ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ด้วยโควิดสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ในระลอกนี้มีการแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วมาก ผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้นทะลุ 2 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตนับเป็นหลักร้อย สถานการณ์ในเวลานี้ มิใช่การแพร่กระจายที่มาจากภายนอกประเทศหรือภายนอกจังหวัด-อำเภอ-ตำบล แต่เชื้อไวรัสโควิดปรากฏมีอยู่ทั่วไปในชุมชนของเราแล้ว โดยเฉพาะชุมชนเมืองและสถานที่แออัด อับทึบ การแพร่ระบาดยิ่งรวดเร็วและง่ายดายมาก
พี่น้องประชาชน-พลเมืองทั้งหลาย พึงตระหนักว่าสถานการณ์เช่นนี้ไปไกลเกินกว่าที่มาตรการล็อกดาวน์ด้วยกฎหมายและอำนาจรัฐส่วนกลางจะสะกัดกั้นได้แล้ว จึงถึงเวลาที่พลังทางสังคมทั่วประเทศ โดยเฉพาะการผนึกกำลังท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน ภาคเอกชนและเครือข่ายประชาสังคม ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง โดยเริ่มต้นที่จังหวัดและอำเภอของเรา โปรดอย่ารอการสั่งการจากส่วนกลางที่มีภาระงานล้นมือและเต็มไปด้วยปัญหาการเมือง-การจัดการอันยุ่งเหยิง
มาตรการหลักสำหรับการจัดการตัวเองและจัดการกันเองในจังหวัด-อำเภอของเรา มี 3 ประการ ได้แก่
1. เร่งการฉีดวัคซีน 100 % ในชุมชนของเรา
แม้ทางราชการจะพยายามเร่งบริการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในการจัดหาวัคซีนมาจากต่างประเทศและการกระจายวัคซีนลงสู่พื้นที่ไม่รวดเร็ว ไม่เพียงพอ มีสภาพแย่งชิงวัคซีนระหว่างพื้นที่และกลุ่มการเมือง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องแบกภาระหนักอึ้งในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ล้นทะลักโรงพยาบาล ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนทั่วประเทศยังคงอยู่ในระดับ 230,000 โด้ส ต่อวันเท่านั้น
ในเรื่องนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลขนาดใหญ่ควรเข้ามาช่วยจังหวัด-อำเภอ รับภาระในการแสวงหาและจัดซื้อวัคซีนให้กับประชากรอย่างถ้วนหน้า โดยเปิดรับบุคลากรสาธารณสุขที่เกษียณอายุในพื้นที่ มาเป็นหน่วยแพทย์อาสาของชุมชน โดยประสานกับโรงพยาบาลชุมชนและ รพ.สต. ให้บริการฉีดวัคซีนกันอย่างขนานใหญ่ แข่งกับการแพร่ระบาดโควิด
2. สนับสนุนการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองอย่างกว้างขวาง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมมือกับ อบจ.และเทศบาล จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ตรวจคัดกรองโควิดเบื้องต้น ที่เรียกว่า ATK แจกจ่ายฟรีให้กับเครือข่าย อสม. ผู้นำองค์กรชุมชนและประชาชนที่มีความต้องการ พร้อมกับสอนวิธีตรวจที่ถูกต้อง การแปรผล และแจกคู่มือแนวทางปฏิบัติตัวในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน ทั้งก่อน ระหว่างและเมื่อทราบผลตรวจคัดกรอง
3. จัดเตรียมสถานที่พักรอในชุมชนแบบพอเพียง
ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่อัตราป่วยตายของโควิดในประเทศไทยยังต่ำ คือ อยู่ที่ประมาณ 0.81%(ป่วย 561,000 ตาย 4,562) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกเป็น 2.12 % (ป่วย 197.3 ล้าน ตาย 4.2 ล้าน) นั่นหมายความว่าผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรง จะไม่มีอาการรุนแรงและสามารถหายได้เองด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และรับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจร หรือ ใช้ยาบรรเทาตามอาการ
ดังนั้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ สามารถใช้วิธีการกักตัวเองอยู่ที่บ้านได้ (Home Isolation) ส่วนคนที่มีบ้านอยู่กันหลายคน แออัด ไม่สะดวก จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่พักรอในชุมชน (Community Isolation) โดยหาอาคารสถานที่ที่ปลอดโปร่ง เหมาะสม มาปรับปรุงเป็นที่พักรอดูอาการและรักษาพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยในชุมชนจำนวน 20-30 ราย โดยมีแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลในระบบ มาประสานสนับสนุนกันอย่างใกล้ชิด รูปแบบเช่นนี้ยังสามารถดำเนินการได้กับหมู่บ้าน ตำบล โรงงานและโรงเรียนที่ประสพปัญหาอีกด้วย
ประเด็นระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำสัปดาห์
1.ท่านประเมินสถานการณ์โควิดและสภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาลในจังหวัด-อำเภอของท่าน อย่างไร
2.ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ท่านจะมีบทบาทรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและจังหวัด-อำเภอของท่าน อย่างไรบ้าง
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 31 กรกฎาคม 2564.