ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (20) “ กติกาใหม่ เลือกตั้ง ส.ส. ”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (20) “ กติกาใหม่ เลือกตั้ง ส.ส. ”

ในที่สุดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม. 83 และ 91 ได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อรัฐสภามีมติรับรองในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 โดยมีเสียงของ ส.ว. สนับสนุนสูงถึง 149 เสียง

เป็นที่ชัดเจนแล้วสำหรับพรรคการเมือง ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป มี ส.ส.เขต เพิ่มเป็น 400 ส่วนบัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 100 ที่นั่ง และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกระบบกัน เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550  

จากนี้ไป ผู้จะลงแข่งขันชิงชัยและพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องขบคิดและออกแบบวางแผนกลยุทธ์การรณรงค์เพื่อเอาชนะในสมรภูมิเลือกตั้งเที่ยวหน้ากันอย่างจริงจัง

พอดีในช่วงนี้ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของวุฒิสภา กำลังพิจารณารายงานผลการศึกษาเปรียบเทียบ “การเมืองการปกครองและระบบเลือกตั้ง” ระหว่าง 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักรไทย  มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่มากทีเดียว 

ในภาพรวม เขาแบ่งระบบพรรคการเมืองในประเทศต่างๆได้เป็น 4 แบบ ได้แก่ 

1) ระบบพรรคเดี่ยวครอบงำการเมือง 

เช่นประเทศจีนที่เป็นเผด็จการ หรือกลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการที่มีกฎระเบียบอะไรบางอย่างเอื้อให้มีพรรคการเมืองใหญ่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือเป็นแกนนำที่มีอำนาจต่อรองสูง เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา อียิปต์ แคเมอรูน ฯลฯ

2) ระบบสองพรรค 

คือ ระบบการเมืองที่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียง พรรคเดียวได้ชัยชนะเสียงข้างมากเด็ดขาดเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่มีอีกพรรคหนึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน  แบบนี้มักเป็นสองพรรคที่มีขั้วความคิดที่แตกต่างกันมาก ไม่สามารถเป็นรัฐบาลร่วมกันได้  เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โคลัมโบ คอสตาริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ

3) ระบบหลายพรรค  

เป็นระบบที่มีพรรคการเมืองขนาดพอๆกัน ตั้งแต่ 3 ถึง 6 พรรค ต่างมีศักยภาพที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือเป็นรัฐบาลผสมก็ได้ แต่ละพรรคมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่แตกต่างกันนัก ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง สามารถประนีประนอมและทำงานร่วมกันได้ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวีเดน ฯลฯ

4) ระบบมากพรรค   

ประกอบด้วยพรรคการเมืองจำนวนแยกย่อย มากกว่า 6 พรรคขึ้นไป  มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปมากมาย เช่น อิตาลี ฝรั่งเศสสมัยสาธารณรัฐที่ 4 และประเทศไทย เช่นในช่วง 2516-2519 มีพรรคการเมืองมากกว่า 50 พรรคเลยทีเดียว

ประเทศไทยปัจจุบัน การเลือกตั้งปี 2562 ในระบบ ส.ส.เขต 350 คน มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งรวม 9 พรรคเท่านั้น ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งรวม 27 พรรค จึงเป็นที่มาของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบ นัยว่าเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ มีศักยภาพในการบริหารและพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงเขี่ยทิ้งพรรคเล็กพรรคน้อย

อย่างไรก็ตาม มีบทเรียนรู้ที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ แม่แบบของระบบเลือกตั้งแบบพหุนิยม ของเขามี ส.ส.เขตเพียงอย่างเดียว 650 ที่นั่งและระบบเลือกตั้งที่ออกแบบไว้กีดกันพรรคเล็ก จนกลายเป็นระบบ 2 พรรคการเมืองใหญ่ผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจ  ส่วนพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กหมดสิทธิ์ขึ้นมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

แต่ปรากฏว่ายังมีพรรคเสรีนิยมซึ่งเป็นพรรคอันดับที่ 3 ไม่สิ้นความพยายาม สู้ทนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนานถึง 36 ปี (ค.ศ. 1974-2010) กระทั่งได้ที่นั่งมากถึง 57 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้เสียงไม่ถึงครึ่ง คือ 307 ที่นั่ง จึงต้องเชิญพรรคเสรีนิยมเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย 

ครั้นเมื่อเป็นรัฐบาล จึงผลักดันให้มีการลงประชามติทั่วประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงกติกาดังกล่าว แต่ผลปรากฏว่าประชาชนร้อยละ 67.9 ออกเสียงยืนยันให้คงใช้ระบบเดิม เป็นอันว่า “แห้ว”

เมื่อความหวังยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันต่อไป ขอให้กำลังใจครับ.

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป      

สมาชิกวุฒิสภา /  11 กันยายน 2564.