เมื่อมีความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของนักการเมืองในฝั่ง ส.ส. กลุ่มหนึ่ง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาผนวกเข้ากับกระแสการเคลื่อนไหวนอกสภาของกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งพวกโจมตี ส.ว.
และมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายปี 2563 ทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ

จนกระทั่งมีการยื่นเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รวม 6 ญัตติ อีกทั้งกลุ่มกดดันทางการเมืองยื่นรายชื่อประชาชน 110,000 คน เพิ่มอีก 1 รายการ ขณะเดียวกันมีกระแสประชาชนฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีจำนวนเรือนแสนปรากฏตัวเช่นกัน
ชะลอยทางฝ่ายรัฐบาลเองคงเล็งเห็นว่าในเวลาอีกไม่นานข้างหน้า อาจจำเป็นต้องมีกระบวนการลงประชามติเป็นแน่ แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ฉบับเดิมก็มีอันต้องหมดสภาพไปแล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่าโดยที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมารองรับ จึงได้เร่งรีบนำ(ร่าง)กฎหมายประชามติฉบับใหม่เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ โดยบัดนี้รัฐสภาได้พิจารณาผ่านเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มิได้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเหมือนฉบับปี 2552 นอกจากนั้นยังตีกรอบให้ทำประชามติได้เฉพาะ 2 กรณีเท่านั้น คือ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม ม.256(8) และเรื่องที่มีมติ ครม. ให้ทำตาม ม.166
ประชามติเป็นระบบประชาธิปไตยทางตรงอย่างหนึ่ง โดยปกติจะมีอยู่ 2 แบบ คือ 1)ประชามติเพื่อปรึกษาหารือ 2)ประชามติเพื่อตัดสินชี้ขาด แต่ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับนี้ กำหนดให้รองรับแค่แบบหลังเท่านั้น ดังนั้นใครที่ฝันว่าจะใช้ พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ ไปทำเรื่องสัพเพเหระในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น หรืออะไรที่นอกเหนือไปจากนี้คงไม่สามารถทำได้
กฎหมายมีทั้งหมด 9 หมวด 63 มาตรา ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้ มีสำนักงาน กกต.เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนการออกเสียงประชามติตั้งแต่ต้นจนจบ โดยกำหนดนิยาม ความหมาย วิธีปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ใครบ้างที่มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ รวมทั้งการประกาศวันลงประชามติล่วงหน้า
กฎหมายกำหนดให้ใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียงประชามติ จัดให้มีหน่วยออกเสียง จัดหาที่ออกเสียงหรือเครื่องมือออกเสียง หีบบัตร บัตร กระบวนการนับคะแนน การประกาศผล รวมทั้งยังได้กำหนดระดับความยอมรับประชามติว่าต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และต้องเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ตามหลักการที่เรียกว่า Double Majority
กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและต้องไม่ชี้นำ การจัดการออกเสียงประชามติต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เสรี เสมอภาคและชอบด้วยกฎหมาย ป้องกันคำครหานินทาและการหาเหตุไม่ยอมรับผลของประชามติ อย่างสถานการณ์ที่ถูกหยิบยกมาโจมตีกันอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้อย่างเสรี เสมอภาคและเท่าเทียม รัฐอาจจัดงบประมาณสนับสนุนการรณรงค์แต่ละฝ่าย อาจกำหนดเพดานค่าใช้จ่าย ส่วนการระดมทุนเพื่อการรณรงค์นั้นกรรมาธิการยังห่วงกังวลในเรื่องถือโอกาสแทรกแซงของต่างชาติที่มีผลประโยชน์แอบแฝง
การลงคะแนนออกเสียงประชามติ ต้องเปิดให้สามารถลงคะแนนทางไปรษณีย์ เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็คทรอนิกส์ หรือสารสนเทศอื่นๆ รวมทั้งให้มีการลงคะแนนเสียงจากนอกราชอาณาจักรได้ตามที่กลุ่มนักศึกษาไทยในต่างแดนเรียกร้องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 55 56 57 และ 58 เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทุจริต การขัดขวาง นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาฝ่าฝืน การทำลายบัตร หีบบัตร อุปกรณ์หรือเครื่องลงคะแนน มีทั้งโทษปรับ โทษจองจำ และโทษถอนสิทธิ์ทางการเมือง ยิ่งถ้าเป็นเจ้าหน้าที่จัดการลงประชามติทำผิดเสียเอง โทษจะหนักกว่าคนทั่วไปสูงถึง 10 เท่าตัวทีเดียว.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 11 ส.ค. 2564
