เมื่อได้ศึกษาข้อมูลจากรายงานการปฏิรูปประเทศและการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมในรอบล่าสุดและดูย้อนหลังกลับไปในบางช่วง
มีความรู้สึกเบื้องต้นว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนฐานล่างจะเข้าถึงและเข้าใจได้ยากอยู่สักหน่อย เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและระบบ เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายที่ติดขัด เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการประชาชน

ในระดับเป้าหมายใหญ่ของแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม มี 3 ประการ ได้แก่ 1)มีระบบออมแบบสมัครใจและแบบบังคับ 2)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลทางสังคมในพื้นที่เพื่อจัดสวัสดิการสังคม 3)ชุมชนเมืองเข้มแข็ง สามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐอย่างเท่าเทียม
ในการติดตามความก้าวหน้าการปฏิรูป เขากำหนดตัวชี้วัดเป้าหมายไว้ 3 อย่าง คือ 1)มีกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญและปรับปรุงระเบียบ กอช. 2) มีฐานข้อมูลในพื้นที่เชื่อมโยงทุกมิติ 3)มีกฎหมายสนับสนุนชุมชนเมืองเข้มแข็ง
สำหรับความคืบหน้าในรอบปี 2563 กมธ.สังคมของวุฒิสภาเสนอแนะไว้ว่า 1)ต้องเร่งรัดการออกกฎหมายระดับรองและการปฏิบัติตาม พรบ. 2)ในการจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งสาธารณะต่อไปควรคำนึงถึงหลัก Universal Design เพื่อคนพิกาสรและผู้สูงอายุจะได้ใช้ประโยชน์ทั่งวถึง 3)ควรเร่งรัดสนับสนุนงานชุมชนเข้มแข็งให้เต็มพื้นที่ 4)ต้องเร่งรัดการขึ้นทะเบียนคนพิการ บุคคลพื้นที่สูง และกลุ่มชาติพันธุ์
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่มีการปรับปรุงใหม่และเริ่มใช้ในปี 2564 ได้กำหนดประเด็นปฏิรูปสำคัญ ที่เรียกกันว่า Big Rocks มี 5 เรื่อง ได้แก่
1. การมีระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันหลังวัยเกษียณ ตัวชี้วัดเป้าหมายคือ 1)มี พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ…ภายในปี 2565 2) กอช.ปรับระเบียบเพื่อจูงใจแรงงานนอกระบบ 3)มีการปรับปรุงระบบการออมภาคบังคับ มีเงินสมทบเพื่อจูงใจกลุ่มเป้าหมาย
2.ผลักดันให้มีฐานข้อมูลทางสังคมและคลังความรู้เพื่อจัดสวัสดิการตรงกลุ่มเป้าหมาย ตัวชี้วัดเป้าหมายคือ 1)ชุมชนมีฐานข้อมูลเชื่อมโยงทุกมิติในระดับพื้นที่ ภายในปี 2565
3.ปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ ตัวชี้วัดเป็นหมายคือ 1)แก้ไขระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สถานพยาบาลออกเอกสารรับรองได้ ภายในปี 2565 2)หน่วยราชการปรับปรุงคำนิยามคนพิการเป็นมาตรฐานเดียวกัน 3)ฐานข้อมูลคนพิการเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลกับหน่วยงานรัฐในปี 2565
4.การสร้างกลไกที่เอื้อให้ชุมชนเมืองจัดการตนเอง ตัวชี้วัดเป้าหมายคือ 1)มีกฎหมายรองรับชุมชนเมืองและเป็นนิติบุคคล ภายในปี 2565
5. การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินรัฐที่จัดให้ประชาชน ตัวชี้วัดเป้าหมายคือ 1) คทช.มีนโยบายปรับปรุงการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดินรัฐที่จัดให้ประชาชนใช้ 2)ปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3)ปรับปรุงกลไกที่ทำหน้าที่ประเมินราคาที่ดินฯ
ในความเห็นส่วนตัว น่าจะเพิ่มประเด็น “ตำบลเข้มแข็ง” มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เข้ามาไว้อีกสักอย่าง จะทำให้ประชาชนเห็นชิ้นงานที่เป็นรูปธรรมได้ชัดขึ้น
ส่วนในเรื่องตัวชี้วัดเป้าหมายนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสะท้อนผ่านความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่าง พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. 2) แก้ไขระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3) ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. …. 4) ร่างกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 39 แห่งพรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และกฎหมายอื่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดินรัฐฯ
ส่วนข้อมูลความก้าวหน้าล่าสุดจากรายงานของรัฐบาล ในรอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ระบุว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติแล้ว เมื่อ 30 มี.ค. 2564 เช่นเดียวกับระเบียบกระทรวงกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยชุมชนเมืองของเทศบาล พ.ศ. 2564 ซึ่งออกเมื่อ 25 ก.พ. 2564 ส่วนเรื่องฐานข้อมูลท้องถิ่นนั้น ยังไม่มีข้อมูล
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 ก.ย. 2564