บทเรียนของกองทุน SIF หลังวิกฤติเศรษฐกิจ

เพื่อเป็นการฟื้นฟูทุนทางสังคม แก้ไขปัญหาผลกระทบของประชาชนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในระยะยาว รัฐบาลในยุคนั้น (ชวน หลีกภัย 2) ได้ตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund) ขึ้น โดยใช้เงินกู้จาก IMF ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของธนาคารโลก ทั้งนี้มอบให้ธนาคารออมสินซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการ แต่เป็นกึ่งรัฐกึ่งธุรกิจ (รัฐวิสาหกิจ) ให้เป็นหน่วยดูแลรับผิดชอบ
สำนักงานกองทุนฯซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานเฉพาะกิจ ได้สนับสนุนเงินให้เปล่าแก่โครงการที่ตอบสนองความต้องการชุมชนและเพื่อชุมชน โดยองค์กรท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการโดยตรง มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้นำและคุณภาพโครงการไปด้วยกันแบบครบวงจร
ผลการดำเนินงานในระหว่างพฤศจิกายน 2541 – มกราคม 2546 รวม 49 เดือน กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการแก่องค์กรชุมชนต่างๆ รวม 7,874 โครงการ ในวงเงิน 4,401 ล้านบาท มีจำนวนผู้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน
สำหรับผลกระทบระยะยาวในเวลาต่อมา จากการดำเนินโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมในครั้งนั้นพบว่าโครงการของชุมชนเหล่านี้ได้ก่อเกิดเป็นขบวนการชุมชนเข้มแข็งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ กล่าวคือเป็นจุดเริ่มและต้นกำเนิดขององค์กรชุมชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ มากกว่า 24 ประเภท มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 300,000 องค์กร
ดังนั้น ในบทความนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้นำบทเรียนรู้จากโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF – Social Investment Fund) ที่เคยดำเนินการอย่างได้ผลดีในยุควิฤติ “ต้มยำกุ้ง” มาปรับใช้ในการฟื้นฟูสังคมในยุคโควิด
การฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤติ COVID-19
รัฐบาลควรออกนโยบายจัดตั้ง “โครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤติ COVID-19” โดยมุ่งขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมจากพลังทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดระบบดูแลผู้รับผลกระทบทางสังคมจากวิกฤติครั้งนี้
ลักษณะของโครงการหรือสถานภาพ ควรเป็นโครงการพิเศษเฉพาะกิจของรัฐบาล มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (หรือไม่เกิน 40 เดือน) กรอบงบประมาณไม่เกิน 17,000 ล้านบาท (ร้อยละ 10 ของแผนงานฟื้นฟูฯ ตาม พรก.กู้เงินโควิดรอบสอง) โดยเมื่อเสร็จภารกิจหรือหมดเวลาตามกำหนดแล้ว ให้ยุบตัวลงเพื่อไม่เป็นภาระทางงบประมาณในระยะยาว
ควรมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังเป็นหน่วยกำกับดูแลโครงการนี้ โดยมีสำนักงานบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ความยากจน (หน่วยงานระดับกอง ภายในสำนักงานสภาพัฒนาฯ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาแล้วโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2563 ) เป็นกลไกดำเนินการ
ภาคีความร่วมมือ
ควรจัดให้มีองค์กรภาคี “ร่วมปฏิบัติการ” ที่หลากหลายเข้ามาทำงานด้วยกันแบบสานพลัง ทั้งภาครัฐ องค์การมหาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อาทิ
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน)
- กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม
- มูลนิธิพัฒนาไท มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
- เครือข่ายสภาประชาสังคมไทย เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนคุณธรรม เครือข่ายสภาวัฒนธรรม เครือข่ายธนาคารคลังสมอง
หลักการทำงาน
การทำงานของโครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากฯ มีหลักการ 7 ประการ ได้แก่
- หลักบูรณาการการลงทุนทางสังคมและการเสริมสร้างระบบตาข่ายนิรภัยสังคม
- หลักการสร้างผู้ประกอบการและวิสาหกิจระดับชุมชนท้องถิ่น พัฒนาคน และองค์กรชุมชนตามศักยภาพ
- หลักการแบ่งปันทรัพยากร เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เสริมสร้างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนครอบคลุมทุกพื้นที่
- หลักการพึ่งตนเอง สร้างความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชน โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา
- หลักการความร่วมมือหลายฝ่าย (พหุภาคี) แลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับตัวเท่าทันสถานการณ์
- หลักการบูรณาการฐานทุนชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- หลักการความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายของรัฐบาล
ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ
คาดว่าจะมีโครงการขององค์กรชุมชน ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนประมาณ 30,000 โครงการ มีประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิฤติโควิด-19 ได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน
นอกจากนั้น จะเกิดระบบตาข่ายนิรภัยทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของชาวบ้านขึ้นมาดูแลตนเองและดูแลกันเอง โดยต่อยอดมาจากเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็ง องค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรภาคประชาสังคมที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อันเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
ในระยะยาว สังคมไทยจะมีฐานทุนทางสังคมและพลังทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม (Resilience) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อันเป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศในหลายด้าน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 3 ส.ค. 2564
