ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

นายก อบต. และสมาชิก อบต. เป็น “ผู้นำทางการ” ของท้องถิ่น ที่ผ่านระบบการเลือกตั้งลงคะแนนโดยประชาชนในพื้นที่ มีตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ และกรอบระยะเวลาการปฏิบัติงานตามที่กฎหมายกำหนด การเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ ในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า เป็นกระบวนการและขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้นำที่เป็นทางการในท้องถิ่นระดับฐานล่างครั้งสำคัญ หลังจากที่รอคอยกันมานานถึง 8 ปี
ในชุมชนท้องถิ่นและสังคมทั่วไป ยังมีผู้นำอีกประเภทหนึ่ง เป็น “ผู้นำตามธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตร่วมกันตามธรรมชาติโดยมิได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งลงคะแนน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวม เป็นคนสุจริต ฉลาด มีปัญญา มีทักษะการสื่อสาร รวมทั้งยังเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
ดังตัวอย่างที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กล่าวถึง ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ว่าเป็นปูชนียบุคคล ด้วยเพราะวัตรปฏิบัติที่ได้กระทำมาอย่างยาวนาน กระทั่งผู้คนเห็นและเกิดความรู้สึกในหัวใจขึ้นมา โดยไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแต่อย่างใด เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ อีกทั้งยังมีภาวะของผู้นำตามธรรมชาติ
ประเด็นสำคัญสำหรับพี่น้องประชาชนอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรการเลือกตั้ง อบต.ในคราวนี้จะได้ผู้นำทางการ ที่มีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติติดมาด้วยในคนเดียวกัน
คุณสมบัติ “5 ไม่” สำหรับผู้นำ อบต.
1. ไม่แบ่งขั้วแยกฝ่าย ทำชุมชนท้องถิ่นแตกแยก
การแข่งขันทางการเมืองและการแบ่งขั้วแยกฝ่ายที่รุนแรงในระดับชาติ ได้แผ่ขยายสร้างความแตกแยกมาถึงท้องถิ่น ชุมชน และแม้กระทั่งในครอบครัว ยิ่งชุมชนท้องถิ่นใดขาดความรู้เท่าทันทางการเมืองและไม่ระมัดระวัง แม้เดิมเคยมีวัฒนธรรมความโอบอ้อมอารีเพียงใดก็แตกเป็นเสี่ยงให้เห็นกันมาแล้ว การเลือกผู้นำ อบต.บ้านเราในคราวนี้ ต้องไม่เปิดโอกาสแก่คนที่ชอบแบ่งแยกแล้วปกครอง อคติ ลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชั่ง ทำลายความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของชุมชน
2. ไม่ใช้ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม
ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมเป็นการทำผิดศีลในข้อ “มุสา” ในยุคการสื่อสารสังคมที่หลากหลาย รวดเร็ว ล้นทะลักเช่นทุกวันนี้ ประเทศที่ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพอย่างบ้านเรา เปิดทางให้เกิดการสร้างและใช้ใช้ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองกันอย่างสะดวกง่ายดาย ควรถูกตรวจสอบผู้นำกันอย่างจริงจัง
3. ไม่ใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง
ผู้นำ อบต.มีหน้าที่ต้องเสนอแนวนโยบายและความมุ่งมั่นในการเข้ามาบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น มิใช่มุ่งให้ร้ายโจมตีคู่แข่ง แม้ว่าเขาจะเป็นคนไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ที่ประชาชนตัดสินเอง ผู้สมัครคนใดที่ชอบให้ร้ายป้ายสีคู่แข่ง หรือกลั่นแกล้งด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมก้าวร้าว(บุลลี่) พึงตั้งข้อสังเกตุว่าอาจมาสร้างความเกลียดชังแตกแยกในชุมชนท้องถิ่นของเรา
4. ไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบ
ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง ทั้งเรื้อรังและรุนแรง พยายามแก้ปัญหากันมาโดยตลอดแต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย แต่ในระดับชุมชนท้องถิ่นกลับอยู่ในวิสัยที่เราจะดูแลกันได้ดีกว่า เริ่มจากการ “คัดออก”ผู้สมัครที่มีประวัติขี้โกง ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง เปิดโอกาสให้คนที่ซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาบริหารทรัพยากรและงบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน
5) ไม่สนับสนุนการทำผิดกฎหมาย
ผู้นำ อบต.มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารและพัฒนาภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งเป็นผู้ออกกฎหมายท้องถิ่นมาบังคับใช้ จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพกฎหมาย ผู้สมัครคนใดที่ชอบสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย ระวังจะเข้ามาใช้ตำแหน่งไปทำผิดกฎหมายยิ่งกว่าเดิม.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 30 ตุลาคม 2564 .