ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (22) “เลือกตั้งวิถีใหม่ ท้องถิ่นวิถีใด”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (22) “เลือกตั้งวิถีใหม่ ท้องถิ่นวิถีใด”

การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกระบวนการประชาธิปไตยในโครงสร้างฐานล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นระบบการเลือกตั้งผู้นำเข้าไปบริหารหน่วยงานปกครองที่อยู่ปลายสุด อันมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสาระทุกข์สุขดิบของชาวบ้านใกล้ชิดที่สุด

หลังจากที่รอคอยมาถึง 8 ปี  บัดนี้การเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ 5,300 แห่งได้รับการกำหนดจากคณะรัฐมนตรีและ กกต.ให้มีการลงคะแนนเสียงพร้อมกันเป็นที่แน่นอนแล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564  จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทิ้งระยะห่างมานาน

ล่าสุดผู้แทนจาก กกต. ได้ชี้แจงเส้นทางไปสู่การเลือกตั้ง อบต. ครั้งใหญ่นี้ ต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ยืนยันว่าเมื่อมีการประกาศการเลือกตั้งจาก กกต. แล้ว นายก อบต. หมดทั้งประเทศจะพ้นสภาพโดยจะมีผู้รักษาการฯทำหน้าที่แทนในระหว่างนั้น ส่วนนายก อบต.ท่านใดที่ประสงค์จะกลับคืนสู่ตำแหน่ง ต้องลงสนามแข่งขันเพื่อให้ประชาชนเสียงข้างมากเลือกเข้ามาใหม่

น่าสังเกตว่า สิ่งที่ กกต. เน้นเป็นพิเศษในครั้งนี้คือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ซึ่งมีข้อห้ามเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ผู้เคยต้องโทษจำคุก ต้องพ้นโทษไม่น้อยกว่า 5 ปี  ส่วนผู้ที่เคยทุจริตเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต 

เนื่องจากช่วงนี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์โควิดระบาดมาก หน่วยเลือกตั้งจึงได้ถูกออกแบบไว้สำหรับ “การเลือกตั้งวิถีใหม่” โดยทดลองใช้มาแล้วในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 จังหวัดลำปางเมื่อปีที่แล้ว  จากปกติหน่วยเลือกตั้งมีขนาด  1 พันคน จะลดลงเหลือหน่วยละ 6 ร้อยคน กรมควบคุมโรคช่วยออกแบบระบบป้องกันให้  โดยผู้ใช้สิทธิ์ต้องสวมหน้ากากอนามัย  รักษาระยะห่าง นำปากกามาเอง  ให้ อสม. วัดอุณหภูมิก่อน ถ้าเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะมีช่องทางพิเศษไปใช้คูหาเลือกตั้งที่แยกออกไปในบริเวณเดียวกัน   เมื่อกาบัตร หย่อนบัตรเสร็จ ก่อนออกจากคูหา มีเจลล้างมือบริการประชาชนทุกจุด รวมถึงทำความสะอาดคูหาทุก 1 ชั่วโมง  ใช้งบประมาณสูงขึ้น จำนวนเลือกตั้งเพิ่ม  ต้องให้บริการผู้ใช้สิทธิ์ทั่วประเทศ 27 ล้านคน

ในอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อมองการเมืองวิถีเก่า ย้อนหลังกลับไปในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปของท้องถิ่น 2-3 รอบที่ผ่านมา  พบว่ามีแนวโน้มการทุจริตเลือกตั้งโดยใช้เงินซื้อเสียงแข่งกันรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที จนมองไม่เห็นทางออก กระแสการขับเคลื่อน “การเมืองวิถีใหม่”ของเครือข่ายภาคประชาชนเพิ่งริเริ่มก่อตัวขึ้นมาในระยะสั้น  ส่วนจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้ได้สักเพียงไหน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ในมุมมองของเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ สิ่งที่เราอยากเห็นนอกเหนือไปจากการจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งวิถีใหม่ที่ทันสมัยและถูกสุขอนามัย  นั่นก็คือเห็นการเมืองวิถีใหม่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น  เป็นวิถีการเมืองที่เล่นกันแบบเคารพกติกา ด้วยสปิริตของความเป็นนักกีฬา แพ้ชนะกันด้วยฝีมือและคุณงามความดี  ไม่ใช่การใช้เงินทุ่มซื้อเสียงแข่งกันจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เสื่อมทราม  ทั้งละเมิดกฎหมายอย่างจงใจและทำลายหลักศีลธรรมอันดีงามของสังคม

ประเด็นแลกเปลี่ยนประจำสัปดาห์  

1.ในจังหวัดของท่านมีการเลือกตั้ง อบต. กี่แห่ง ท่านคิดว่าจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ “ปลอด”การซื้อสิทธิ์ขายเสียง 

2.ท่านคิดว่าจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่นายก อบต.ในจังหวัดของท่านสามารถเอาชนะ “กระแสเงิน” ด้วย “กระแสความดีงาม”

นายแพทย์ พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา  /  25  กันยายน 2564