ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (12) “ อยู่รอดปลอดภัย ในยุคโควิด”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (12) “ อยู่รอดปลอดภัย ในยุคโควิด”

กองทัพโควิดที่มองไม่เห็นตัวกำลังบุกเข้าโจมตีบ้านเมืองของเราอย่างบ้าคลั่ง การบาดเจ็บล้มตายของชาวบ้านชาวเมืองที่เพิ่มขึ้นทุกวันย่อมทำให้ผู้คนแตกตื่นดิ้นรนเอาตัวรอด  สปายสายลับและไส้ศึกก็ต้องการก่อกวนให้บ้านเมืองเกิดโกลาหล  บทบาทหน้าที่ของผู้นำชุมชนและสังคมในทุกระดับ ทุกพื้นที่  คือ การตั้งสติให้เร็ว คุมขบวนฝูงชนให้ได้  และพร้อมรับมือภัยสาธารณะอย่างเฉลียวฉลาด รู้เท่าทัน

โควิดระลอกที่ 3 เพิ่งเข้าโจมตี ไม่ทันหยุดพักหายใจ  ระลอกที่ 4 ก็ถาโถมเข้ามาอีกแล้ว เมื่อปรากฏว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย)เข้ายึดครองพื้นที่กรุงเทพมหานคร แทนที่สายพันธุ์แอลฟา(อังกฤษ)แล้ว ทำให้การแพร่ระบาดครั้งใหม่ ทั้ง “เร็วและแรง” ยิ่งกว่าเดิม

รายงานข่าวประจำวันช่วยทำให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ว่า ผู้ที่รับวัคซีนแล้วก็ยังป่วยเป็นโควิดได้ เพียงแต่อาการจะไม่รุนแรงและไม่ตายจากโควิดลงปอด ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย  ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงต้องเข้มงวดดูแลสุขอนามัยพื้นฐานส่วนบุคคลและการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยเคร่งครัด

เป้าหมายของรัฐในการรับมือยังคงอยู่ที่การเร่งจัดหาและบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ให้ครอบคลุมได้มากและรวดเร็วที่สุด 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 10,000,000 โดส โดย 5 ล้านโด้สแรกใช้เวลารวม 101 วัน แต่เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ได้เร่งการฉีดอีก 5 ล้านโดสโดยใช้เวลาเพียง 23 วันเท่านั้น     

ขณะนี้มีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มรวม 11.1%  เป็นซิโนแวก 62.6% , แอสตร้าซิเนก้า 36.8% และซิโนฟาร์ม 0.6%   

จากผลการติดตามการใช้งานจริงที่ภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย พบว่าวัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัยสูง  คือ  94.28% ของผู้ฉีดไม่มีรายงานผลข้างเคียง วัคซีนสามารถลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ดี

ที่จังหวัดภูเก็ต ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุด คือ 70.25%  ส่วนกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนแล้ว 32.36% ของประชากร  รัฐบาลกำหนดเป้าหมายว่าคนไทยมากกว่า 50 ล้านคนจะได้รับวัคซีนภายในปี 2564

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหม่คือการตายจากโควิดกำลังทะยานสูงขึ้นจนทะลุ 1,000 คน/เดือนแล้ว โดยผู้ป่วยสูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคมีอัตราป่วยตายจากโควิดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่า จึงแนะนำให้ปรับกลยุทธ์การฉีดวัคซีนไปที่กลุ่มนี้ก่อน เพื่อลดอัตราตายในภาพรวม

นอกจากนั้น ในภาวะที่มีผู้ป่วยรายใหม่ใกล้ทะลุ 10,000 คน/วัน โรงพยาบาลรองรับไม่ไหวแล้ว รัฐจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองตัวเองได้ด้วยเครื่องตรวจขั้นต้นในราคาถูก(Rapid Test) และมีระบบกักตัวดูแลกันเองที่บ้านหรือในชุมชน (Home Isolation) เพื่อลดการแพร่กระจาย 

ส่วนในเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มเสี่ยงสูง การดื่มน้ำขิงร้อนๆ หรือองค์ความรู้เชิงภูมิปัญญาที่มีการแนะนำต่อๆกันมา ทั้งในเชิงการรักษาและการป้องกันนั้น  อะไรที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสามารถจัดการโดยพึ่งตนเองได้ก็ควรส่งเสริม ในฐานะที่เป็นศาสตร์และสุขภาพทางเลือก เพื่อให้ประชาชนและสังคมได้เรียนรู้ ศึกษาทดลอง และต่อยอดยกระดับกันไปตามศักยภาพ

ประเด็นแลกเปลี่ยนประจำสัปดาห์

1.ในครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงาน และอำเภอ-จังหวัดของท่าน มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดแล้วกี่ %  ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคมีกี่คน รับวัคซีนถ้วนหน้าหรือยัง  

2.ท่านมีความคิดเห็นต่อมาตรการกักตัวดูแลกันเองที่บ้านอย่างไร

3.ในชุมชนท้องถิ่นของท่าน มีภูมิปัญญาทางเลือกอะไรบ้างที่ใช้สู้ภัยโควิดได้ 

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา / 10 กรกฎาคม 2564.