รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 100) “กฎหมายสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม”

คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภา มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรผลักดัน (ร่าง)พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ….  

เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือทางนโยบายในการส่งเสริมบทบาทองค์กรภาคประชาสังคมให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม  

การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ควรมีลักษณะที่มุ่งไปที่การทำให้องค์กรภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศและช่วยขับเคลื่อนสังคมให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน

โดยดำเนินการ ดังนี้

  1. สื่อสารสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของบทบาทภาคประชาสังคม สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้พัฒนาศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งและธรรมาภิบาล มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ. 
  2. พัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ในการผลักดันกฎหมาย มาตรการ กลไกและร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและท้องถิ่น
  3. สนับสนุนให้มีกองทุนขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนทุนการพัฒนาด้านต่างๆ (Grants) ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานสาธารณะประโยชน์ของภาคประชาสังคม จัดสรรงบประมาณหมวดอุดหนุนทั่วไป หรือ ออกสลากกินแบ่งฉบับการกุศลเพื่อนำรายได้มาเข้ากองทุน เพื่อนำไปจัดสรรงบประมาณสนุบสนุนโครงการขององค์กรภาคประชาสังคม หรือกลุ่มองค์กรสาธารณกุศล องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านชุมชน และอาสาสมัครด้านเสริมสร้างสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
  4. ปรับปรุงกฎระเบียบให้หน่วยงานภาครัฐสามารถสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาองค์กรภาคประสังคมได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัย การพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานขององค์กรภาคประชาสังคม
  5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมสามารถรับดำเนินงานด้านการบริการสังคมในบางเรื่องแทนหน่วยงานของรัฐ เช่น การดูแลผู้ด้อยโอกาส  การดูแลผู้หญิงที่ถูกทำร้าย การดูแลผู้สูงอายุ  การดูแลสถานสงเคราะห์ การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ เช่น การพัฒนาชุมชน การรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ การจัดทำแผนระดับต่างๆ โดยรัฐเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณและเอื้ออำนวยทางกฎระเบียบและสิ่งอำนวยความสะดวก
  6. เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมสามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจในการรับจ้างทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในฐานะธุรกิจเพื่อสังคม 
  7. เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในการจัดทำแผนพัฒนาในทุกระดับ

พัฒนาความรู้ ช่องทางการสื่อสารและทักษะการจัดการด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรภาคประชาสังคม

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 12 ต.ค. 2564

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 100) “กฎหมายสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม”