รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 79) “ พลังบูรณาการ ท่าข้ามอยู่ดีกินดี ”

พิกัดที่ตั้ง

ชุมชนบ้านหินเกลี้ยง  ตำบลท่าข้าม  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 79) “ พลังบูรณาการ ท่าข้ามอยู่ดีกินดี ”

ภาพรวม

ตำบลท่าข้ามเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็งของภาคใต้  พื้นที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบ “ฝน 8 แดด 4”  เศรษฐกิจตั้งอยู่บนฐานเกษตรกรรมสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน  ผู้บริหารท้องถิ่นและทีมงานมีความเข้มแข็งและคงอยู่ในตำแหน่งอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 20 ปี จึงสามารถดำเนินนโยบายการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีการออกแบบวางแผนและดำเนินการพัฒนามาเป็นขั้นเป็นตอน อย่างที่เรียกว่า Community by Design

อบต.ท่าข้าม สามารถสนับสนุนการทำงานของกลุ่มและเครือข่ายผู้นำและองค์กรชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและกลุ่มประชากรเป้าหมายตามภารกิจ  รวมทั้งประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการและสถาบันวิชาการภายนอกให้มาทำงานสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ทุกหมู่บ้านชุมชนในตำบล ขับเคลื่อนการพัฒนาไปโดยพร้อมเพรียงอย่างเป็นขบวนการ

ปัจจัยความสำเร็จที่ท่าข้าม ได้แก่ อบต. มีความเข้มแข็ง-ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถนำการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีทิศทาง  การมีเครือข่ายผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งครอบคลุมทั้ง 7 หมู่บ้าน  มีการบูรณาการกับหน่วยงานภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม มีรูปธรรมงานและองค์กรชุมชนต้นแบบในด้านอาชีพต่างๆอย่างหลากหลาย

สังเคราะห์บทเรียนรู้

ตำบลท่าข้ามเป็นชุมชนที่สามารถก้าวพ้นจากความยากจนและความด้อยพัฒนา ผ่านสถานะชุมชนที่มีเศรษฐกิจพอเพียง “พออยู่พอกิน” โดยเข้ามาอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า “อยู่ดีกินดี” มีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและนวัตกรรมมากมาย 

ตำบลท่าข้ามเป็นตัวอย่างของ “ตำบลบูรณาการ”  ที่มี อบต.เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ ทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนท้องถิ่น ประดุจ “การรวมแสงเลเซอร์”  จึงเกิดกลุ่มและเครือข่ายอาชีพและกิจกรรมสังคมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ การอนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์พื้นเมือง การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส การศึกษา คุณภาพชีวิต จัดการขยะ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

อบต.ท่าข้ามมียุทธศาสตร์การทำงานที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 9 ประการ จึงสามารถสนับสนุนการทำงานของกลุ่มและเครือข่ายผู้นำและองค์กรชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านและกลุ่มประชากรเป้าหมายตามภารกิจ ได้แก่

  • 1) ด้านการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • 2) ด้านการเสริมสร้างสุขภาพให้เป็นตำบลสุขภาวะ
  • 3) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • 4) ด้านเชิดชูภูมิปัญญา การศึกษา ส่งเสริมศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
  • 5) ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน
  • 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน
  • 7) ด้านการบริหารจัดการตำบลท่าข้าม
  • 8) ด้านประชาสัมพันธ์และข้อมูลชุมชน
  • 9) ด้านอาสาสมัครเพื่อสังคม

นอกจากนั้นยังเกิดผลงานรูปธรรม ที่มีลักษณะของนวัตกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

  • โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (อพ.สธ.)
  • โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามเป็นโรงงานปุ๋ยตัวอย่างระดับตำบล
  • สหพันธ์กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลท่าข้าม (2541)
  • โรงเรียนท้องนา สืบสานภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์
  • สหกรณ์กองทุนสวนยางท่าข้ามพัฒนายางจำกัด
  • กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพลง
  • กลุ่มเพาะเห็ดแคลง
  • กองทุนสัจจะวันละ 1 บาทเพื่อสวัสดิการชุมชน
  • กลุ่มสินค้า OTOP ท่าข้าม
  • กลุ่มสร้างซั้งกักน้ำ (ฝายภูมิปัญญา)
  • โครงการท่องเที่ยวชุมชน วิถีทุ่ง วิถีวัฒนธรรม
  • กลุ่มเลี้ยงวัวในสวนยาง ฯลฯ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 5 ก.ค. 2564