ebook ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน ก้าวข้ามความแตกแยก สู่การเมืองวิถีใหม่

ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน ก้าวข้ามความแตกแยก สู่การเมืองวิถีใหม่

โดยคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

หนังสือเรื่อง ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน ก้าวข้ามความแตกแยก สู่การเมืองวิถีใหม่ ที่อยู่ในมือของท่านเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารบันทึกสาระสำคัญจากการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

แนวคิดว่าด้วยเรื่อง ฝ่าวิกฤติความขัดแย้งและสร้างการเมืองวิถีใหม่ เป็นผลพวงจากการทำงานติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปและพัฒนาประเทศในด้านการเมือง ตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา 

คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งใจทำงานกันอย่างมากและอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองที่เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ อยากเห็นสภาพการเมืองของประเทศเปลี่ยนจากเดิมเป็นการเมืองในวิถีใหม่  

ในปีแรก (2562) คณะอนุกรรมาธิการได้ทำการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรอบแนวคิดในการมองการเมืองระบบประชาธิปไตยเป็นแบบองค์รวม มีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ระดับ คือ ประชาธิปไตยฐานรากหรือประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Democracy โดยเฉพาะประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยระดับชาติ การเมืองในโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนบน 

จากนั้นจึงไปสำรวจสถานการณ์จริงของประชาธิปไตยในแต่ละระดับว่า “มีสถานภาพปัจจุบันและแนวโน้มเป็นอย่างไร” ซึ่งเป็นที่มาของกรณีศึกษาทั้งหมด 6 เรื่องตามที่เสนอรายงานวิจัยและเผยแพร่แล้ว ได้แก่ 

  1. องค์กรชุมชน : ความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตยทางตรงในระดับฐานราก
  2. กลไกการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ : กรณีสภาประชาสังคมไทย
  3. วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม : กรณีเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน
  4. ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของประชาสังคมระดับจังหวัด
  5. ภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ : กรณี (ร่าง) พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ….
  6. กฎหมายการมีส่วนร่วมที่ค้างอยู่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ : กรณีร่าง พ.ร.บ. สามฉบับ

ในปีที่สอง (2563) เมื่อรู้สถานการณ์จริงในแต่ละส่วนแล้ว คำถามต่อไปคือ “จากจุดนี้ ถ้าจะขับเคลื่อนเสริมสร้างความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพของประชาธิปไตย 3 ระดับ ในฐานะของภาคประชาชนควรจะขับเคลื่อนอย่างไร”  โดยที่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น มีปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ข้างหน้าอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก คือ แฟลชม็อบ (Flash mob) และการชุมนุมที่ทำให้เกิดความโกลาหลบนท้องถนน ตามสถานที่ต่าง ๆ ตรงนี้มีประเด็นว่า “ถ้าเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านี้โดยสันติวิธี ควรทำอย่างไร       นี่เป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ในที่สุดคณะทำงานชุดนี้ได้มีข้อเสนอวิธีการฝ่าข้ามความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ด้วยหลักคิดและแนวทางที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “มรรค 8 สามัคคี-สมานฉันท์” ประกอบด้วยมาตรการหลัก 5 อย่าง และมาตรการเสริม 3 อย่าง รายละเอียดแสดงไว่ในเล่มแล้ว 

อีกเรื่องหนึ่ง คือประเด็น “ความเสื่อมทราม” ของการเมืองในระดับชาติ โดยเฉพาะปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ที่เป็นโรคระบาดรุนแรงเหมือน COVID-19 และแพร่กระจายไปทั่วทั้งองคาพยพการเมืองไทยแล้ว คำถามคือ “แล้วจะสร้างสิ่งใหม่ เปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเก่านี้ได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ เพื่อบุกเบิกค้นคว้าในเรื่องนี้

ล่าสุด คณะทำงานเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่และคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดเวทีระดับภูมิภาค 4 ครั้ง เพื่อสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่จากทุกจังหวัดในพื้นที่ สร้างความเข้าใจ เป้าหมายและเจตนารมณ์ร่วมกัน รวมทั้งสานความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากภาคสนาม จากฐานล่าง และจากปริมณฑลที่เป็นชายขอบ

หนังสือ ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน ก้าวข้ามความแตกแยก สู่การเมืองวิถีใหม่ เป็นผลิตผลจากการทอดเทปคำบรรยายในเวทีคณะทำงานเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ภาคกลาง ที่จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นผู้ทำการแก้ไข (Edit) และเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการเพื่อความสมบูรณ์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระสำคัญ แง่คิด และข้อมูลในหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ตามสมควรแก่กรณี

ด้วยคารวะ

คณะทำงานเครือข่ายการเมืองวิถีใหม่

13 เมษายน พ.ศ. 2564

(คลิกที่รูปหน้าปกเพื่อ download เอกสาร ขนาด A4)

(คลิกที่รูปหน้าปกเพื่อ download เอกสาร ขนาด A5)