เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้แถลงว่านักวิทยาศาสตร์ไทยมีขีดความสามารถที่จะประดิษฐ์ยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์
ซึ่งกระทรวงอว.จะสนับสนุนให้ทำสำเร็จภายใน 7 ปี นับเป็นชาติแรกๆของเอเชียและอาเซียน นับเป็นเรื่องที่ฮือฮากันมาก ตามมาด้วยเสียงเชียร์และเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร

ย้อนกลับอีกหนึ่งปี รัฐบาลได้ออก พรบ.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มีผลทำให้เกิดการควบรวมหน่วยงานทั้งหมดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เข้ามาอยู่ด้วยกัน ให้มีอำนาจหน้าที่ขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน
นับเป็นการควบรวมหลายหน่วยงาน ที่ล้วนมีศักยภาพเกี่ยวข้องกัน แต่แยกกันอยู่แยกกันทำงาน โดยเมื่อเข้ามาประกอบเป็นร่างใหม่ มีวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายที่ชัดเจน ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย 6 กรม 2 รัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงานที่มี พรบ.เฉพาะ และ 7 องค์การมหาชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ 57 แห่งก็เข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี อว.ด้วย ถือเป็นผลงานการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดชิ้นหนึ่งของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับ (ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาในขณะนี้ นับเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจถือได้ว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญอีกตัวหนึ่งของการปฏิรูประบบงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่เดียว
กล่าวคือ เป็นร่างกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นการปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศแก่ SME ในการประกอบธุรกิจ
เพราะเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ผลงานวิจัยของประเทศมักอยู่ในสภาพ “ขึ้นหิ้ง” เป็นส่วนใหญ่ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ผู้รับทุนและนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานผู้ให้ทุนของรัฐ ที่ระบุให้ “ผู้ให้ทุน”ผูกขาดความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว
แม้กรณีผู้ให้ทุนเป็นเจ้าของร่วมกับผู้รับทุน ก็ต้องทำเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) ซึ่งมีขั้นตอนขอความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของทุกฝ่าย การเจรจาต่อรองค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิ์ก็ไม่มีกรอบแนวทาง จึงมักตกลงกันได้ยาก ใช้ระยะเวลายาวนานมาก
ด้วยอุปสรรคปัญหาต่างๆ ส่งผลให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่รัฐถือครองความเป็นเจ้าของ ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ งบประมาณรัฐที่ลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจึงไม่ก่อผลในทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น การปลดพันธนาการในเรื่องนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยสามารถขอสิทธ์เป็นเจ้าของได้ ด้านผู้ประกอบการที่สนใจก็มีโอกาสที่จะขอนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการได้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในความรู้สึกส่วนตัว ผมคิดว่า กฎหมายปฏิรูปฉบับนี้อาจจะช่วยเปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทย สามารถนำพาประเทศไทยให้ไปยืนอยู่ในแถวหน้าสุดของโลกได้ เช่นเดียวกันกับด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยได้แสดงให้เห็นแล้วในช่วงสถานการณ์โควิด 19
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 30 มิ.ย. 2564
