ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

จดหมายชุดท้องถิ่น_ท้องที่วิถีใหม่ มุ่งสื่อสารมุมมองและความในใจมายังพี่น้องผองเพื่อน ที่เป็นนักพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากสับสนและหลายส่วนกำลังทอดถอนใจ
อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านพยายามเตือนการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ โดยชี้ให้เพื่อนคนไทยเห็นว่า “การเมืองเรื่องอำนาจ” นั้นคับแคบ บีบคั้น รุนแรง และขาดอรรถประโยชน์ ผิดกับ “การเมืองเรื่องนโยบาย” ซึ่งยิ่งใหญ่กว่า คนทั้งประเทศร่วมได้ และมีอรรถประโยชน์ใหญ่ ท่านกล่าวว่า “นโยบายควรเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบต่อทุกองคาพยพของประเทศ ทั้งทางวัฒนะและหายนะ”
เพราะนโยบายเป็นภูมิปัญญาสำคัญในการนำความรู้ วิสัยทัศน์และประสบการณ์จากจุดเล็ก มากำหนดให้เป็นแนวทางในการจัดการปัญหาและสร้างประโยชน์สุขให้แก่คนทั้งมวล
นโยบาย คือ แบบแผนความคิดที่ใช้เป็นหลักยึดในการปฏิบัติ หรือการตัดสินใจ เป็นคำที่มักใช้กันในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการ
ตามปกติแล้ว ในการเลือกตั้งตัวแทนทุกระดับ นโยบายควรเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชน แต่สำหรับระบบการเมืองไทยในปัจจุบันหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเข้ามาเป็นตัวแปรที่ทำให้บิดเบี้ยวไปหมด
คำถามคือ ในการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่จะมาถึงนี้ นโยบายเช่นใดที่จะมีโอกาสชนะอำนาจเงินได้
1. นโยบายที่โดนใจ
โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคและโครงการกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน เป็นตัวอย่างของนโยบายหาเสียงที่โดนใจประชาชน เคยเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองหนึ่งสามาถชนะการเลือกตั้งในระดับชาติแบบถล่มทะลาย จนสามารถเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว ทั้งยังครองความนิยมมาได้อย่างยาวนาน
2. นโยบายในฝัน
หมายถึง นโยบายที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในสถานการณ์ขณะนั้น นโยบายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการหรือเป็นเจ้าของ นโยบายที่สร้างความใฝ่ฝัน ความหวังหรือกำลังใจแก่มวลชน โดยเฉพาะเป็นนโยบายที่ชาวบ้านเชื่อถือว่า “สามารถทำได้” และ “จะได้ทำจริง”
ตัวอย่างนโยบายในระดับท้องถิ่นที่น่าพิจารณา อาทิ การประกาศนโยบายเอื้ออำนวยการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน คลี่คลายปัญหาความมั่นคงในด้านที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เอาชนะความยากจนในครัวเรือนแบบพุ่งเป้า จัดทำแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กแก้ภัยแล้งทั้งตำบลหมู่บ้านอย่างยั่งยืน สร้างวิสาหกิจชุมชนจากจุดแข็ง ฯลฯ
3. น่าเชื่อถือ
ผู้นำที่ซื่อสัตย์ซื่อตรงเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านสามารถเชื่อถือไว้วางใจได้ว่าจะทำตามนโยบายที่ประกาศหาเสียงเอาไว้ ผู้นำที่เสนอตัวแล้วประชาชนเห็นว่าใช่เลย จะเป็นจุดเริ่มของกระแสนิยม
ผู้นำที่มีผลงานแบบปิดทองหลังพระ เป็นจิตอาสา ทำงานสาธารณะประโยชน์เสมอต้นเสมอปลาย ชาวบ้านสัมผัสรับรู้ความดีงามมายาวนาน ยิ่งถ้าเป็นลูกหลาน เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขก็ยิ่งได้เปรียบ ผู้นำที่รักชุมชน ภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน มีความรู้ความสามารถ ความสำเร็จในชีวิตการงานมาจากต่างถิ่น เป็นผู้มีจิตใจดี ใจกว้าง สุภาพ เป็นมิตร
ยิ่งถ้าประกาศนโยบายจะบริหาร อบต.ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เงินงบประมาณพัฒนาลงสู่ชุมชนแบบเต็มร้อย ตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยรายงานประชาชนรับทราบทุกปี จะเป็นการสร้างสัญญาประชาคมที่มีน้ำหนัก
4. ทำทันที
การประกาศแผนการดำเนินงานล่วงหน้า เช่น ภายใน 3 เดือนแรกหรือหนึ่งปีแรกจะทำอะไรให้ปรากฏผล ขอให้ประชาชนจำไว้เป็นคำมั่นสัญญา ด้านหนึ่งสร้างเป้าหมายชี้วัดที่เป็นรูปธรรมสำหรับชาวบ้าน อีกด้านหนึ่งเป็นความท้าทายและแรงกระตุ้นสำหรับผู้นำ
ม้ามืดหรือมวยรองบ่อน อาจพลิกเป็นผู้ชนะได้ ด้วยกระแสปากสู่ปาก.
นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 16 ตุลาคม 2564.