จาก “เผด็จการทหาร” สู่ “ประชาธิปไตยสากล” ในเกาหลีใต้

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร, 15 มิถุนายน 2559

*เคยนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการปัญหาความยากจนฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (ส.ว.) หมายเลข 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา

อ่านในรูปแบบ PDF file

ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐเกาหลี : ภูมิรัฐศาสตร์ และการเลือกตั้ง

         ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี หรือที่คนไทยเรียกว่าประเทศเกาหลีใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1948 ถือว่าเป็นประเทศที่ยึดหลักปกครองแบบประชาธิปไตยทุนนิยม แต่ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1948-1998 รวม 50 ปี ได้มีวิกฤติการณ์ทางการเมืองเป็นช่วงๆ ระบบการเมืองมีความไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลและอำนาจทางสังคมและทหาร ก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการปราบปราม ล้อมปราบฝ่ายต่อต้านที่เป็นทั้งพลเรือน นักศึกษา และนักการเมือง ตลอดจนฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้ง เพียงเพื่อที่จะได้ครอบครองอำนาจไว้ในกลุ่มของตน

         ดร.ชิงมันรี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1948-1960 เขาเป็นวีรบุรุษผู้ร่วมต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศในช่วงปี 1910-1945 เขาดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย แต่ก็ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ดำรงตำแหน่งต่อตลอดกาล จึงได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนและฝ่ายค้าน กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 1960

         นายพล ปักจุงฮี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อช่วงปี 1962-1979 เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ฉีกรัฐธรรมนูญและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ ยูชิน ในปี 1972 เพื่อขยายวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศออกไปไม่มีวันสิ้นสุด ก่อให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองจากฝ่ายประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังทหารเข้าบดขยี้จนทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งการจับกุม อุ้มฆ่า ผู้ต่อต้านอย่างหนัก สังคมเต็มไปด้วยความตึงเครียด สุดท้ายเขาถูกลูกน้องคนสนิทสังหารผู้เป็นนายของเขาเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าครอบครองอำนาจนานเกินไป จนกลายเป็นจอมเผด็จการที่ไม่มีใครโค่นล้มได้

         นายพลชุน ดูฮวาน ดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี 1981-1987 และนายพลโรห์ แตวู ดำรงตำแหน่งช่วงปี1988-1991 นับเป็นช่วงที่ทหารครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จติดต่อกันอีกต่อมา จนกระทั่งปี 1992 เกาหลีใต้จึงมุ่งสู่เส้นทางประชาธิปไตยเต็มใบ เมื่อนายคิม ยังแซม นักการเมืองมืออาชีพได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เป็นผู้นำประเทศยุคใหม่และเป็นพลเรือนอีกด้วย

         ฝ่ายทหารได้ยอมจำกัดสถานภาพของตนเองในการทำหน้าที่ป้องกันประเทศ และให้ประชาชนได้ทำหน้าที่ในทางการเมืองการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ หลังจากที่ทหารปกครองและเป็นผู้นำประเทศมาเป็นระยะเวลาถึง 30 ปี

         นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ไม่ได้หวลกลับไปมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกเลย ระบบการเมืองมีเสถียรภาพต่อเนื่อง กลายเป็นระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมชาวเกาหลีใต้นับแต่นั้นมาตราบจนปัจจุบัน ดังรายนามผู้นำประเทศในช่วงต่อมา ดังนี้คือ

นายคิม ยังแซม     ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  1992-1997

นายคิม แดจุง      ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  1998-2002

นายโรห์ มูเฮียน    ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  2003-2007

นายลี เมียงพัก     ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  2008-2012

นางสาวปัก กึนเฮ   ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  2012-2016

นายฮวัง กโย-อัน   รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ. 2016-2017

นายมุน แจ-อิน     ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างปี ค.ศ.  2017-ปัจจุบัน

         ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ระบบการเมืองประชาธิปไตยของเกาหลีใต้มีเสถียรภาพ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังมั่นคงและได้รับการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งช่วงของการพัฒนาวางรากฐานความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหารที่นำโดยนายพลปักจุงฮี นั่นเอง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจรุดหน้า นำพาให้ประเทศเกาหลีก้าวหน้าพ้นจากความล้าหลังและยากจนได้ เป็นรากฐานให้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในอดีตได้ยกระดับสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน

         การเมืองที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังนับแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ทำให้เกาหลีใต้ได้นักการเมืองที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ รัฐบาลตั้งแต่อดีตในยุคทหาร จนถึงยุคพลเรือน ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างชาติด้วยการทุ่มเททำงานหนัก และวางแผนระบบการศึกษาที่เข้มข้น เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางการศึกษาและการงานอาชีพ อันเป็นยุคของการใช้ประโยชน์จากการรัฐประหารเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ถูกวางไว้ตั้งแต่ปี 1962 ยุคของนายพลปักจุงฮี ด้วยการระดมผู้รู้ทั่วประเทศมาทำงานร่างแผนพัฒนาเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ คือร่วมกันทำงานเพื่อชาติ เป็นการสร้างจิตสำนึกในการทำงานหนัก และการทุ่มเททางการศึกษา เพื่อให้มีทรัพยากรบุคคลมาพัฒนาประเทศ สู่ยุคสมัยใหม่ ที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นการใช้อำนาจแบบเข้มข้นในการพัฒนาประเทศ ซึ่งกลายเป็นทั้งทักษะ และความสามารถพื้นฐานของคนเกาหลีที่มีการศึกษาดี และมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี ทำให้ประเทศเกาหลีใต้พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นทุนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

         อย่างไรก็ดี จุดพลิกผันที่ทำให้การเมืองเกาหลีใต้ต้องเข้าสู่การเมืองประชาธิปไตย ก็เนื่องจากในปี 1986 ประชาชนเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างหนักทั่วประเทศ และเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักศึกษาจาก 19 สถาบัน ทั้งในกรุงโซลและต่างจังหวัดร่วมขบวนเดินประท้วง แต่ถูกตำรวจกว่า 7,000 นาย บุกมหาวิทยาลัยต่อสู้กันอย่างหนัก นักศึกษาถูกจับกุมจำนวนมาก อาคารเรียน อุปกรณ์ต่างๆ ถูกไฟเผาผลาญ การประท้วงครั้งนี้มีผู้นำฝ่ายค้าน ผู้นำทางการเมือง คือ นายคิม ยังแซม และนายคิม เดจุง ได้ร่วมรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลด้วย จนในที่สุด ประธานาธิบดีได้ประกาศยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การปรองดองด้วยการปฏิรูปการเมืองที่เรียกว่าคำประกาศ 29  มิถุนายน 1987 (June 29 Declaration 1987) ประธานาธิบดีขณะนั้นประกาศยอมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านที่ให้มีการเลือกตั้งภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1988 และมีการปล่อยนักโทษการเมืองกว่า 2 พันคน

         การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างรีบด่วน ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็เสร็จ และประกาศใช้ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 อย่างไรก็ตาม นายพลโรห์ แตวู ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว คือ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกาหลีใต้เดินหน้าเข้าสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นลำดับ

         รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1948 และมีการปรับปรุงแก้ไขมาถึง 9 ครั้ง ฉบับปัจจุบันประกาศใช้ในปี 1987 มี 130 มาตรา ระบุชัดเจนว่า ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี “เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของปวงชน”

         การพัฒนาการเมืองของประเทศเกาหลี ด้วยการมีสภาแห่งชาติและประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ผ่านการเลือกตั้ง การมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติที่เป็นอิสระจึงมีความหมายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเผด็จการทหาร สู่ ระบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญไม่เพียงจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลพรรคการเมือง หากแต่ยังมีบทบาทเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบประชาธิปไตยด้วยการพัฒนาด้านการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเข้มข้น จากที่ได้มีการก่อตั้งสถาบันพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Korean Civic Education Institute for Democracy – KOCEI) ขึ้นปี 1996 ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังประเทศเกาหลีเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีพลเรือนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ นายคิม ยังแซม ในปี 1992 และสถาบัน KOCEI นี้ ก็ริเริ่มก่อตั้งและดำเนินการในยุคสมัยนี้เช่นกัน จึงทำให้แนวทางพัฒนาประชาธิปไตยในจุดเปลี่ยนสำคัญนี้ได้วางรากฐานที่จะพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองให้เป็นวัฒนธรรมทางสังคมในประเทศเกาหลีได้จนถึงปัจจุบัน

บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Commission) ในการพัฒนาประชาธิปไตย

คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติก่อตั้งขึ้นในปี 1963 เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีหน้าที่ 1) บริหารจัดการการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติให้เป็นธรรม 2) บริหารจัดการในเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง 3) บริหารจัดการเรื่องที่เกี่ยวกับกองทุนทางการเมือง 4) ให้การศึกษาภาคพลเมือง และ 5) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งและระบบการเมืองการปกครอง ในวาระปกติ คณะกรรมการจะประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้ง โครงสร้างของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังประกอบด้วยระดับท้องถิ่นอีก 3 ระดับ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับเมือง/จังหวัด (Si/Do) คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับเมือง(Gu/Si/Gun) และคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน (Eup/Myeon/Dong)

โครงสร้าง กกต. 4 ระดับ

ก่อนปี 1963 กกต. เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการนับตั้งแต่ประเทศมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1948 แต่ด้วยปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งที่มีสืบเนื่องเรื่อยมา และมีมาอย่างรุนแรงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1960 ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่แยกจากระบบราชการมาเป็นองค์กรอิสระ และเพื่อให้การทำงานของ กกต. เป็นกลางและเป็นธรรม รูปแบบการบริหารจึงประกอบด้วย คณะกรรมการ 9 คน สมาชิก 3 คนมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 3 คนมาจากการเลือกของรัฐสภา และอีก 3 คนมาจากการแต่งตั้งของประธานศาลฎีกา กรรมการทั้ง 9 เป็นผู้เลือกประธานกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี กรรมการจะต้องไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองใดๆ

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการเลือกตั้งอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด ได้แก่

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดี
  • การเลือกตั้งทั่วไป (เลือกสมาชิกรัฐสภา)
  • การเลือกตั้งผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น (เช่น นายกเทศมนตรีมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีเทศบาลอำเภอ)
  • การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (เช่น สมาชิกเทศบาลมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลเมือง และเทศบาลอำเภอ)
  • การเลือกตั้งกรรมการตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ
  • วิจัยเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง

กกต. กับการจัดการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งระดับชาติ ประกอบด้วย การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา 300 ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้ง 253 ที่นั่ง และจากสัดส่วน 47 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แยกเป็นสามระดับย่อย คือ เมือง/จังหวัด เมือง หมู่บ้าน ในการลงสมัครชิงตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภา สภาท้องถิ่น ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง หรือโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ตามจำนวนที่กำหนดของแต่ละระดับ) ในการเสนอชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองอาจมาจากการสรรหาหรือการเลือกตั้งภายในพรรคเพื่อหาตัวผู้สมัครก็ได้ (Primary Election) สำหรับการเลือกตั้งภายในพรรคเริ่มขึ้นในปี 2004 ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสให้ว่าที่ผู้สมัครได้แนะนำตัวเอง และสร้างความคุ้นเคยกับประชาชนล่วงหน้านาน ซึ่งจะจัดก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 240/120/90/60 วัน ขึ้นอยู่กับระดับการเลือกตั้ง หากรอให้ช่วงเวลารณรงค์หาเสียงหลังได้รับการเสนอชื่อจากพรรคจะไม่ทันการณ์ เพราะมีเพียง 22 วัน สำหรับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และ 13 วัน สำหรับตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาและสภาท้องถิ่น

กกต. ได้แสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเมืองเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง ในปี 1990 ได้ก่อตั้ง Korea Civic Education Institute for Democracy (KOCEI) เพื่อให้เป็นหน่วยงานเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย มากไปกว่านั้น ได้ออกนโยบาย การลดภาระค่าใช้จ่ายและกำหนดมาตรฐานการรณรงค์หาเสียงเพื่อความเป็นธรรม โดย 1) รัฐบาลหรือรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร เช่น ค่าป้ายและการติดโปสเตอร์ในที่สาธารณะ ค่าเอกสารและการส่งเอกสารแนะนำตัวไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งทางไปรษณีย์ 2) รัฐบาลหรือรัฐบาลท้องถิ่นจะคืนเงินที่ผู้สมัครใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ในวงเงินที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง และทำบัญชีส่ง กกต. อย่างถูกต้องเท่านั้น และจะจ่ายให้ในกรณีเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ 1) ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง หรือ 2) ผู้สมัครเสียชีวิต หรือ 3) ผู้สมัครได้รับคะแนนมากกว่า 15% ของผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง แต่หากผู้สมัครได้รับคะแนนเกิน 10% แต่ไม่ถึง 15% ผู้สมัครจะได้รับเงินคืนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่าย ตัวอย่างวงเงินค่าใช้จ่ายที่กฎหมายอนุญาต เช่น ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกิน 55,977 ล้านวอน ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาไม่เกิน 176 ล้านวอน ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เกิน 1,424 ล้านวอน

         การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายจากภาครัฐนี้ อาจเกิดความกังวลได้ว่าจะทำให้มีผู้คนสนใจสมัครจำนวนมากจนเกิดความวุ่นวายและเป็นภาระต่อการใช้งบประมาณหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกัน กฎหมายเลือกตั้งเกาหลีใต้ได้กำหนดให้ผู้สมัครวางเงินมัดจำ 300 ล้านวอน (300,000 USD) สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี และ 15 ล้านวอน (15,000 USD) สำหรับตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ ผู้สมัครจะได้รับเงินคืนเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและผลคะแนนออกมาเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 1) ผู้สมัครได้รับการเลือกตั้ง หรือ 2) ผู้สมัครเสียชีวิต หรือ 3) ผู้สมัครได้รับคะแนนมากกว่า 15% ของผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง แต่หากผู้สมัครได้รับคะแนนเกิน 10% แต่ไม่ถึง 15% ผู้สมัครจะได้รับเงินคืนครึ่งหนึ่งของเงินมัดจำ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งก็ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปี 2004 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นอย่างจริงจังของการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต. เข้มงวดในการจับและลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ผู้ใดซื้อเสียงต้องรับโทษปรับห้าสิบเท่าของเงินที่ใช้ พรรคการเมืองที่ใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดวัตถุประสงค์มีโทษจำคุก/ปรับ ผู้พบเบาะแสการกระทำผิดได้รับเงินรางวัลไม่เกิน 500 ล้านวอน (500,000 USD) ทุกวันนี้ คดีทุจริตซื้อเสียงลดน้อยลงไปมาก ความผิดอื่นที่พบ เช่น การทำโพลชี้นำ การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง การใช้ถ้อยคำรุนแรง บิดเบือน ในสื่อออนไลน์

จากประเทศที่มีการทุจริตถึงขนาดที่ประชาชนแทบจะหมดความเชื่อถือในกลไกการเลือกตั้ง ปัจจุบันนี้เกาหลีใต้ได้รับการประเมินว่าระบบการเลือกตั้งและการจัดการการเลือกตั้งอยู่ในระดับแนวหน้า จาก The Economist Intelligent Unit (EIU)  ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและวิเคราะห์ของ The Economist Group ของประเทศสหราชอาณาจักร และอยู่ที่อันดับที่ 21 จาก 167 ประเทศในการจัดอันดับความก้าวหน้าของประชาธิปไตย มีการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายปากกาเพื่อทำสัญลักษณ์แทนการกากบาท หีบนับคะแนนติดชิปเพื่อป้องกันการสูญหายหรือถูกเปิดขณะขนย้ายไปจุดนับคะแนน ใช้เครื่องนับคะแนนทำให้รู้ผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

กกต. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเป็นผู้นำในการจัดการเลือกตั้งระดับโลกให้ได้ (Global Election Leader) ซึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย 1) ความสามารถในการจัดการการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม 2) การลดการทุจริตในการรณรงค์หาเสียง และ 3) ความสามารถในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในระบอบประชาธิปไตย สนใจที่จะมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่พลเมือง และตระหนักถึงความสำคัญในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งที่ 20 ในวันที่ 13 เมษายน 2559 กกต. ได้รณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิโดยใช้คำขวัญว่า “Beautiful Elections Happy Korea” “การเลือกตั้งสวยงาม เกาหลีเป็นสุข”

         กกต.เกาหลีใต้ ได้ให้ความหมาย การเลือกตั้งที่สวยงาม หมายถึง การเลือกตั้งที่สมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงความชัดเจน ความเป็นธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม ซึ่งหมายความว่า เป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้งที่สวยงาม ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ประชาชนไว้วางใจในการเลือกตั้ง และสามัคคีกันหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่เฉพาะประชาธิปไตยโดยกระบวนการ (procedural democracy) ที่มีแนวทางแสวงหาความชัดเจนของกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่การเลือกตั้งที่สวยงามนี้ มาจากการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งด้วยตนเอง อย่างเป็นอิสระ และวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้ากันได้ ซึ่งจะสร้างความบันเทิงให้เราในชีวิตประจำวัน เหมือนกับสิ่งต่างๆ ที่สวยงามในโลกที่จะสร้างความบันเทิงให้เราทั้งจิตใจและความรู้สึก

         ส่วนการเลือกตั้งที่โปร่งใส คือ การเลือกตั้งที่ได้รับการเชื่อถือและไว้ใจจากประชาชนโดยเปิดเผย ทั้งนี้ กระบวนการเลือกตั้ง และการนับคะแนนของ กกต. และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ก็จะมอบหมายให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ ในฐานะเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งอีกด้วย คือ นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ประชาชนทั่วไปก็จะสามารถสมัครเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการเลือกตั้งและการนับคะแนนได้ล่วงหน้าด้วย

         การจัดระเบียบเรื่องการเปิดเผยเงินทุนทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องเปิดเผยรายได้และรายจ่ายในการเลือกตั้ง ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

         การเลือกตั้งของประเทศเกาหลี ตั้งอยู่บนหลักวิสัยทัศน์ 3 ประการ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งเป้าหมายเพื่อการเมืองที่ดี ดำเนินการไปกับประชาชน และเดินหน้าสู่อนาคต ด้วย 3G คือ

  • Good Politics      การเมืองที่ดี
  • Good Service      การให้บริการที่ดี
  • Good Future       การมีอนาคตที่ดี

ระบบการเลือกตั้ง

         สาธารณรัฐเกาหลีมีระบบการเลือกตั้ง 4 แบบ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละระดับจะจัดให้มีการเลือกตั้งในพื้นที่ที่รับผิดชอบดังนี้ คือ        

ระบบการเลือกตั้ง 4 แบบ

  1. การเลือกตั้งล่วงหน้า : ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกตั้งที่ใดก็ได้ในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้อง
  2. การเลือกตั้งภาคพื้นทะเล : เนื่องจากปูซานเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเกาหลีใต้ มีลูกเรือทั้งลูกเรือประมงและเรือสินค้า ซึ่งเดินเรืออยู่ในมหาสมุทรทั้งห้าจำนวนมาก ดังเช่นที่ กกต.ปูซาน จึงมีการเลือกตั้งภาคพื้นทะเล โดยลูกเรือสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 5-8 วัน วิธีการเลือกตั้งภาคพื้นทะเล คือ กกต. จะส่งบัตรลงคะแนนแล้วกัปตันก็จะส่งโทรสารกลับมายัง กกต.ปูซาน
  3. การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร : ประชาชนชาวเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ต่างประเทศสามารถเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง 9-15 วัน
  4. การเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้งในเขตที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง

การหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สมัครจะส่งข้อมูลของผู้สมัครให้แก่ กกต. แล้ว กกต. จะจัดทำโปสเตอร์หาเสียงจัดส่งให้แก่ผู้สมัครทางไปรษณีย์

ผู้สมัครสามารถแจกนามบัตรแนะนำตัวหรือหาเสียงในที่สาธารณะได้ ส่วนการกล่าวปราศรัยเลือกตั้งในที่สาธารณะและการเข้าร่วมอภิปรายของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น กกต. จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องสถานที่และจัดเวทีอภิปรายให้

อำนาจหน้าที่ของ กกต.

         กกต. สามารถที่จะตักเตือนได้หากมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในเรื่องเล็กน้อย แต่หากเป็นเรื่องสำคัญก็จะสอบสวนเสนอให้ กกต.กลาง เป็นผู้พิจารณา

         นอกจากการเลือกตั้งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว กกต. ยังมีส่วนในการจัดการเลือกตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ด้วย หรือจัดการเลือกตั้งสหพันธ์ต่างๆ ของภาคเอกชนหากมีการร้องขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งให้

การหาเสียงการเลือกตั้ง

         กกต. จะเป็นหน่วยงานอำนวยการตามกฎหมายเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย พรรคการเมืองที่จะทำการรณรงค์หาเสียงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ผู้สมัครจะสามารถรณรงค์หาเสียงได้ตั้งแต่ 14 วันล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง ฉะนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ประชาชนทั่วไป) จะได้รับรู้ข้อมูลจากสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ด้วย

         นอกจากนี้ กกต. ยังจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ เอกสารประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ติดแผ่นป้ายประกาศการเลือกตั้ง และจัดกิจกรรมพิเศษในแต่ละท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น ระยะเวลาและวิธีการรณรงค์หาเสียง รวมทั้งข้อห้ามในการหาเสียง เป็นต้น

         การกำหนดระยะเวลาการหาเสียงไว้เพียง 14 วัน ก็เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการหาเสียงแก่ผู้สมัครทุกคน เพราะผู้สมัครที่มีเงินมากก็จะสามารถใช้เงินเริ่มต้นหาเสียงได้ยาวนานกว่าผู้สมัครที่ใช้เงินน้อย การรณรงค์หาเสียงที่ไม่จำกัดเวลาอาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมักมีการหาเสียงเกินเวลา ซึ่งถือว่าทำผิดกฎการเลือกตั้ง

วันเลือกตั้ง มี 2 กรณี คือ

  1. วันเลือกตั้งจะถูกกำหนดขึ้นภายหลังการหมดวาระ ซึ่งจะกำหนดให้เป็นวันพุธแรกหลังจากหมดวาระไปแล้ว 50 วัน
  2. การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง คือ วันพุธแรกกลางเดือนเมษายน 

วิธีการเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง และการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น 1 คน ต่อ 2 บัตร คือ 1 บัตรสำหรับเลือกผู้สมัครตามเขต และ 1 บัตร สำหรับเลือกพรรค

เวลาเลือกตั้ง : 06.00 – 18.00 น.

การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  1. มีสัญชาติเกาหลี
  2. มีอายุครบ 20 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ตนลงทะเบียนเลือกตั้ง
  4. ต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ

  1. ต้องเป็นบุคคลสัญชาติเกาหลี
  2. ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปี
  3. ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองต้องได้รับการรับรอง (Affiliate) จากพรรคและต้องผ่านการเลือกตั้งเบื้องต้น (Primary Election) เสียก่อน
  4. ผู้สมัครอิสระต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงชื่อให้การรับรอง 300-500 คน
  5. ในการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ต้องฝากเงินประกัน (Trust deposit money)ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในจำนวนคนละ 15 ล้านวอน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เพื่อเป็นหลักประกันความซื่อสัตย์สุจริต (Ensure the integrity) ของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย

การนับคะแนนเสียง

  1. หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยในเขตเลือกตั้งจะนำหีบบัตรมาส่งยังสถานที่นับคะแนนที่แต่ละเขตกำหนด เมื่อมาถึงก็จะนำส่งหีบบัตรลงคะแนน โดยมีคณะกรรมการตรวจนับของหน่วยเป็นผู้รับ ก็เป็นการเสร็จขั้นตอนของหน่วยเลือกตั้ง
  2. นำหีบบัตรมาเทรวมกันบนโต๊ะของคณะกรรมการในห้องนับคะแนนรวม ซึ่งมีจำนวน 7 โต๊ะ รวมกับโต๊ะของคณะกรรมการนับคะแนนทางไปรษณีย์อีก 1 โต๊ะ รวมเป็น 8 โต๊ะ มีคณะกรรมการโต๊ะละ 11 คน รวมหัวหน้าดุแลอยู่นั้นด้วย 1 คน กรรมการมีหน้าที่รวบรวมบัตรทำเป็นมัด จำนวนมัดละ 100 ใบ (100 คะแนน) แล้วรวบรวมบัตรส่งให้คณะกรรมการชุดที่ 2 คือ ชุดนับคะแนนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์ชุดละประมาณ 700,000 บาท)
  3. คณะกรรมการนับคะแนนด้วยคอมพิวเตอร์มีจำนวน 5 คน รวมทั้งหัวหน้าผู้ควบคุม 1 คน โดยนำบัตรที่ลงคะแนนใส่ในช่องเครื่องนับคะแนน เครื่องนับคะแนนก็จะวิ่งไปออกตามช่องของแต่ละเบอร์ของพรรคการเมืองได้มีตัวเลขออกที่จอคอมพิวเตอร์ หากใบใดมีปัญหาเครื่องก็จะดีดออกมาเพื่อให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะเป็นบัตรดีหรือบัตรเสียอย่างไรต่อไป
  4. หลังจากเสร็จจากการนับคะแนนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ก็จะนำส่งให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งตรวจเช็คความถูกต้องและนับคะแนนอีกครั้งหนึ่ง โดยมีคณะกรรมการแต่ละชุดจำนวน 5 คน รวมทั้งหัวหน้าควบคุมก็เป็นการเสร็จกระบวนการ นำผลคะแนนส่งให้คณะกรรมการเพื่อรวบรวมคะแนนเพื่อประกาศทางโทรทัศน์เป็นช่วงๆ ต่อไป

สถาบันให้การศึกษาทางการเมืองประชาธิปไตย

(Korean Civic Education Institute for Democracy – KOCEI)

ที่มาและอำนาจหน้าที่

         แนวคิดการจัดการศึกษาทางการเมืองประชาธิปไตย (Civic Education) ได้มีการริเริ่มขึ้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 1992 ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในบทที่ 15-2 (Article 15-2 of Election Commission Acts) เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และวิธีที่คิดว่าสำคัญที่สุดคือ จิตใต้สำนึกของประชาชนเป็นสำคัญประชาชนต้องมีความรู้สึกเองว่าจะต้องมีส่วนร่วม การจะทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปลูกฝังความคิดนี้ให้กับผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ถ้าเจ้าของสิทธิมีความคิดว่าจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เขาก็จะมีความคิดที่จะไปเข้าร่วมเองไม่ใช่การไปบังคับ  จึงมีแนวคิดที่จะพยายามปลูกฝังในเรื่องจิตใต้สำนึกเพื่อชาติ เพื่อส่วนรวม เมื่อแนวคิดนี้ตกผลึกร่วมกันแล้วจึงได้จัดตั้งหน่วยงานทางด้านนี้ขึ้น

         KOCEI จึงถูกจัดตั้งตามแนวคิดข้างต้นขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 1996 เป็นหน่วยงานบริหารด้านการให้การศึกษาทางการเมืองประชาธิปไตยแก่เจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แล้วจึงขยายออกไปถึงกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง

         อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มก่อตั้งขึ้นในครั้งแรกนี้ สถาบัน KOCEI เป็นเพียงหน่วยงานที่ให้บริการทางวิชการและการบริการทั่วไปเท่านั้น จนกระทั่งปี 2000 จึงได้ตั้งแผนกด้านการให้การศึกษาทางการเมือง (Political Education Division) และในปี 2009 ถึงปี 2013 ก็มีการจัดระบบและพัฒนาความก้าวหน้าขององค์กรเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และเน้นให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง จัดระบบงานเป็น 3 กรม ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

         · กรมวางแผนการศึกษ (Education Planning Department)

         · กรมการให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education Department)

         · กรมการศึกษาวิจัยระบบการเมือง (Political System  Study Department) 

โครงสร้างองค์กร KOCEI

(KOCEI Organization)

         สถาบัน KOCEI นับแต่ก่อตั้ง คือปี 1996 จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลา 23 ปีแล้ว แต่เริ่มให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาทางการเมืองเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ให้เป็นทิศทางหลักที่โดดเด่นอย่างจริงจังในปี 2000 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกหลายประเทศก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองใหม่ โดยมีเป้าหมายที่สร้างพลเมืองในแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นต้องให้การศึกษาทางการเมืองอย่างถูกต้อง ทั้งในระบบการศึกษาและระบบการกล่อมเกลาทางสังคมด้วย

         การตั้งสถาบัน KOCEI จึงมุ่งหมายที่จะทลายความไม่รู้ (ignorance) ในเรื่องประชาธิปไตยในสังคมเกาหลีใต้ เพราะความไม่รู้จะทำให้ไม่สามารถเกิดการพัฒนาทางการเมืองได้ และในการที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้ มีจิตสำนึกเกี่ยวกับประชาธิปไตย ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสอนและฝึกทักษะด้านการเมืองและประชาธิปไตยให้กับประชาชนและพลเมือง โดยมี วิสัยทัศน์ คือ การให้การอบรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่พลเมืองเพื่อความก้าวหน้าของสาธารณรัฐเกาหลี

         พันธกิจที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. การให้การอบรมความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง
  2. การจัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งอย่างมืออาชีพเพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมใหม่

เพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าวข้างต้น สถาบัน KOCEI ได้จัดให้มีหลักสูตรเพื่อฝึกอบรมหลากหลายระดับ ดังนี้ คือ

1. หลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง (Election and Party official Course) จัดหลักสูตรให้การศึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยมุ่งให้ความรู้ที่เกี่ยวกับกฎ และกฎหมายการเลือกตั้ง หรือระบบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สิ่งสำคัญคือเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่ถูกกฎหมาย เพื่อจะปฏิบัติให้ถูกกฎหมาย ผู้ที่อยู่ในพรรคการเมืองจะได้เข้าใจที่ถูกต้อง โดยทั่วไปพรรคการเมืองจะขอให้ช่วยออกแบบโครงการให้ เช่น พรรคของพรรคการเมือง ระบบพรรคการเมืองสมัยใหม่ การใช้สื่อสมัยใหม่ ระบบออนไลน์ เพื่อที่พรรคจะนำไปสอนให้กับสมาชิกพรรคและหาสมาชิกใหม่เพิ่ม ซึ่งสถาบันก็จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกให้เข้ามาร่วมสอนด้วย หลักสูตรที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หลักสูตรสำหรับการหาเสียงในการเลือกตั้ง และหลักสูตรเกี่ยวกับผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ ทั้ง 3 หลักสูตรเน้นจุดประสงค์คือ อบรมให้ความรู้เพื่อที่จะไม่ไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทางกฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ 

  • กฎหมายการเลือกตั้งจะเกี่ยวข้องกับผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้ง จึงต้องเน้นให้มีความโปร่งใสและยุติธรรม
  • กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง คือ เน้นว่าจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย ให้พรรคมีการพัฒนาเป็นพรรคมวลชน และการใช้เงินของพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายต้องทำอย่างไร เพื่อให้พรรคได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้

2. หลักสูตรสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Voters Course)

         2.1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ผู้ที่เพิ่งมีสิทธิไปเลือกตั้ง และผู้ทำงาน ถือว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่จะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงได้โดยทันทีกับการใช้สิทธิและการลงคะแนนในการเลือกตั้ง กรอบในการเข้าถึงพลเมืองกลุ่มนี้เพื่อจะบอกกล่าวให้เข้าใจถึงผลร้ายของการโกงเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียง และการที่ได้นักการเมืองโกง นักการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และให้เข้าใจในเชิงบริบททางการเมือง ว่า “เกาหลีใต้จะดีหรือเลวอยู่ที่ประชาชนเลือกนักการเมือง”

2.2 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอนาคต เช่น เด็กประถม และมัธยมศึกษา ในภาคส่วนนี้กรอบของการเข้าหาประชาชนของ KOCEI จะมีข้อตกลงกับสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ อันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และหลักการประชาธิปไตยในหมู่นักศึกษาส่วนหนึ่ง และมีโครงการลงลึกลงไปถึงนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาอันเป็นเป้าหมายความร่วมมือระหว่างKOCEI กับมหาวิทยาลัยและโรงเรียน

โครงการต่างๆ ที่เปิดอบรมนั้น โคซี่ ได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นโครงการที่ได้ผลตอบรับทั้งเชิงวิชาการและการบริหาร จึงถือเป็นกิจกรรมที่องค์กรภูมิใจ ที่ได้มีบทบาทสร้างความเข้าใจและสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแก่เยาวชนไปจนถึงผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน

การทำงานของสถาบัน KOCEI ได้มีความร่วมมือโดยตรงกับหน่วยการเลือกตั้งในการจัดการอบรมในระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งในประเทศเกาหลีมีหน่วยเลือกตั้งทั้งส่วนกลาง ส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน  คณะกรรมการในภาคส่วนต่างๆ เป็นผู้บริหารการเลือกตั้งโดยตรง ส่วน KOCEI จะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นในการเข้าถึงประชาชน

นอกจากนี้ในระบบการศึกษาของประเทศ โคซี่ ยังเป็นฝ่ายเข้าไปสนับสนุนด้านความรู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย ซึ่งจัดเป็นความร่วมมือกับโรงเรียน

3. หลักสูตรสำหรับนักวิชาการ (Expert course) เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการแก่ครู-อาจารย์ ทางด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง

การจัดทำหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกประชาธิปไตย และพัฒนาความสามารถของพลเมืองเกาหลีให้มีความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง และสำหรับพัฒนาจิตใจที่จะบริการ (service mind) ในการบริการสาธารณะ เพื่ออำนวยการเลือกตั้งให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่ง กกต.เกาหลี ได้วางเป้าหมายไว้ในอนาคตที่จะอบรมพลเมืองให้ได้ถึงปีละ 1 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้อยู่ประมาณสองแสนกว่าคน

ส่วนงบประมาณนั้น ได้รับจาก กกต.กลาง ประมาณปีละ 25 ล้านวอน ซึ่งสถาบัน KOCEI นี้ อยู่ภายใต้ กกต.กลาง จึงต้องมีการบริหารงานและงบประมาณภายใต้ความเห็นชอบจากส่วนกลางด้วย

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ในส่วนของการให้ความรู้ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยให้กับพลเมืองโดย KOCEI ได้มีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนาประชาธิปไตยอีกด้วย ผลที่ปรากฏคือ

  1. ประชาชนชาวเกาหลีทุกคนได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านประชาธิปไตยจากสถานศึกษา หน่วยงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งของเกาหลีที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานสู่ประชาชน
  2. ก่อนการเตรียมความพร้อมของผู้สนใจที่จะเป็นนักการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีหลักสูตรเตรียมเพื่อเข้าสู่การเป็นนักการเมือง เพื่อให้เป็นนักการเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศเกาหลี
  3. กระบวนการเลือกตั้งในส่วนของการศึกษาในการเลือกศึกษาธิการเขตทุกระดับ และอธิบการบดีของมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรงในการจัดการเลือกตั้ง ให้ได้มาซึ่งตำแหน่งต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ใช้องค์กรภายในหน่วยงานของตนเองเป็นหน่วยควบคุมการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์การเลือกตั้งของประเทศเกาหลีที่ว่า การเลือกตั้งที่สวยงาม ประเทศเกาหลีมีความสุข คนเกาหลีถูกปลูกจิตสำนึกในการไปใช้สิทธิทางการเมือง คือ ความรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ ไม่ใช่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะกฎหมายบังคับ

นอกจากการพัฒนาประชาธิปไตยในขอบเขตปริมณฑลภายในประเทศแล้ว ประเทศเกาหลีใต้ยังพัฒนาความสามารถด้านการเลือกตั้งให้อยู่ในระดับสากลอีกด้วย โดยการจัดตั้งสมาคมเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยของโลกขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายสร้างความร่วมมือในการพัฒนาไปยังประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก หน่วยงานดังกล่าวเรียกว่า “สมาคมการเลือกตั้งโลก” (Association of World Election Bodies – A -WEB)

สมาคมการเลือกตั้งโลก (Association of World Election Bodies – A-WEB)

คือ ศูนย์กลางของการสื่อสารติดต่อกันระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการการเลือกตั้งที่อยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญระหว่างสมาชิก เสริมสร้างความสามารถให้เข้มแข็งในการพัฒนาประชาธิปไตยในหมู่มวลสมาชิก 

วิสัยทัศน์ของ A-WEB คือ เสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้การเลือกตั้งทั่วโลกที่เป็นอิสระ (free) ยุติธรรม(fair) โปร่งใส (transparent)

พันธกิจ คือ การพัฒนาการจัดการเลือกตั้งในแนวทางประชาธิปไตยด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และอำนวยการในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญระหว่างสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์ที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งไปทั่วโลก

A-WEB ได้เริ่มมีแนวคิดในการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2011 และมีการประชุมคณะทำงานครั้งแรกในการเตรียมการที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนพฤษภาคม และคณะทำงานชุดที่ 2 ที่บอสเนีย (Bosnia) และเฮอเชโกเวียนา (Herzegovina) เดือนกันยายน 2012 และในปี 2013 ก็มีการประชุมคณะทำงานอีกหลายครั้งที่ประเทศเกาหลี จึงปรากฏเป็นองค์กรเป็นรูปร่างและตั้งสำนักเลขาธิการขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2014 ที่เมืองชองโด (Songdo) โดยมีเลขาธิการคนแรกเป็นชาวเกาหลี คือ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติเกาหลีนั่นเอง A-WEB เพิ่งดำเนินการมาได้เพียง 2 ปี แต่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกดังปรากฏในการประชุมใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2015 มีองค์กรจัดการเลือกตั้งเข้าร่วมมากถึง 106 องค์กรจาก 102 ประเทศ

การจัดตั้ง A-WEB ขึ้นในเกาหลี จึงเป็นการทำงานเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยในประชาคมโลกแบบก้าวกระโดด คือ ไม่เพียงสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองประชาธิปไตยในประเทศของตนเท่านั้น แต่หากได้สร้างเครือข่ายในต่างประเทศให้มาร่วมมือกันผลักดันเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมประชาธิปไตยโลก ดังที่มีคำขวัญว่า ประชาธิปไตยเติบโตไปทั่วโลก (Democracy to Grow Around the World) ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมตั้งแต่ปี 2014 – 2015 ล้วนมาจากประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่งต้องการการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในประเทศของตน ที่เป็นทั้งความท้าทายและเป็นกระแสของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการพัฒนาในแนวทางประชาธิปไตย

นับแต่นี้ไป เราคงได้เห็นการพัฒนาประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จากการที่มีหน่วยงานทั้ง KOCEIและ A-WEB ได้ผนึกกำลังกันสร้างวัฒนธรรมพลเมืองประชาธิปไตยที่เป็นสากล และด้วย “ความเป็นประชาธิปไตยสากล” นี้ ได้ขยายบทบาทของประเทศเกาหลีใต้ในเวทีโลกทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และอาจเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเกาหลีใต้ไปยังประเทศด้อยพัฒนาก็จะมีมากยิ่งขึ้น เมื่อการส่งออกทางเศรษฐกิจมีเครื่องมือสำคัญคือ “ประชาธิปไตย” เป็นตัวนำนั่นเอง.