สังคมจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นกติกาให้สังคมถือปฏิบัติ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและ
เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะในนิติรัฐ รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการใดที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจตามกฎหมายที่ปวงชนหรือผู้แทนปวงชนให้ความเห็นชอบ

แต่กฎหมายอาจสร้างปัญหาให้สังคมได้เช่นกัน หากกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ไม่เคารพหลักนิติธรรม ไม่มีคุณภาพ หรือมีจำนวนมากเกินไป จนกลายเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามจำนวนกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นอาจทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยยาก สร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ และเป็นที่มาของการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้บังคับใช้กฎหมาย
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มุ่งให้เกิดผลอันพึงประสงค์ในการมีกฎหมายที่ดีและมีเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ค. โดยมีการกำหนดเป้าหมายงาน 10 อย่าง (ท่านที่สนใจสามารถค้นหาดูได้)
ในแผนนี้ เขาคาดหวังผลสัมฤทธิ์สำคัญ 2 อย่าง คือ
1) กฎหมายและกระบวนงานที่ล้าสมัยทั้งหลายแหล่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม สร้างภาระแก่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ ได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุง ครบทั้ง 100%
2) ประชาชนมีความสะดวกในการเข้าถึง รับรู้และปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบวงกว้าง (Big Rock) ที่ควรจับตาและตัวชี้วัดเป้าหมายที่ประชาชนอยากเห็น ได้แก่
1.มีกลไกปรับปรุง ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
– บัญชีรายชื่อกฎหมายที่ล้าสมัย และแผนดำเนินการยกเลิกเป็นรายปี
2.จัดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นโทษปรับเป็นพินัย
– จำนวนและรายชื่อกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนโทษอาญาเป็นโทษปรับตามวัตถุประสงค์
3.กลไกกำหนดให้ส่วนราชการบังคับใช้กฎหมายและใช้เทคโนโลยีมาดำเนินการ
– จำนวนและรายชื่อหน่วยงานที่บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยี
4.ให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอกฎหมาย
– จำนวนและรายชื่อหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนในด้านจัดทำกฎหมาย
5.จัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวมเรื่องเดียวกันมาไว้ด้วยกัน
– จำนวนและรายชื่อประมวลกฎหมายที่ได้จัดทำแล้วเสร็จ
6.กฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ
– จำนวนและรายชื่อกฎหมายเชิงปฏิรูปที่ดำเนินการแล้วเสร็จในขั้นตอนทางนิติบัญญัติ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 20 ต.ค. 2564