ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (11) “รัฐบาลและสังคมไทย กับบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังคงหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเกิน 60 คนต่อวัน ผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 6,000 ราย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเพิ่มถึงหลักหมื่นในอีกไม่ช้า

พบคลัสเตอร์การระบาดในไซท์งานก่อสร้าง โรงงานและชุมชนที่มีสภาพแออัดเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในกรุงเทพฯและปริมณฑล  มีสภาพคนไข้ล้นเตียงโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนทั้งระบบ รวมทั้งในโรงพยาบาลสนามที่ช่วยกันขยายตัวรองรับ มีความอ่อนล้าของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขที่รับศึกหนักอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ปี  ไหนจะต้องดูแลผู้ป่วยที่ล้นมือ ไหนจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว 

ในที่สุดทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจ “กึ่งล็อคดาวน์” พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ผลกระทบที่ตามมาก็คือ แรงงานต่างจังหวัดต้องกลับบ้านเพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรกิน มีแต่รายจ่าย  แรงงานต่างชาติที่ไม่มีทางไปต้องถูกควบคุมอยู่กับที่หรือไม่ก็ถูกนายจ้างขนออกไปทิ้งไว้ตามเส้นทางสู่ชายแดน

ในสถานการณ์เช่นนี้ เราได้เห็นภาวะผู้นำและรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่ หลายจังหวัดตื่นตระหนก ออกประกาศเข้มในการควบคุมและกักตัวแรงงานที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ในขณะที่จังหวัดลำปางและบางจังหวัดประกาศต้อนรับแรงงานกลับบ้านอย่างมีระบบระเบียบ 

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนปรัชญาแนวคิดและเจตคติของผู้นำในระดับจังหวัดได้เป็นอย่างดี ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการคิด การพูดและการปฏิบัติ จึงเชื่อได้ว่าในบททดสอบใหญ่คราวนี้ คนไทยและสังคมไทยจะได้เรียนรู้ว่าผู้นำแบบไหน “ที่ใช่” และแบบไหนที่ “ไม่ต้องการ”

ท่ามกลางความโกลาหลที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ  โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ของรัฐบาลร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่น-ท้องที่ที่นั่นยังคงเดินหน้าต่อไป โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต้อนรับนักท่องเที่ยวที่บินเข้ามาเที่ยวเมืองไทย(เฉพาะภูเก็ตและเกาะแก่งในระแวก)กันอย่างคึกคัก

ในขณะเดียวกัน อีก10 จังหวัดท่องเที่ยวกำลังรอดูผลกระทบและประสบการณ์จากภูเก็ต รอคิวเปิดจังหวัดของตัวบ้าง สาเหตุที่ภูเก็ตและจังหวัดเหล่านั้นเขาทำได้ เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่อัตราความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนโควิดของเขาเกิน 70 %  จึงมีหลักประกันในด้านภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างที่เราเคยพูดกันมาแล้วหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม สีสันและอรรถรสแบบภาพยนตร์ไทยแนวแอ็คชั่น ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองที่แบ่งสังคมไทยออกเป็นฝักฝ่ายอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2549 ประทุออกมาเป็นความรุนแรงที่ถึงเลือดถึงเนื้อกันมาแล้วหลายรอบ นำมาจนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2557 

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านและต่อเนื่องมาภายหลังการเลือกตั้ง รวมเป็นปีที่ 7  สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกำลังเผชิญ คือนิสัยและอารมณ์ของคนไทยที่มักเบื่อผู้นำที่อยู่นาน  

นอกจากนั้น ยังมีความพยายามสร้างกระแสและก่อม็อบสารพัดรูปแบบเพื่อต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องจากขั้วตรงกันข้าม ประสานกับการเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งประกาศตัวล้มเจ้าเปลี่ยนระบอบกันอย่างโจ๋งครึ่มในระยะหลัง 

ทั้งยังมีแนวร่วมโดยตรงและมุมกลับ ทั้งแบบตั้งใจและแบบไม่รู้ตัว คอยคุ้ยแคะหาเรื่องตำหนิและขย่มการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในทุกจังหวะ ทุกฝีก้าว  สวนทางกับคำสอนของสมด็จพระสังฆราช ที่ทรงเตือนสติไว้ว่า   

“ขอจงเป็นผู้ที่ไม่พูดพล่ามโดยปราศจากสาระ ก่อความร้าวฉานชิงชังในยามที่สังคมต้องการสาระ คำปรึกษาหารือและกำลังใจ” 

ประเด็นแลกเปลี่ยนระดมความคิดในรอบสัปดาห์

ท้องถิ่น-ท้องที่ ชุมชน และประชาสังคมในจังหวัดของเรา จะมีบทบาทเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดและบรรเทาความแตกแยกจากสังคมการเมืองในพื้นที่ได้อย่างไร

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา / 4 กรกฎาคม 2564.