ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

หลังจากเกิดคดีอื้อฉาว สะเทือนขวัญที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ โดยผู้กำกับเป็นผู้ก่อเหตุร่วมกับ 6 ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด คลุมถุงครอบหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม มีคลิปเหตุการณ์ขณะลงมืออย่างครบถ้วน เห็นหน้า ได้ยินเสียง วัตถุพยานหลักฐานครบ มีปมประเด็นการรีดเงิน 2 ล้านบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง
สื่อมวลชนยุคโซเชียลเปิดโปงเบื้องหลังนายตำรวจดาวรุ่งพุ่งแรง เผยให้เห็นความร่ำรวยผิดปกติจากธุรกิจการนำเข้ารถหรูจากมาเลเซียแบบผิดกฎหมาย โดยใช้สถานภาพและอำนาจหน้าที่ พนักงานฝ่ายศุลกากรร่วมมือทำหูไปนาตาไปไร่ เสียงทวงถามการปฏิรูปตำรวจ ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง
ตั้งแต่ปีแรกที่ทำงาน (2562) ส.ว.ชุดนี้ได้พากันลุกขึ้นทวงถามรัฐบาลเรื่องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม พอดีกับช่วงนั้นมีคดีลูกเศรษฐีขับรถหรูชนตำรวจตาย และคดีนักธุรกิจใหญ่ล่าสัตว์ป่าหายากเป็นกระแสสังคมที่ครึกโครม เมื่อทวงกันหนักเข้ารัฐบาลจึงส่ง (ร่าง)พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ โดยรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้มานำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่รัฐสภาด้วยตนเอง
ท่านชี้ประเด็นการเปลี่ยนแปลง 10 เรื่องที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1)จำแนกตำรวจที่มีชั้นยศกับไม่มีชั้นยศ 2)โอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ 3) ให้ความสำคัญกับ กองบัญชาการภาค(บช.) กองบังคับการจังหวัด(บก.) และสถานีตำรวจ(สน.) 4)แบ่งสายงานข้าราชการเป็น 5 กลุ่ม 5)แต่งตั้งโยกย้ายคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจประชาชน 6)แยกการแต่งตั้งโยกย้ายของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ 7)มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ 8)มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ 9)มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ 10) จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่
ผ่านมาแล้วหลายเดือน ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน ชี้ว่าเส้นทางการปฏิรูปตำรวจในช่วง 7 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี รวม 9 คำสั่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการ “เร่งรัดหรือชะลอ”การปฏิรูปตำรวจกันแน่ มี ส.ว.บางท่านฟันธงว่า “ถอยหลังลงคลอง”
ย้อนกลับไปดูข้อเสนอตั้งต้น จากเครือข่ายสมัชชาปฏิรูป เมื่อปี 2557
เคยเสนอไว้ มีดังนี้
1.ปรับโครงสร้าง กระจายอำนาจ
ปัจจุบันตำรวจไทยเกือบ 300,000 คนและโรงพัก 1,488 แห่ง รวมศูนย์อยู่กับส่วนกลางเป็นเสมือนกองทัพ เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น มีตำรวจ 270,000 คน สังกัดส่วนกลางเพียง 7,000 คน นอกนั้นร้อยละ 97 กระจายตัวสังกัดอยู่กับ 47 จังหวัด (พรีเฟคเจอร์) จึงเสนอว่าควรให้ความสำคัญกับระบบตำรวจท้องถิ่น กระจายการบริหารจัดการตำรวจประจำพื้นที่ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่า กทม. ปรับบทบาท สตช.ให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจเป็นกลไกกำกับทิศทาง ปรับปรุงสถานีตำรวจให้เป็นศูนย์บริการความปลอดภัยสังคมแบบเบ็ดเสร็จ และยกเลิกระบบชั้นยศแบบกองทัพ
2.เพิ่มการมีส่วนร่วมของสังคม
จัดให้มีคณะกรรมการตำรวจที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและระดับสถานี มีกลไกอิสระพิจารณากรณีร้องทุกข์ร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจ
3.พัฒนาวิชาชีพสอบสวน
งานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญในการรวบรวมพยายานหลักฐาน จัดทำสำนวนและความเห็นทางคดี ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและหลักจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องพัฒนาระบบงานสอบสวน มาตรฐาน ความเป็นอิสระทางวิชาชีพ ไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจและอิทธิพลภายนอก ให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมสอบสวนคดีอาญา สร้างดุลยภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน
4.ถ่ายโอนภารกิจที่มิใช่ตำรวจ
งานหลักของตำรวจ ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา และการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ส่วนงานอื่นที่พอกเข้ามา ต้องถ่ายโอนกลับไป
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 4 กันยายน 2564.