ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (24) “ ชนะอำนาจเงิน ด้วยพลังเครือข่าย ”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (24) “ ชนะอำนาจเงิน ด้วยพลังเครือข่าย ”

การเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งคึกคักขึ้นอีกครั้ง  

การเลือกตั้งท้องถิ่น ด้านหนึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านผู้นำผู้บริหารท้องถิ่นตามวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตย  อีกด้านหนึ่งเป็นโอกาสการเรียนรู้และฝึกฝนวัฒนธรรมประชาธิปไตยของประชาชนด้วยการปฏิบัติ ใช้อำนาจจริงที่อยู่ในมือ รวมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์จากผลการใช้อำนาจครั้งนั้นด้วยตนเอง

มีนักวิจัยและสื่อมวลชนเคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ชนะเลือกตั้งในระดับชาติไว้หลายประการ ในฐานะของนักพัฒนา ผู้ปฏิบัติ  สรุปปัจจัยที่มีผลต่อการแพ้-ชนะเลือกตั้งไทย  5 ประการ ดังนี้

1. เงินและระบบหัวคะแนน

ปัจจุบันนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น มุ่งใช้ “เงินและระบบหัวคะแนน” เป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะการเลือกตั้ง ในทุกพื้นที่ ทุกระดับ  ผู้นำท้องถิ่นและท้องที่จึงเป็นตัวแสดงสำคัญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เป็นระบบอุปถัมภ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านใหญ่”

ส่วนการเมืองวิถีใหม่ เป็นการเมืองเชิงศีลธรรม หลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ “ไม่ใช้เงินไปสู้เงิน”  แต่ต้องใช้ “พลังเครือข่าย (ความดี)” และ “ผู้นำ (คุณธรรม)”ไปเอาชนะสถานการณ์และความท้าทายนี้ให้จงได้

เครือข่ายเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับคน” ที่ผูกพันกันด้วย “ใจกับใจ”.  การเข้าถึงและสร้างความเชื่อถือศรัทธาในหมู่ผู้นำตามธรรมชาติ (ผู้ชุมชนและองค์กรชุมชน) จะเกิดการเชื่อมโยงเป็นพลังเครือข่ายคุณธรรมความดี เป็นกระแสที่ก่อตัวในระดับจุลภาคที่ลึกลงไปถึงจิตสำนึกและวิธีคิดของผู้นำ  

ผู้นำตามธรรมชาติเป็นสื่อบุคคลที่สำคัญในชุมชน เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่น (Influencer)  เมื่อพวกเขาเชื่อมโยงสื่อสารไปถึงจุดกระตุ้น “มโนธรรมสำนึก” ที่มีอยู่ในหมู่ชาวบ้าน  จะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานล่างในแบบที่คาดไม่ถึง

2. นโยบายที่โดน

นโยบายในการหาเสียงที่โดนใจประชาชน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เคยทำให้บางพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทะลาย จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว และครองความนิยมได้อย่างยาวนาน 

นโยบายที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในสถานการณ์ขณะนั้น  นโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ หรือนโยบายที่เป็นความใฝ่ฝันของมวลชน และเป็นนโยบายที่ชาวบ้านเชื่อถือว่าสามารถทำได้และจะได้ทำจริง

3. ตัวบุคคลที่ใช่

ผู้นำที่เสนอตัวแล้วประชาชนเห็นว่าใช่เลย  มักเป็นผู้มีผลงานแบบปิดทองหลังพระ เป็นจิตอาสา ทำงานสาธารณะอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ชาวบ้านสัมผัสรับรู้ความดีงามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ยิ่งถ้าเป็นลูกหลาน เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขก็ยิ่งได้เปรียบ  ผู้รักชุมชน รักบ้านเกิดเมืองนอน  ผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน  เป็นผู้มีจิตใจดี ใจกว้าง สุภาพ เป็นมิตร

4. เข้าถึงกลุ่มประชากรเป้าหมาย

การเลือกตั้ง ปี 2562  มีตัวอย่างพรรคการเมืองหนึ่งที่มุ่งเป้าเข้าหากลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก และคนหนุ่มสาวที่ไม่เคยผูกพันกับการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาก่อน  เป็นกลุ่มที่เบื่อการเมืองแบบเก่า เบื่อผู้นำคนเดิม ต้องการตัวเลือกใหม่  เขาใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทาง สามารถชนะการเลือกตั้งจำนวนมาก ทั้งจากเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ จนกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่

ยังมีกลุ่มก้อนของประชากรอีกหลายรูปแบบที่รอการเข้าถึง เช่น กลุ่มผู้นำชุมชนเชิงคุณธรรม เครือข่ายผู้มีอิทธิพลทางความคิด รวมทั้งกลุ่มชุมชนคนชายขอบ ใครเข้าไปนั่งในหัวใจอาจมีคะแนนที่เป็นกอบเป็นกำ

5. กระแสที่ร้อนแรง

กระแสสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับชาติและระดับชุมชนท้องถิ่น อาจเป็นกระแสพรรค กระแสกลุ่ม-องค์กร กระแสเครือข่าย กระแสนโยบาย และกระแสผู้นำ   นี่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่อาจทำให้ ม้ามืด หรือ มวยรองบ่อน สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้ชนะ.

นายแพทย์ พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา  /  9 ตุลาคม 2564