การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

*เคยนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการปัญหาความยากจนฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (ส.ว.) หมายเลข 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

อ่านในรูปแบบ PDF file

บทสรุปผู้บริหาร

การลดความยามจนและเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษา

         ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทั่วโลก และเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นของโลก ดังที่ UN ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ไว้หลายเรื่องแต่เรื่องที่สำคัญสุดและเป็นอันดับแรกคือ การแก้ปัญหาความยากจน

         สำหรับประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหานี้เป็นอันดับต้นเช่นกัน และยังเป็นปัญหาที่สั่งสมปมความยากจนและเหลื่อมล้ำ ดังที่พูดกันติดปากว่ารวยกระจุกจนกระจาย แม้ว่าประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษาด้วยงบประมาณที่สูงแล้วก็ตาม 

         และด้วยเหตุนี้องค์การ UNESCO ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างยิ่งและเห็นว่าการขจัดความยากจน หรือลดความยากจนถือเป็นเป้าหมายแรกของการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะช่วยขจัดความยากจนนำไปสู่สุขภาพที่ดี สนับสนุนประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล และรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไว้ได้ 

         การที่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ มีความสามารถในทางเศรษฐกิจ เป็นอิสระจากการพึ่งพา เพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาจะทำให้เขามีความรู้และข้อมูลที่เพียงพอในการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาของสังคมในมิติต่างๆ รวมถึงเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ด้วย

         ด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพให้คนทุกคนในสังคมเข้าถึงและได้รับโอกาส คือการสร้างความเสมอภาคทางโอกาส ไม่มีการเหลื่อมล้ำในทางการศึกษา และสามารถต่อยอดไปสูการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของแต่ละปัจเจก ไม่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างการกระจุกตัวของการมีอำนาจทางการเมืองเฉพาะกลุ่มอีกด้วย

         การศึกษาจึงเป็นช่องทางการหยุดยั้งการถ่ายทอดความยากจน จากรุ่นพ่อ แม่ สู่รุ่นลูกหลานได้ และยังลดความไม่เท่าเทียมทางโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจอีกด้วย และการศึกษายังช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาคอีกด้วย

         แนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งขจัดความยากจนและลดการเหลื่อมล้ำจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

  1. การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ ล้าหลังให้ตั้งตัว ตั้งไข่ เพื่อคงอยู่และพัฒนาขึ้นมาให้ใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นได้ 
  2. การศึกษาฟรีมีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกกลุ่มทุกคน ต้องสร้างกลไกให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ง่าย สะดวก มีความพร้อมที่จะอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความสามารถและวุฒิภาวะที่จะพึ่งตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้ 
  3. การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือปฎิรูปคนให้เป็นพลเมืองที่พร้อมจะรับผิดชอบบต่อสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการศึกษาที่สร้างพลเมืองให้ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนส่วนตน และมีความพร้อมและความสามารถที่เพียงพอในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
  4. การศึกษาที่ต้องตอบสนองการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพราะเป็นที่รวมอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
  5. การศึกษาต้องมุ่งปฏิรูปครู เพื่อการผลิตสร้างครูทั้งระบบคือแนวคิด หลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้ครูเป็นต้นทางและตัวแบบของเด็กและเยาวชนของสังคมประชาธิปไตย
  6. การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะไม่เป็นข้ออ้างในการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาที่จะส่งถึงตัวเด็ก 

การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยคุณภาพเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นอิสระที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงต้องลงทุนสูงด้วยงบประมาณ แต่หากต้องลงแรงและสติปัญญา ด้วยเจตจำนงทางการเมืองร่วมด้วยเป็นสำคัญ เราจึงจะเห็นพลเมืองคุณภาพที่เป็นอิสระได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

Executive Summary

Ending Poverty and Inequality through Education

         The United Nations has set various sustainable development goals but has given top priority to reducing poverty and inequality which have been plaguing almost all parts of the world for a very long time.

         In Thailand, poverty and inequality have been among its major chronic problems. The country has tried to cure these social and economic ills by allocating huge budget to educational development, however, to no avail. The gap between the rich and the poor has been widening. The rich, although much lower in number, own the biggest part of the country’s wealth, leaving the people at the bottom of the income pyramid  destitute.  

         The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) itself recognizes that quality education is an effective tool for the fight against global poverty and equality promotion efforts. Education can help people escape poverty traps. An access to high-quality education is always a precursor to poverty alleviation. Valuable knowledge and skills pave the way to a brighter future where the poor will then have necessary resources to improve many areas of their lives, to stay healthy and to become financially and economically independent.

         These people can even be a driving force behind efforts to make society better. Their knowledge and information can be used to raise public awareness on issues surrounding the environment, democracy and good governance and political development or any other serious political, economic and social problems. Some may eventually become key players in campaigns for political changes.

         Accessible education and equal educational  opportunity to all, therefore, are powerful weapons in the war on poverty. The growing number of educated people will reduce chances of any individuals or any particular groups to dominate the economy, the markets or the political power. This is why quality education must be provided fairly and equally for every member of society if the goal towards equitable distribution of economic opportunities and wealth is to be achieved.

         Education is also a way to break the cycle of generational poverty and narrow the urban-rural gap.

Guidelines on Poverty and Inequality Reduction through Education:

  1. Education management must base on the equalization system to enable people or areas that are at a disadvantage to “stand on their own two feet” first.
  2. Free quality education must be distributed to all children. There must be an easy access to education and efforts must be made to keep children in the education system as long as possible in a bid to help them rely on  themselves, enhance their capabilities, develop maturity and turn them into responsible citizens.
  3. Civic education needs support as it is one of the important tools in the development of good and responsible citizenry. Civic knowledge helps prepare the people to carry out civic duties and responsibilities which include engagement and participation in social and political activities under the democratic system and also to put public interest before anything else.
  4. Education must respond to the need to reduce widespread poverty and inequality especially in rural and regional areas.
  5. Teacher reform is essential in improving the quality of education. Teacher education programs may need a major revamp in key areas such as curriculums and learning and training process to produce quality teachers who can be top role models for students.
  6. Distance learning via available technologies should be arranged for students in remote areas to stop repeated excuses for the shortages of school supplies and educational resources.

Creating good and quality citizens through 

quality education requires not only high investment budget but also tremendous efforts, wisdom and a strong political will. Returns on investment, however, are worthwhile – citizens who can enjoy  economic and political freedom.      

Thippaporn Tantisunthorn

——————————–

การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกสังคมทั่วโลก และเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ดังที่ UN ประกาศเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ไว้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นอันดับแรก คือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขจาก World Bank ชี้ชัดการเพิ่มขึ้นของความยากจนถึง 2 เท่า ในปี 2016 และ 2018 คือตัวเลขคนยากจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคน และปรากฏอยู่ในภาคกลาง-อีสาน ที่ตัวเลขคนยากจนเพิ่มมากขึ้นมากกว่าครึ่งล้านในปี 2016, 2018 และในปี 2017 เป็นครั้งแรกที่พบว่าภาคใต้ อัตราความยากจนสูงที่สุด ในปี 2018 ความยากจนขยายตัวในทุกภูมิภาค ครอบคลุม 61 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ความยากจนล้วนเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางสังคม คือ 

  • ปี 2019 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค East Asia + Pacific จากความแห้งแล้งที่กระทบกับการใช้ชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จนที่สุด
  • เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำข้ามภูมิภาค ส่งผลให้กระทบต่อการส่งออก ซึ่งพึ่งภาควัตถุดิบทางการเกษตร
  • ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ รายได้ต่อครัวเรือนส่งผลต่อความยากจนที่เปลี่ยนไปที่แย่ลง สภาพการดำรงชีพที่ต่ำลงกว่าเดิม เหล่านี้กลายเป็นแหล่งความยากจนที่ขยายตัวสูงขึ้น ทำให้ความไม่เสมอภาคมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศไทย รายงานของ World Bank จึงเรียกร้องให้มีการลงทุนและการปฏิบัติเพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่าน ในระยะสั้น ที่ต้องการ safety net ความปลอดภัยเนื่องด้วยประชากรที่อ่อนแอ ไม่มีความมั่นคง เขาต้องการการแก้ปัญหาที่ฉับไว คือการสร้างงานที่ดีขึ้นให้กับครัวเรือนที่ยากจน เพื่อให้ทันกาลกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในระยะยาว การลงทุนเรื่องความยุติธรรมในคนรุ่นหน้า จะเป็นเรื่องหลัก (Key) ด้วยเหตุที่คนรุ่นหน้า (Next Generation) จะมีจำนวนน้อยลง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ เด็กทุกๆ คน ต้องการความยุติธรรม ความเท่าเทียม ที่จะได้รับในการดูแลทั้งสุขภาพ และโอกาสทางการศึกษาที่ไปให้ถึงศักยภาพของแต่ละคน ด้วยช่องทางนี้จะช่วยให้แต่ละครัวเรือนไม่ตกบ่วงของความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้ และจะทำให้สามารถช่วยดูแลคนสูงอายุได้ด้วย พร้อมๆ กับการทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตในโฉมหน้าใหม่ด้วย

การขจัดความยากจนคือเป้าหมายแรกของการศึกษา

องค์กร UNESCO พูดเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่า การขจัดความยากจนหรือการลดความยากจนถือเป็นเป้าหมายแรกของการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพที่จะให้ความรู้และวิชาการ วิชาชีพ ให้ทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพนั้นไปทำมาหากิน ไปรบกับความยากจน เพราะฉะนั้นการศึกษาที่มีคุณภาพจึงจำเป็นอย่างมาก

องค์การ UNESCO ได้ให้กรอบความสำคัญเรื่องการศึกษาไว้ว่า การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยขจัดความยากจน นำไปสู่สุขภาพที่ดี สนับสนุนประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล และรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

คนที่เข้าถึงการศึกษาคุณภาพจึงสามารถสร้างการเปลี่ยนตัวเองได้ คือ เป็นอิสระจากการพึ่งพาผู้อื่นเพราะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ 

การศึกษาที่ดีมีคุณภาพ จึงไม่เพียงสร้างความสามารถของปัจเจกให้บรรลุถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หากต้องให้เขามีความรู้และวิจารณญาณที่เพียงพอจะเข้าร่วมในการตัดสินใจในประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองได้อีกด้วย

การศึกษาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีและรัฐจะต้องเป็นธุระจัดการให้แก่ประชาชนทุกคน เพราะการศึกษาจะเป็นเครื่องชี้วัดของคุณภาพคนของรัฐ ที่จะไปขับเคลื่อนภาคการผลิตทางเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ต้องการให้สมาชิกของสังคมเป็นผู้มีส่วนร่วมกับชะตากรรมของบ้านเมือง คือการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของทุกรัฐในการขัดเกลาให้คนในสังคมเป็นพลเมืองที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และแบกรับภารกิจของสังคมประเทศชาติด้วยความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของสังคมและประเทศ 

การศึกษาที่มีคุณภาพ จึงเปลี่ยนทั้งคน เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนเศรษฐกิจ และเปลี่ยนการเมือง ได้ครบทุกมิติ

การศึกษามีผลทางเศรษฐกิจ

…“แต่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องโกงก็สามารถที่จะรวยได้อย่างเหลือล้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจนได้อย่างเหลือเชื่อโดยไม่เกียจคร้าน” …   ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

  • คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุดห่างกันถึง 22 เท่า
  • คนไทยมากว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง
  • โฉนดถึง 61% อยู่ในมือคนเพียง 10% 
  • การพัฒนาที่เน้นแต่ GDP ขาดการพัฒนา “คน” คนในแต่ละพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ผลจากการพัฒนาทำให้เศรษฐกิจยิ่งโต ผู้มีทุนมากยิ่งได้เปรียบ

         จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเป็นต้นตอไปสู่ความขัดแย้ง เพราะความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการแย่งชิงทรัพยากร จึงยากที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันเป็นสุข และขาดเสถียรภาพในสังคมในที่สุด

         ภาพใหญ่ คือ การลดการกระจุกตัวของทรัพยากรในที่ใดที่หนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และทำให้คนไทยเชื่อได้ว่าชีวิตจะดีขึ้น จะสามารถก้าวพ้นความยากจนได้ ในช่วงชีวิตที่ได้ร่ำเรียน ได้ทำงานอย่างสุจริต นี่คือโจทย์ของการกระจายอำนาจไปให้คนในท้องถิ่นให้เขาคิดพัฒนาด้วยตัวเขาเองโดยไม่ต้องผ่านหัวคิวจากส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นที่ไม่คืบหน้า ไม่เกิดความมั่นคงในแง่ของบุคคลและของสังคม

         โลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) เปลี่ยน ประเทศพัฒนาแล้วต่างพลิกตัวไปที่การศึกษาให้ทันโลก คนคิดเป็น รู้จักดัดแปลง และปรับตัวได้

         สำหรับประเทศไทยยังอยู่ที่เดิม แม้จะปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปการศึกษาโดยมี พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ซึ่งมุ่งเน้นที่ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจของกระทรวง แต่ไม่ได้ลงสู่การปรับเปลี่ยนเรื่องแนวคิด (Mindset) ของทั้งผู้บริหาร ครู จนถึงตัวเด็ก ในเรื่องการศึกษาให้ทันโลก เป็นพลเมืองคิดเป็น คิดเก่ง รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และเค้าโครงของตัว พ.ร.บ. ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ก็มิได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญนี้เช่นกัน

         การพัฒนาของรัฐไทยจึงเน้นที่การเจริญเติบโตทางวัตถุ การพัฒนาเศรษฐกิจรุดหน้า แต่ไม่สัมพันธ์กับการศึกษาที่ยังอยู่กับที่โดยละทิ้งการพัฒนาด้านศักยภาพของมนุษย์ การพัฒนาเช่นนี้จึงทำให้รัฐเข้มแข็ง แต่ประชาชนอ่อนแอ ทั้งในแง่ทัศนคติและแง่การเป็นพลเมือง ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่คอยพึ่งพิงรัฐ

ชุมชนอ่อนแอ เพราะการวางแผน การจัดการ และการแก้ไขปัญหามาจากภายนอก 

ดังนั้น การพัฒนาจึงเป็นการพัฒนาด้านวัตถุ จิตใจที่เป็นจิตอาสา ความร่วมมือซึ่งกันและกันจากภายในจึงเกิดยาก

เป้าหมาย ของการพัฒนาของรัฐ จึงควรอยู่ที่ทำให้คนเข้มแข็ง จัดการตนเองได้ ไม่ใช่การทอนพลังประชาชน จนพึ่งตนเองไม่ได้แม้ในทางเศรษฐกิจที่จะรักษาปัจจัย 4 พื้นฐานของชีวิตไว้ได้

เศรษฐกิจ และ การศึกษา มีผลต่อกันตรงที่หากประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถที่จะอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เท่านี้ ก็ทำให้เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้แล้ว ซึ่งมีรายงานวิจัยของ UN ระบุว่า การศึกษาเป็นตัวเพิ่มรายได้ และแม้เข้ารับการศึกษา 1 ปี ก็จะช่วยเพิ่ม 10% ของรายได้ การศึกษาจึงส่งผลให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัจจัยการผลักดันการผลิตเพื่อการแข่งขันที่สำคัญ

การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และรู้วิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐาน มีข้อยืนยันทางบวกมานานแล้วว่า มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของประชากร และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การศึกษาจึงเป็นการลงทุนในมนุษย์ (human capital) ที่จำเป็นของทุกรัฐ เพื่อที่จะให้มั่นใจว่า มนุษย์จะสามารถมีความรู้และทักษะที่จำเป็นและเพียงพอในการบรรลุความสำเร็จของตน การศึกษาโดยพื้นฐานเช่นนี้ จึงเป็นช่องทางลดปัญหาทางสังคมในหลายๆ เรื่อง คือ 

  1. เด็กที่ออกจากโรงเรียน และสามารถอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นโดยพื้นฐาน จะไม่ตกอยู่ในสภาพที่ยากจน และจะลดทอนความยากจนได้มากถึง 30% จากการเรียนรู้ที่พัฒนา การศึกษาช่วยชะลอความยากจน
  2. การศึกษาเป็นช่องทางการหยุดยั้งการถ่ายทอดความยากจนจากรุ่นพ่อแม่ สู่รุ่นลูกหลานได้
  3. การศึกษาช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  4. การศึกษาสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะช่วยให้มีงานทำ มีเศรษฐกิจดี
  5. การศึกษาเป็นตัวช่วยในการสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
  6. การศึกษาลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คือ หากมีคนทำงานที่มาจากความรวยและจน แต่ได้รับการศึกษาที่เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันอย่างเสมอหน้า ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ถึง 30% การศึกษาเช่นนี้ ในทางเศรษฐกิจ ถือว่ามีบทบาทในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่การศึกษาก็มีมิติด้านสังคมและการเมืองรวมอยู่ด้วย ซึ่งการศึกษาก็เป็นตัวสะท้อนความมีหรือไม่มีเสถียรภาพทางสังคมในทุกด้านอยู่ด้วยอย่างที่ไม่อาจแยกส่วนใดๆ ได้ เพราะคนเป็นผลผลิตทางการศึกษาที่เข้าไปแทรกตัวอยู่ในทุกมิติของสังคม

อีกทั้ง ด้วยภาวะเศรษฐกิจมั่งคั่งที่กระจุกตัว ยังผลทำให้อำนาจทางการเมืองก็มีลักษณะกระจุกตัว คนมั่งมีสามารถใช้อำนาจทางการเมืองที่เกิดจากการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งกีดขวางการก่อตัวของโครงสร้างทางการเมืองประชาธิปไตย ที่ต้องการส่งเสริมอิสรภาพ เสมอภาค และยุติธรรมให้ปรากฏแก่พลเมืองของสังคม

การจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงอยู่ในอำนาจของทุกรัฐ และเป็นความปรารถที่จะไปสู่จุดนั้น

การศึกษา จึงเป็นทั้งเป้าหมายหลักและที่มั่นสุดท้าย ก็คือ ตัวสังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มั่นคง (Security) มีอิสระ ปลอดจากการครอบงำของธุรกิจหรือการเมือง หรือของประเทศใดๆ และจะมั่นคงได้ต้องมีเอกภาพ

รัฐจึงเป็นผู้ออกแบบและกำหนดกฎ กติกา ระเบียบทั้งหลายให้ปรากฏเป็นทิศทาง และปฏิบัติได้ในการสร้าง “คน” หรือ “พลเมือง” ของรัฐตามที่ต้องการ ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติของทุกรัฐรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้ในปี 2560 ก็ระบุไว้หมวด หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 คือ 

มาตรา 54 

  • รัฐ ต้องดำเนินการให้การศึกษาภาคบังคับกับเด็กทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
  • รัฐ ต้องดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาให้แก่ประชาชนตามความต้องการในระบบต่างๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ ต่างประเทศ และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล….

….ให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ…

….รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามความถนัดของตน ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา

หมวดปฏิรูปประเทศ 

มาตรา 257

(2) สังคมมีความสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกัน เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ

(3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา 258

จ. ด้านการศึกษา

  • ให้ดำเนินการตามมาตรา 54 วรรคสอง เด็กเล็กต้องได้รับการดูแล
  • ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคหก
  • ปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด
  • ให้มีกลไกและระบบการผลิตครู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

การศึกษา คือ โอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาค

         แม้ว่ารัฐจะระบุให้มีการจัดการศึกษา และการจัดกองทุนเพื่อช่วยเหลือทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ด้วยงบประมาณที่สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ มาอย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาลแล้ว แต่การบริหารการศึกษาที่มุ่งเน้นในส่วนกลาง และให้ความสำคัญกับเมืองหลวง เมืองใหญ่เป็นสำคัญ นี่จึงเป็นประเด็นของการรวมศูนย์อำนาจในการใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศอันเป็นปัญหารากฐานในการแบ่งสรรทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ ที่ได้สร้างความยากจนและเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่แรกเริ่มแผนพัฒนาชาติ ซึ่งมีการนำเอาทรัพยากรของประเทศส่วนใหญ่ไปลงที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในการเงินและทรัพยากรคน ในระบบการศึกษาก็เป็นไปเพื่อผลิตคนรับใช้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคราชการเป็นหลักใหญ่ ฉะนั้น ระบบการศึกษาของไทยก็เท่ากับว่าเอาทรัพยากรคนในชนบท ดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดมา แทนที่จะสร้างส่วนที่ดีที่สุดเพื่อรับใช้ชนบท ก็เอามารับใช้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและราชการมากกว่า ทำให้ชนบทเสียเปรียบและถูกละเลยในการพัฒนาทำให้ภาคชนบทอ่อนแอ เพราะทรัพยากรถูกแบ่งมาที่เมือง และทุ่มไปที่อุตสาหกรรม ไม่ใช่ภาคเกษตรและชนบท คนในชนบทจึงไม่มีอำนาจต่อรอง ภาคชนบทจึงขาดทรัพยากรคนที่มีความรู้และความสามารถ ทำให้ภาคชนบทและภาคเกษตรกลายเป็นภาคของคนยากจน

         การศึกษาจึงต้องออกแบบเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่นอกเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ที่อยู่ในภาคเกษตรและแรงงานในอุตสาหกรรมที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ โดยจัดและออกแบบให้เป็นระบบการศึกษาที่สนองความต้องการของส่วนภูมิภาคและภาคชนบท เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้สามารถทำงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ในชนบท โดยการศึกษาต้องมีเป้าหมายที่จะมุ่งเป็นการศึกษาสำหรับส่วนภูมิภาคอย่างแท้จริง เพราะแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ระบบการศึกษาของประเทศจะต้องมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และทรัพยากร-ธรรมชาติ รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ของแต่ละภูมิภาคซึ่งไม่เหมือนกัน เพื่อให้การศึกษาเป็นองค์รวมของการพัฒนาให้ชุมชนแต่ละพื้นที่สามารถที่จะมีฐานของความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง การพึ่งตนเองได้ของคนชนบทจะทำให้เขาเป็นอิสระในทางเศรษฐกิจและปลอดจากการครอบงำและถูกเอาเปรียบจากคนภายนอกโดยเฉพาะ การถูกครอบงำจากเมืองใหญ่ หรือเป็นอาณานิคมของเมืองใหญ่ การจัดการศึกษาจึงมุ่งที่ลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองอีกด้วย คือ การศึกษาที่มุ่งสร้างโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาคการจัดการศึกษาแบบใหม่จึงควรนำเอาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และคนจากเมืองใหญ่ได้มีส่วนไปช่วยคนชนบทพัฒนา จากความรู้ที่แตกต่างเพื่อเป็นการพัฒนาชาติให้ไปด้วยกัน จะทำให้คนในทุกภูมิภาคมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองในการสร้างงานและพึ่งตนเอง ทำให้ชนบทสามารถรักษาระบบครอบครัวของตนเองได้ รักษาชุมชนท้องถิ่นตัวเองได้ไม่ต้องแยกย้าย อพยพหรือทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน หากทำได้เช่นนี้ ชนบทที่กล้าแกร่งก็จะมีกำลังเงินซื้อ การพัฒนาชนบท ชุมชนท้องถิ่น ก็จะเป็นฐานที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนาก้าวหน้า พึ่งตนเอง เพราะสามารถพึ่งตลาดภายในประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่สร้างคนในชุมชนท้องถิ่น จึงทำให้เราต้องพึ่งตลาดภายนอก เน้นการส่งออก เพราะกำลังซื้อภายในมันขาด การพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นจะเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อุตสาหกรรมครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ ให้กระจายและขยายตัวให้มากและเร็วขึ้น และจะเป็นการเพิ่มผู้ประกอบการในระดับฐานรากชุมชนท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งสร้างคนไปเป็นแรงงานราคาถูก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จากภาคเกษตรก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานไปหมด ไม่ว่าจะถูกจ้างในเมืองหรือในท้องถิ่น สร้างสภาพความเหลื่อมล้ำและยากจนไม่จบสิ้น

         เข็มมุ่งของการจัดการศึกษา จึงควรเป็นไปในทิศทางของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่จะปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากการครอบงำทางความรู้และทางเศรษฐกิจเพื่อให้มนุษย์ได้ดำรงชีพอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่การศึกษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์

แนวทางการจัดการศึกษา ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

  1. การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ หรือล้าหลังให้ตั้งตัว ตั้งไข่เพื่อคงอยู่และแข่งขันได้ หรือพัฒนาขึ้นมาให้ทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ โดยนัยนี้ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าหรือความเจริญของเมืองให้ใกล้เคียงกัน โดยมิให้เมืองต่างๆ เกิดความเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเมือง ทั้งในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การคมนาคม ไฟฟ้า ประชากร ความเป็นอยู่ รายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น การพัฒนาเมืองในแนวทางนี้จะเอื้อต่อการจัดการศึกษาในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นให้มีระดับทัดเทียมแต่ละเมือง ไม่เกิดช่องว่างทางการศึกษาและเศรษฐกิจ
  2. การศึกษาฟรี มีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน คือ การสร้างกลไกเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ เด็กพิการ เด็กพิเศษ รัฐต้องทุ่มเทจริงจังให้เด็กทุกคนได้รับความสะดวกและให้ความพร้อมที่จะอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความสามารถ และวุฒิภาวะที่จะพึ่งพาตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้

เด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรีในทุกโอกาส และสถานที่ที่เด็กอยู่เป็นการเรียนฟรีที่มีคุณภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ แต่ในความเป็นจริง เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะการศึกษาไม่ฟรีจริง ซ้ำยังขาดคุณภาพ ซึ่งผู้ยากจน ด้อยโอกาส ขาดความพร้อม เช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน การเดินทาง และอาหาร เป็นต้น 

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปคนให้มีความเป็นพลเมือง ที่มีค่านิยมเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนี้จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะ และมีความรับผิดชอบที่พร้อมพอสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกมิติของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง อย่างรู้เท่าทันต่อระบบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการยกระดับคุณภาพคนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม มีความรู้และเข้าใจในสังคมของตน และความเป็นไปของโลก เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนส่วนตน การศึกษาในแนวนี้จะทำให้คนมีสำนึกในความเป็นเจ้าของท้องถิ่นตนและประเทศชาติที่พร้อมจะปกป้อง และเนื่องด้วยการศึกษานี้เน้นการปลดปล่อยจากการครอบงำและชี้นำ ทั้งจากอำนาจรัฐและกระแสสังคม ก็จะช่วยเป็นช่องทางให้ผู้เรียนได้แสวงหาความคิด การค้นคว้า การประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้เกิดปัญญาในการพึ่งตนเอง จึงเป็นการส่งเสริมเสรีภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งจะทำให้สร้างประโยชน์ในระดับชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติได้ เพราะคนเหล่านี้จะสามารถรังสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำลงไปได้มาก จากความสามารถของพลเมืองเอง

การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญ การจัดการศึกษาจึงต้องการการออกแบบที่สนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่เป็นสำคัญ คือ การศึกษาเพื่อท้องถิ่นสำหรับแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน เพื่อตระหนักในศักดิ์ศรี คุณค่า และอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ในทุกพื้นที่ที่จะทำให้คนในทุกๆ ที่ได้บรรลุถึงศักยภาพ และความสามารถที่จะปกครองตนเอง และจัดการตนเองได้ การศึกษาจึงควรเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอ และได้เรียนตามภูมิสังคมของตนเอง และยึดโยงกับชุมชนของตน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้ การศึกษาเช่นนี้จึงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และความแข็งแกร่งของพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไว้ได้ โดยที่คนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ต้องอพยพไปเรียนในเมืองใหญ่ที่ห่างไกล และยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรส่วนตนมากขึ้น และทำให้เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือ ไม่สามารถที่จะอยู่ในการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การศึกษาเพื่อท้องถิ่น ยังเป็นการรักษาความเป็นมาของท้องถิ่นที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิศาสตร์ที่มั่นคง มีทุนทางสังคมที่มีความต่อเนื่อง คือมีการพัฒนาและปรับตัวในท้องถิ่น (Localization) ไม่ถูกกลืนสลายหายไปกับโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization)

การปฏิรูปครู คือ การปฏิรูปการศึกษาในการผลิตสร้างครูทั้งระบบ เนื่องจากครูคือต้นทางและตัวแบบ (Role Model) ของเด็กๆ และเยาวชนในระบบการศึกษา ที่รัฐมอบบทบาทให้ทำการกล่อมเกลาเยาวชนของชาติ ผ่านกระทรวงศึกษาธิการด้วยงบประมาณที่สูง และบุคลากรจำนวนมากที่ทำหน้าที่สนับสนุน กำกับ และควบคุมทิศทางการศึกษาที่ส่งลงไปที่ตัวเด็กในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็กว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด เพราะเด็กและคนไทย คือผลผลิตทางการศึกษาที่รัฐจัดทำ ด้วยเหตุผลนี้ จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปที่ตัวหลักสูตร การเรียนการสอนของครู เพื่อสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้เยาวชนสามารถที่จะมีความคิดริเริ่ม กล้าสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และปรับตัวแก้ปัญหาร่วมกับสังคมได้ ไม่ใช่การศึกษาในแบบเดิมที่ต้องจำตามครูบอก คือสอนให้จำแล้วนำไปสอบ แต่เปลี่ยนไปทางคุณภาพ คือ สอนให้ทำ นำให้คิด รู้จักดัดแปลงจึงจะปลดปล่อยทั้งครูและเด็กไทยให้หลุดจากการจองจำของระบบการศึกษาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ ซึ่งเป็นระบบเผด็จการและอำนาจนิยมที่แฝงฝังอยู่ในการศึกษาไทย การปฏิรูปครูจึงเป็นการปลดปล่อย (decolonize) อาณานิคมทางจิตวิญญาณของครูที่เคยขึ้นกับระบบความคิดเดิม แต่ระบบการศึกษาต้องการความเป็นอิสระ และเป็นที่ฝึกฝนการใข้เสรีภาพในการแสดงออก การใช้ความคิด อย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล จนเป็นวัฒนธรรมของสังคม

การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน นอกจากการสอนในแบบปกติ (Offline) ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบการสอนผ่าน TV ทางไกล การสอนผ่าน Online อันเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล ครูขาดแคลน หรือเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ต่างๆ เหล่านี้ และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ระบบ internet (digital divide) และไฟฟ้าไม่ทั่วถึงก็ไม่เป็นข้อปิดกั้นโอกาสและสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเสมอภาคกัน โดยเฉพาะเมื่อจำนวนเด็กลดลง ทั้งจากโดยการเกิด และการย้ายถิ่นของพ่อแม่ รัฐก็มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาให้ถึงเด็กทุกคนถ้วนหน้า แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยไม่จำเป็นต้องยุบโรงเรียนในชุมชนหมู่บ้าน เพราะโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาที่ทำให้คนเจริญงอกงาม (Education is Growth) การยุบโรงเรียนคือการลดทอนความสำคัญการศึกษาของท้องถิ่น รวมทั้งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

การสร้างการศึกษาในแนวทางที่จะลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องลงทุนไม่เพียงด้วยงบประมาณ หากแต่ต้องลงแรงด้วยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ร่วมด้วยเป็นสำคัญ เราจึงจะเห็นการพึ่งตนเองและเป็นอิสระได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

บรรณานุกรม

เกษม วัฒนชัย. ปาฐกถาพิเศษ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน, นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

โกวิทย์ พวงงาม. มองมุมใหม่การบริหารท้องถิ่น ประสบการณ์เรียนรู้จากต่างประเทศสู่ไทย, 
(พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพ: เสมาธรรม, 2556.   

ร่างยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580, เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2561 ของ สศช. กันยายน 2561, สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

ศรีศักดิ์ ไทยอารี, ณฐกร ศรีแก้ว และกานต์ เสริมชัยวงค์. สถานภาพการให้บริการการศึกษาสำหรับ
เด็กด้อยโอกาสในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร บราซิล ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย,  กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2543.  

สุวิทย์ เมษินทรีย์. โลกเปลี่ยน ไทยปรับ, กรุงเทพฯ: กรุงเทพธุรกิจ, 2556.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. ยุทธศาสาตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสหราชอาณาจักร, กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, มีนาคม 2543.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 (Education in Thailand 2018), กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค, ธันวาคม 2561.

Branded Content. “เรื่องจริงที่ต้องรู้ความยากจน ทำเด็กไทยกว่า 2 ล้านคนเสี่ยงหมดโอกาสการศึกษา เศรษฐกิจไทยสูญปีละ 1-3% ของ GDP”, [http://brandinside.asia/
education-thailand], 6/22/2020.

James A. Banks, editor. Diversity and Citizenship Education: Global Perspective, U S A: Jossey-Bass, 2004.

The World Bank. “Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand”,[https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/taking-the-pulse-of-poverty-and-inequality-in-thailand], 6/22/2020.