเทศที่ราบเชิงเขา ในอดีตพื้นที่มีความแห้งแล้งจนทำให้คนอพยพออกไปขายแรงงานในเมืองใหญ่และเสี่ยงโชคในต่างประเทศ จนกระทั่งมีโครงการอ่างเก็บน้ำพระราชทานที่ห้วยคล้าย เป็นกลไกแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชน เมื่อชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและเข้ามาช่วยจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันทั้ง 11 ลำน้ำสาขาและ 4 ฝายน้ำล้น จึงสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้โดยพื้นฐาน จากเดิมทำนาปีละครั้งมาเป็นปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ชาวบ้านเริ่มเข้าใจ เข้าถึงและยึดกุมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนกระทั่งเกิดแรงระเบิดจากภายใน ฟื้นฟูการเกษตร มีมะม่วงนอกฤดูกาลและกล้วยหอมทองจากดินภูเขาไฟส่งออกต่างประเทศเป็นเศรษฐกิจเบิกนำ มีการปลูกผักปลอดสารและเกษตรอินทรีย์ในวิถีใหม่ ปีละ 8 รอบการผลิต สร้างรายได้เป็นรายวันรายสัปดาห์ รวมทั้งยังมีรายได้เสริมจากหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่นผ้าขิด และกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่กลับคืนมา ได้นำพาผู้คนให้อพยพกลับถิ่นฐาน ยิ่งเมื่อมีองค์กรและสถาบันจากภายนอกเข้าไปสนับสนุนทางองค์ความรู้ เทคโนโลยี กระบวนการบริหารจัดการ และการตลาด ทั้งในส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้สามารถยกระดับจากชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงขั้นต้น สู่เศรษฐกิจพอเพียงในขั้นก้าวหน้าได้ครบถ้วนทั้ง 11 หมู่บ้านของตำบลกุดหมากไฟ
สังเคราะห์บทเรียนรู้
- ปัจจัยความสำเร็จของที่นี่ประกอบด้วย การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างเหมาะสม การมีที่ดินทำกินของครอบครัว ความศรัทธาในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกในลักษณะประชา-รัฐ หรือ พหุภาคี รวมทั้งมีการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการภายในชุมชนเป็นแบบกองทุนย่อยและวิสาหกิจชุมชนตามภารกิจ มีกองทุน “ตุ้มโฮม” ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ยากลำบากในลักษณะกองทุนหมุนเวียนของชุมชน
- “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” จากนอกพื้นที่ (External Change Agent)ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้นำชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลงจนสำเร็จ
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายในโครงการพระราชดำริ และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้ามาช่วยปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแห่งเดิมของทางราชการ ด้วยวิธีการเพิ่มระดับคันกั้นน้ำ ปรับปรุงระบบ spill way และพัฒนาระบบจัดการบริหารจัดการน้ำร่วมกับอ่างพวง 4 แห่งและร่องน้ำสาขาย่อย 11 สาขาในพื้นที่อย่างเชื่อมโยง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพผู้นำไปด้วยกัน จนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้โดยพื้นฐาน
- กระบวนการจัดการแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กที่ห้วยคล้ายและตำบลกุดหมากไฟ ก็เป็นอีกบทเรียนรู้ด้าน Micro management of Water Resource ที่น่าสนใจ ที่ผ่านมามักพบว่าหน่วยงานราชการชอบทำโครงการแบบเป็นส่วนเป็นเสี้ยว ไม่ทำทั้งระบบอย่างครบวงจร จึงทำให้ มีอ่างเก็บน้ำแต่ชาวบ้านมีปัญหาไม่สามารถนำน้ำไปใช้ทำการเกษตรได้ตามวัตถุประสงค์ ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่มีส่วนร่วม อ่างเก็บน้ำของทางราชการจึงถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม บทเรียนที่กุดหมากไฟทำให้เห็นว่า นอกจากการจัดการในทางเทคโนโลยีแหล่งน้ำแล้ว กระบวนการจัดการทางสังคมที่เข้มแข็งก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
- สินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้และกล้วยหอมทองส่งออกต่างประเทศ เริ่มมาจากการแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เมื่อชาวบ้านทดลองปลูกและใช้ถุงห่อผลมะม่วงแบบคนจีน ทำให้ได้ผลมะม่วงสีเหลืองทองสวยงามน่ารับประทาน ประกอบกับมีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งเมื่อมีการนำกระบวนการรับรองคุณภาพระบบ GAP เข้ามาเสริม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ ธกส.เข้ามาช่วยในด้าน Branding ออกแบบโลโก้ สร้างแบรนด์ “ภูธารา” ควบคุมคุณภาพการบรรจุหีบห่อ การแปรรูปและการขนส่งลำเลียง ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชนสามารถพุ่งทะยาน
เป็นอีกบทเรียนรู้หนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับรูปแบบการทำงานที่บูรณาการ ความร่วมมือแบบ “ประชารัฐ”.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 19 มิ.ย. 2564