ในโอกาสที่ ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่รัฐสภา เพื่อรับหลักการในวาระที่ กระผมได้อภิปราย แสดงความคิดเห็นในเชิงหลักการเพิ่มเติมในบางประเด็นที่สนใจ ดังนี้

เรื่องที่ 1. คุณวุฒิกับคุณภาพ
สังคมไทยมักมุ่งหวังเรื่องคุณวุฒิในทางวิชาชีพและวิชาการ( Qualification)จากระบบการศึกษา เพื่อจะนำไปใช้ในการสมัครเข้าทำงานหรือเรียนต่อ แต่นั้นเป็นเพียงแค่คุณสมบัติส่วนบุคคลเท่านั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศโดยส่วนรวมต้องการและควรจะได้รับจากระบบการศึกษา แต่คนมักไม่ค่อยพูดถึงกัน นั่นคือเรื่องคุณภาพประชากรของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องของ Quality ที่สังคมควรได้รับจากระบบการศึกษาด้วย
ดังนั้นในมาตรา ๘ (๔) (๕) และ (๖) จึงควรเพิ่ม “ความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะเป็นมิติทางสังคมส่วนรวมที่ขาดหายไป.
เรื่องที่ 2. ประเด็นโรงเรียนขนาดเล็ก
ประเด็นการยุบเลิกหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในมาตรา ๑๕(๙) ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ทำลายหลักการ “โรงเรียนของชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน” ที่มุ่งให้ท้องถิ่นมีความเข็มแข็งตามแนวทางชุมชนภิวัฒน์ (Localization) ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization)
ควรเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโรงเรียนของชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งเปลี่ยน Mindset และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนให้ทันกระแส
เรื่องที่ 3. การเมืองกับการศึกษา
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ไม่ควรตัดเรื่องการเมืองออกจากการศึกษา เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้โรงเรียนและนักเรียนหลุดลอยหรือตัดขาดตนเองไปจากชุมชนและสังคมของตน (non-engagement)
แต่สิ่งที่ควรห้าม คือ การห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้าไปใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่รณรงค์ทางการเมือง เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำ การกระทำเช่นนั้นมิใช่การเป็นการพัฒนาความเป็นพลเมืองของเด็ก แต่เป็นการใช้เด็กเป็นเหยื่อหรือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้แข่งขันขององค์กรทางการเมือง
สำหรับการเรียนรู้ทางการเมืองนั้น ควรมุ่งเตรียมความพร้อมให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) เพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปลูกฝังเตรียมตัวตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่ 4. การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
การเสริมสร้างผู้เรียนให้ยึดโยงกับชุมชนสังคม (Civic Engagement) เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Engagement) และบ่มเพาะนักประชาธิปไตยให้กับระบบการเมืองในระยะยาว
ในการพัฒนา ฝึกฝนและบ่มเพาะความเป็นพลเมืองให้กับเด็ก (Civic Education) ต้องให้เด็กเรียนรู้ปัญหาสังคมจากตัวอย่างของจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียนเอง ซึ่งหมายถึงการนำเอาปัญหารูปธรรมในชุมชนที่เด็กพบเห็นในแต่ละวัน เข้ามาสู่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนในรูปแบบกรณีศึกษา (Case study) โดยเฉพาะครูต้องมีบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Facilitator) กระตุ้นให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วม กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงจุดยืนและกล้ารับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นวิถีชีวิตในระบบประชาธิปไตย
ควรให้เด็กได้มีการเรียนรู้ระบอบการปกครองเปรียบเทียบตามช่วงวัยที่เหมาะสม เพื่อความเข้าใจถึงข้อดี ข้อด้อยของแต่ละระบอบการเมืองการปกครอง ให้รู้อย่างถูกต้อง และ“รู้เท่าทันการเมือง” (Political Literacy) เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
เด็กควรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งค่านิยม ทัศนคติและการฝึกฝนทักษะ (Skill) อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นพลเมืองที่สนใจติดตามข่าวสารของสังคมและการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง (Political Engagement) กระทั่งเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)ได้อย่างสร้างสรรค์ ใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างสังคมเสมอภาคทางโอกาส ยุติธรรม และสามัคคีในชาติ ตลอดเส้นทางของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของตน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 26 ต.ค. 2564