รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 83) “โควิด v.s. ต้มยำกุ้ง”

โควิดซ้ำเติม ยากจน-เหลื่อมล้ำ

โรคระบาดโควิด-19 ขยายปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและยากจนให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น เกิดวิกฤติการจ้างงานที่เลวร้าย ประชากรโลกหลายร้อยล้านคนยังคงตกงาน โดยกลุ่มของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 83) “โควิด v.s. ต้มยำกุ้ง”

โควิด-19 เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในเกือบทุกประเทศ คนยากจนต้องใช้เวลาที่นานกว่าคนร่ำรวยอย่างน้อย 14 เท่าในการที่จะพาตัวเองกลับมามีสภาพคล่องทางการเงินเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้ องค์การอ็อกแฟม ได้รวบรวมผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์ 295 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลกพบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่างคาดว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศของตัวเองเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโรค

คำสั่งล็อกดาวน์ประเทศในช่วงการระบาดรอบแรก กระทบธุรกิจสายป่านสั้นและชีวิตแรงงานจำนวนมาก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างบอกว่าปกติมีรายได้มากกว่า 1,000 บาท/วัน เพราะเป็นย่านธุรกิจและใกล้สถานีรถไฟฟ้า มีคนใช้บริการจำนวนมาก การระบาดรอบ 3 ทำให้รายได้ลดลงเหลือเพียงวันละ 60 บาท  

ส่วนแม่ค้ารายย่อยบอกว่าหลังจากทุกคนหยุดอยู่บ้านทำยอดขายตกลงร้อยละ 20 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท เมื่อหมดมาตรการรัฐยอดขายยิ่งลดลง คนที่ตกงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริการย้ายไปเป็นแรงงานภาคเกษตร แต่จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าประชากรเกษตรมีรายได้เพียงร้อยละ 6 ของรายได้ประเทศเท่านั้น

ธนาคารโลกคาดว่า โควิด-19 ส่งผลให้คนไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็น 5,200,000 คน หรือ หากเทียบกับปี 2562 ที่มีคนยากจนอยู่ที่ 3,700,000 คน  ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ รายงานว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุด ร้อยละ 5 มีสัดส่วนกำไรมากถึงร้อยละ 60 ของรายรับทั้งหมด

ผลกระทบทางสังคมมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวตามมา โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน-กลุ่มเปราะบาง จะยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามมา

 “โควิดยิ่งทำให้กลุ่มคนเปราะบาง ที่เดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว จะยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก และมีแนวโน้มว่าจะลงไปอยู่ในระดับล่างลงไปอีกจนไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ อย่างเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้วจะกลับเข้ามาอีกก็ยาก”

ย้อนรอยวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”

เมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา ภายหลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท(สมัยนั้นเรียกลดค่าเงิน) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 25.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้นไปกว่า 56.50 บาท/ดอลลาร์ ทำให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจที่ก่อหนี้ต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและนำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ และธนาคารพาณิชย์ต้องล้มละลาย ฉุดให้เศรษฐกิจตกตํ่าอย่างรุนแรง จนรัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540  เป็นวิกฤตการเงินที่ก่อเกิดหนี้ครั้งใหญ่ขึ้นมาทันทีมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันผ่านมา 24 ปี ใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปแค่ 7 แสนล้านบาท ยังคงเหลืออีกกว่า 7 แสนล้านบาท 

 “ค่าเงินบาท” วันนี้เป็นปัญหาที่ “กลับด้าน” จากปี 2540  เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา โดยในช่วง 4 ปีมานี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 16% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลก จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ยังมองว่าระดับทุนสำรองและการเกินดุลยังทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพสูงกว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯในระดับที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนได้กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ในครั้งนี้ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นเพราะความเปราะบางเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างมาก (การท่องเที่ยว และส่งออก) รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนโควิดกำลังฉุดรั้งกำลังซื้อของกลุ่มคนในภาคธุรกิจบริการอย่างมีนัยสำคัญ

ใน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2541 ติดลบ 7.6%  แต่ใช้เวลาไม่นานในการฟื้นตัว เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนลงมากช่วยภาคส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยถึงแม้จะฟื้นตัวแต่ไม่ได้กลับมาเติบโตในอัตราร้อนแรงอย่างช่วงก่อนต้มยำกุ้ง  

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจีดีพี ปี 2563 หดตัว -8.1% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อยู่ที่ติดลบ -7.7%  ที่แน่นอนก็คือ “รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง

ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศฟุบลงพร้อมๆ กันจากมาตรการล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วโลก  ส่วนภาคเกษตรไม่สามารถรองรับการเลิกจ้างของแรงงานในภาคการผลิตและบริการได้เหมือนอย่างช่วงปี 2540-2541  ดังนั้นวิกฤตโควิด-19 จึงอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง และบางภาคธุรกิจต้องเผชิญผลกระทบถาวรจากการพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 29 ก.ค. 2564